เสนอยกเลิกกองทุนย่อย สปสช.คีย์ข้อมูลแลกเงิน
2014-10-25 16:29:32
Advertisement
คลิก!!!

        สสจ.สงขลาเสนอยกเลิกกองทุนย่อย สปสช. คีย์ข้อมูลแลกเงิน ทำโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง คิดถึงเงินก่อนคนไข้ แนะจัดสรรตามเขตสุขภาพ ยก รพ.บางกล่ำ เดินหน้าเขตสุขภาพเป็นศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เพิ่มการเข้าถึงบริการ รพ.อยู่รอดได้
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาตัวแทนโรงพยาบาล 77 จังหวัดใน 7 จังหวัดภาคใต้ คือ ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ได้ออกมาเรียกร้องให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทบทวนการจัดสรรงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพรูปแบบเดิม ที่มีการแบ่งงบเหมาจ่ายรายหัวและงบกองทุนย่อยต่างๆ โดยการจัดสรรเงินจะจัดสรรตามผลการบริการของโรงพยาบาล โดยบุคลากรต้องบันทึกข้อมูลการทำงานแจ้งไปยัง สปสช.เพื่อแลกเงิน และส่งผลต่อสภาวะทางการเงินของโรงพยาบาล
       
       ล่าสุด วันนี้ (24 ต.ค.) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วย สธ. และทีมที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) บางกล่ำ และ รพ.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อดูการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลตามนโยบายเขตสุขภาพ ซึ่งระหว่างการรายงานผลการดำเนินงานของ รพ.บางกล่ำ ได้มีการพูดถึงการใช้จ่ายงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพรูปแบบเดิมของ สปสช.ด้วย
       
       โดย นพ.ศิริชัย ลีวรรณนภาใส นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) สงขลา กล่าวในการประชุมว่า ที่ผ่านมา รพช.ในพื้นที่ จ.สงขลาที่มีจำนวนประชากรน้อยกว่า 3 หมื่นคน มักประสบปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง เนื่องจากงบเหมาจ่ายรายหัวจริงๆ ที่มีจำนวน 2,800 กว่าบาทต่อประชากรนั้น เมื่อลงมาถึงโรงพยาบาลจริงๆ แค่พันกว่าบาทเท่านั้น บางแห่งเพียง 800-900 บาท เนื่องจาก สปสช.มีการจัดสรรงบประมาณ โดยแบ่งเงินจากกองทุนเหมาจ่ายไปแตกย่อยในกองทุนย่อยต่างๆ อาทิ กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ เป็นต้น ทำให้บุคลากรสาธารณสุขต้องคอยบันทึกผลข้อมูลการปฏิบัติงานเพื่อแลกเงิน ทำให้เกิดพฤติกรรมคิดถึงเงินก่อนที่จะคิดถึงคนไข้ ที่สำคัญบางโรงพยาบาลประสบปัญหาหากไม่บันทึกข้อมูลไปยังส่วนกลางตามที่กำหนดก็ไม่ได้รับงบประมาณ ทำให้ต้องดึงเงินสะสมของโรงพยาบาลมาใช้ กลายเป็นปัญหาที่มีการร้องเรียนจนทุกวันนี้
       
       "จริงๆ แล้วควรยกเลิกระบบการบริหารแบบ สปสช.เสีย และหันมานำเงินกระจายตามเขตสุขภาพ คือเหลือเพียง กองทุนผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน สร้างเสริมสุขภาพ และตามมาตรา 41 เงินช่วยเหลือเยียวยาและอื่นๆ ส่วนที่หลายคนกลัวว่าจะประสบปัญหาขาดทุนหากไม่มีเงินพิเศษ จริงๆ แล้วไม่ใช่ เมื่อโรงพยาบาลต่างๆ รู้รายจ่ายของตัวเองแล้ว ก็ควรจะประหยัด บริหารงานให้เป็น เพราะรายรับจะได้อย่างคงที่ ขณะนี้ทราบว่าปัญหาดังกล่าวผู้บริหารของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำโดย นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. อยู่ระหว่างหารือร่วมกับ สปสช.เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้" นพ.ศิริชัย กล่าว
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการชี้แจงการดำเนินงานของ รพ.บางกล่ำ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ได้สอบถามภายในห้องที่ประชุมว่า รูปแบบการบริหารงบของ สปสช.ในการจัดสรรเป็นกองทุนย่อย เพื่อให้โรงพยาบาลเบิกจ่ายเงินมีความจำเป็นหรือไม่ นพ.ศิริชัย ได้ตอบกลับว่า ไม่จำเป็น เนื่องจากไม่มีเงิน รพช.ต่างๆในสงขลาก็ทำงานอยู่แล้ว อย่าง รพ.บางกล่ำได้หาทางออกด้วยตัวเอง โดยอาศัยความร่วมมือกับ รพ.หาดใหญ่ในการตั้งศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อดูแลผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยพิการที่จำเป็นต้องทำกายภาพบำบัด ซึ่งเมื่อมีการพัฒนาสูง ผู้ป่วยก็เข้ารับบริการมากขึ้น โรงพยาบาลก็อยู่รอด
       
