แช่แข็งศพหวังฟื้นชีพทำยาก ต้องทำใน 10 นาทีหลังตาย ก่อนสมองขาดออกซิเจน ทั่วโลกทำแค่ 100 ราย
2015-04-21 11:27:52
Advertisement
Pyramid Game

        แพทย์ย้ำแช่แข็งศพหวังฟื้นคืนชีพทำยาก ชี้ต้องทำภายใน 10 นาทีหลังตาย ช่วงที่สมองยังได้รับออกซิเจนหล่อเลี้ยง แต่ต้องส่งไปทำถึงต่างประเทศ ระบุทั่วโลกมีผู้ทำวิธีนี้แล้ว 100 ราย ยันยังไม่เคสใดฟื้นคืนชีพได้ 

 
        ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ กล่าวถึงกรณี ดร.สหธรณ์ เนาวรัตน์พงษ์ เตรียมส่งศพลูกสาว ด.ญ.เมทรินทร์ เนาวรัตน์พงษ์ หรือ “น้องไอนส์” อายุ 2 ขวบ ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในสมอง ไปแช่แข็งที่มูลนิธิอัลคอร์ ไลฟ์ เอ็กซ์เทนชัน สหรัฐอเมริกา หวังเทคโนโลยีทางการแพทย์ในอนาคตช่วยชุบชีวิต ว่า การแช่แข็งสิ่งมีชีวิต เพื่อให้ยังมีชีวิต ในทางการแพทย์สามารถทำได้แค่ระดับเซลล์เดี่ยวเท่านั้น เช่น ไข่ สเปิร์ม ส่วนการแช่สิ่งมีชีวิตทั้งร่างกายเป็นไปไม่ได้ เพราะสมองต้องมีออกซิเจนเลี้ยงตลอดเวลา ร่างกายต้องมีเลือดหล่อเลี้ยง ที่ผ่านมาพบมีการศึกษาเก็บร่างกาย หรือแยกเฉพาะส่วนแช่แข็งไว้เพื่อรอการฟื้นคืนชีพมาราว 30 ปี แต่ไม่เคยมีการทดลองทำให้ฟื้นได้ โดยพบว่ามูลนิธิดังกล่าวมีสมาชิกประมาณ 1,000 คน และมีผู้ทำวิธีดังกล่าวไปแล้วประมาณ 100 คน
       
       ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การแช่แข็งไม่สามารถทำในขณะที่ยังไม่เสียชีวิตได้ แต่การจะแช่แข็งเพื่อให้สามารถฟื้นคีนในอนาคตจะต้องทำการแช่แข็งช่วงที่สมองยังไม่ตาย ดังนั้น หากหัวใจหยุดเต้นจะต้องดำเนินการภายใน 10 นาที เพราะหากสมองขาดออกซิเจนเกิน 10 นาที ก็จะเสียชีวิตหรือฟื้นคืนไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะกรณีเด็กอายุ 2 ขวบ ที่สมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ หากฟื้นขึ้นมาก็ไม่น่าจะจำอะไรได้ นอกจากนี้ระบบเส้นประสาท ระบบกล้ามเนื้อต่างๆ ของคนเราจะมีการยืดตัว หดตัวระหว่างที่การแช่แข็ง ผนังเซลล์จะเปราะแตก แม้แต่การแช่โปรตีนวัคซีนก็ยังเป็นเรื่องยาก ดังนั้น หากประชาชนจะใช้วิธีดังกล่าวจึงต้องทราบว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ที่สำคัญยังต้องดำเนินการที่ต่างประเทศ และมีขั้นตอนมาก
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่หากจะเก็บเซลล์เนื้อเยื่อ หรือเซลล์สมองเพื่อใช้ในการโคลนนิง ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การโคลนนิงมนุษย์เป็นเรื่องผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การโคลนนิ่งสามารถใช้เซลล์อื่นๆ ได้ เช่น สเต็มเซลล์ เซลล์ผิวหนัง แต่ต้องเอาตัวนำพันธุกรรมบางอย่างเข้าไป ให้เปลี่ยนเป็นเซลล์ที่มีความสามารถในการแบ่งตัวได้ แต่ปัญหาคือยังไม่สามารถควบคุมการแบ่งตัวได้ บางครั้งเกิดเป็นเซลล์มะเร็ง หรืออวัยวะผิดตำแหน่ง เป็นต้น ที่ผ่านมาทั้งไทยและต่างประเทศมีการทดลองในสัตว์ แต่ปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้คือการแก่ตัวเท่ากับเซลล์ต้นแบบ เพราะเกิดมาไม่กี่ปีก็ตาย ดังนั้น จึงคิดกันว่าไม่มีประโยชน์
       