       นพ.วชิระ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการหารือกับ สปสช. ซึ่งแนวโน้มเป็นไปด้วยดี โดยการบริหารแบบเขตสุขภาพมีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม วันที่ 30 ต.ค. กลุ่ม 5 ชมรมด้านสาธารณสุขจะจัดทำข้อเสนอรูปแบบการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพปี 2558 เพื่อนำมาหารือร่วมกันทั้ง สธ. สปสช. และส่วนภูมิภาค เพื่อหาทางการบริการจัดการที่เหมาะสม ตามมติบอร์ด สปสช.ที่ต้องให้ได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องการบริหารเขตสุขภาพเป็นเรื่องที่สามารถเจรจากันได้ สิ่งสำคัญคือการบริการประชาชน เมื่อมีเขตสุขภาพก็จะมีการพัฒนาในการรวมรูปเขต มีการแชร์ทรัพยากรร่วมกัน โรงพยาบาลใหญ่ช่วยโรงพยาบาล โรงพยาบาลเล็กพัฒนาตัวเองจนสามารถให้บริการเชิงรุก เน้นการส่งเสริมสุขภาพประชาชน ทุกอย่างก็เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาที่ดี เข้าถึงบริการ
       
       ด้าน ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า สำหรับปัญหาการจัดสรรงบประมาณระหว่างรูปแบบของ สปสช.ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่มีงบเหมาจ่ายรายหัว และงบกองทุนโรคราคาแพงซึ่งกระจายงบตรงไปสู่โรงพยาบาล และการจัดสรรรูปแบบงบประมาณแบบใหม่ ในรูปแบบเขตสุขภาพของสำนักงานปลัดกระทรวง ที่มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง สปสช. อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งตนได้มอบหมายให้เกิดความชัดเจนก่อนไตรมาส 2 หรือประมาณก่อนเดือนมกราคม เพื่อให้สามารถใช้วิธีการกระจายงบประมาณได้ทัน
       
       นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ บุคลากรสาธารณสุขหลายคนบอกว่า เราทำงานด้วยใจไม่ใช่เงิน ซึ่งปัญหาทุกอย่างมีทางออก และอยู่ระหว่างการหารือ
       
       นพ.วินัย กล่าวว่า ปัญหาข้อเห็นต่างเรื่องการจัดสรรงบประมาณของสปสช.นั้น บางฝ่ายเข้าใจผิดเกิดจากกองทุนที่แยกออกมาจากกองทุนเหมาจ่ายรายหัว ทำให้ที่ผ่านมาโรงพยาบาลเกิดปัญหาสภาพคล่องซึ่งความจริงไม่เกี่ยวกัน เนื่องจาก กองทุนเหล่านี้คิดเป็นร้อยละ 10 ของงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพ การบริหารของโรงพยาบาล ต้องแยกเป็นรายรับรายจ่าย หากทราบปัญหาว่าเกิดจากจุดใดก็จะแก้ได้ตรงจุด อย่างไรก็ตาม นโยบายเขตสุขภาพถือเป็นเรื่องดี แต่การจ่ายเงินตามโรคราคาแพงก็ยังต้องมีอยู่ เนื่องจากหากไม่มีกองทุนนี้ จะไม่ทำให้เกิดการขยายบริการ และผู้ป่วยจะไม่สามารถเข้าถึงบริการ
       
       "ส่วนที่ก่อนหน้านี้ที่มีการเสนอให้ยุบหมวดการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวจาก 9 หมวด ได้แก่ 1งบบริการผู้ป่วยนอก 2งบบริการผู้ป่วยใน 3 งบบริการกรณีเฉพาะ 4 งบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 5 งบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ 6 งบบริการการแพทย์แผนไทย 7 งบค่าเสื่อม 8 เงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการในมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และ 9 เงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ให้บริการ โดยมีการเสนอให้เหลือเพียง 4 หมวด คือ การบริการผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน งบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และเงินช่วยเหลือผู้ให้บริการและรับบริการ ตามมาตรา 41 ซึ่งในส่วนนี้ยังไม่มีความชัดเจน ว่า หากเหลือเพียง 4 หมวด แล้ว ที่เหลือจะจัดเข้าหมวดใด ซึ่งจะมีการหารือในคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง วันที่ 28-29 ต.ค.นี้" เลขาธิการ สปสช. กล่าว


ที่มา  http://www.manager.co.th/

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X