       “การโคลนนิงมีข้อเสียคือ การเอาเซลล์ของคนอายุเท่าไรก็ตามไปโคลนนิ่ง เมื่อเกิดเป็นตัวใหม่ขึ้นมาจะมีสภาพอายุเท่ากับเซลล์ที่นำมาใช้ เช่น หากเอาเซลล์ของคนอายุ 20 ปีมาทำ คนที่เกิดใหม่ก็จะมีอายุ 20 ปี อย่างไรก็ตาม แม้ทุกอย่างจะเหมือนกัน แต่สมองไม่สามารถจะควบคุมให้เหมือนกันได้ ไม่สามารถป้อนโปรแกรมได้เหมือนคอมพิวเตอร์ ดังนั้น คนที่โคลนนิ่งขึ้นมาจะไม่คิดเหมือนกับคนต้นแบบ และไม่รู้ว่าคิดอะไร อย่างไร” ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว
       
       เมื่อถามว่ายังมีการศึกษาเทคโนโลยีอื่นที่ช่วยฟื้นคืนชีพได้หรือไม่ ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ทราบว่ามีการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีอื่นอีกหรือไม่ แต่ที่ผ่านมามีเพียงการศึกษาวิจัยหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการทำให้มีชีวิตยืนยาว ซึ่งประเทศไทยก็มีการศึกษาเรื่องนี้เยอะ แต่ยังไม่พบว่าไม่มีใครจะไม่เสียชีวิต ธรรมชาติสร้างคนขึ้นมาให้มีการสืบเผ่าพันธุ์รุ่นต่อรุ่น ไม่ใช่ให้อยู่ค้ำฟ้า อย่างไรก็ตาม ตนไม่อยากไปขัดขวางพัฒนาการ เพราะแม้ว่าตอนนี้อาจจะทำไม่ได้ แต่ในอนาคตอาจจะทำได้ ตราบใดที่ยังมีความพยายาม แต่สิ่งสำคัญคือไม่อยากให้สร้างความหวังลมๆ แล้งๆ และตอนนี้ยังไม่มีใครเอาชนะธรรมชาติได้
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังเกิดกรณีแช่แข็งน้องไอซ์ พบว่ามีคนบางกลุ่มไปเก็บเซลล์สมอง และเซลล์สะดือ โดยหวังฟื้นคืนชีวิตเหมือนกัน ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการเก็บเซลล์ตรงสะดือกันมากทั้งไทยและต่างประเทศ แต่ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะถ้าตัวเจ้าของเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว เซลล์ที่เก็บไว้ก็ใช้ไม่ได้แล้ว ส่วนการเก็บเซลล์สมองนั้นตนยังไม่ทราบ
       
       นพ.ธานินท์ อินทรกำธรชัย ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เทคนิคการแช่แข็งที่ได้รับการยอมรับ คือ การแช่แข็งเซลล์ หรือ อวัยวะ เพื่อนำมารักษาตนเองด้วยวิธีสเต็มเซลล์ ส่วนมากจะนำมาใช้รักษาโรคเกี่ยวกับเลือด โดยจะเก็บเซลล์ของตนเองและแช่ไว้ในอุณหภูมิลบ 180 องศาเซลเซียสคงที่ไปตลอด เมื่อเจ็บป่วยก็จะนำเซลล์มาละลายเพื่อใช้รักษาด้วยเซลล์ของตัวเอง ซึ่งเป็นวิธีที่ทำมานานแล้ว ส่วนกรณีเก็บศพเพื่อรอการฟื้นชีพเป็นเรื่องที่ไม่ได้แพร่หลายทางการแพทย์แต่อย่างใด และปัจจุบันยืนยันว่ายังไม่มีกรณีใดๆ ที่สามารถฟื้นคืนชีพผู้ที่เสียชีวิตขึ้นมาได้
       
       ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งสมอง รพ.จุฬาลงกรณ์ คลินิกกุมารชีวาภิบาล กล่าวว่า โรคมะเร็งในเด็กมีประมาณ 20 ชนิด ทั้งมะเร็งสมอง กระดูก ตับ และเม็ดเลือดขาว อัตราการเกิดโรคอยู่ที่ 10 ต่อ 1 ล้านประชากรเด็ก ซึ่งการรักษาโรคมีทั้งการผ่าตัด ฉายรังสี ให้คีโม ซึ่งบางรายสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด บางรายต้องให้การรักษาหลายวิธีร่วมด้วย แต่ก็ไม่หายขาด ดังนั้น การรักษาจึงต้องเน้นที่คุณภาพชีวิต และสภาพจิตใจของเด็กเป็นหลักเพื่อให้มีความสุขในบั้นปลายของชีวิตเด็กเอง โดยขึ้นอยู่กับความพร้อม และการยินยอมของพ่อ แม่ด้วย แต่สิ่งสำคัญคือ แพทย์จะต้องบอกความจริงกับครอบครัว ส่วนกรณีของน้องไอน์ นั้นเป็นมะเร็งชนิดหายาก ส่วนตัวไม่อยากพูดถึงเพราะถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลในการเลือกรับการรักษา
 
ขอขอบคุณที่มา  http://www.manager.co.th/
 
 
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X