เมื่อครูฝรั่งสอนนักเรียนเกาหลีเหนือให้เขียน "เรียงความ" ในดินแดนที่ห้ามถาม-คิดวิพากษ์
2014-12-20 13:33:25
Advertisement
คลิก!!!

แปลสรุปความจากบทความของ ซูกิ คิม http://www.slate.com
 
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือชื่อ "Without You, There is No Us: My Time With the Sons of North Korea′s Elite" ซึ่งเป็นบันทึกประสบการณ์การสอนวิชาภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัยที่กรุงเปียงยางของซูกิ คิม  เป็นเวลา 6 เดือน เมื่อปี พ.ศ. 2554
 
ทั้งนี้ คิมเป็นนักเขียนลูกครึ่งเกาหลี-อเมริกัน ผู้เขียนนวนิยายระดับรางวัลเรื่อง "The Interpreter" เธอเดินทางไปเยือนประเทศเกาหลีเหนือในฐานะผู้สื่อข่าว ตั้งแต่ปี 2545

"การเขียนเรียงความ" 
ถือเป็นคำที่น่ากลัวมากสำหรับนักเรียนของฉัน เมื่อฤดูใบไม้ผลิของปี 2554 ฉันกำลังสอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเปียงยางในเกาหลีเหนือ ที่ประกอบด้วยนักเรียนชาย 270 คน และอาจารย์ชาวคริสต์อีก 30 คน ที่ซึ่งการเรียนการสอนและทุกย่างก้าวของพวกเราถูกจับตามองตลอดเวลา
 
เนื้อหาในแต่ละบทเรียนพวกเราจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าหน้าที่ชาวเกาหลีเหนือพวกเขาไม่เคยเปิดโอกาสให้คุณได้ถกเถียงอภิปรายเรื่องข้อมูลของโลกภายนอกดังนั้นฉันจึงต้องวางแผนเปิดวิชาเขียนเรียงความขึ้นมาซึ่งได้รับอนุญาตจากพวกเขา
 
ฉันบอกนักเรียนของฉันว่า เรียงความถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อคะแนนสอบปลายภาคของพวกคุณ โดยจะนำไปคิดรวมกับเกรดในเทอมนั้นด้วย นั่นทำให้บรรดาลูกศิษย์ของฉันเครียดกันมาก นักเรียนแต่ละคนจำเป็นต้องนำเสนอหัวข้องานเขียนของตัวเองและส่งร่างเรียงความให้ฉัน
 
เมื่อฉันถามพวกเขาว่างานไปถึงไหนแล้วพวกเขาได้แต่ถอนหายใจและบอกว่า "หายนะ"
 
ฉันเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเขียนเรียงความต่อพวกเขาว่าหากพวกเขาต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์วันหนึ่งพวกเขาต้องเขียนบทความเพื่อพิสูจน์ทฤษฏีด้วยแต่ในความเป็นจริงไม่มีสิ่งใดเลยที่ถูกพิสูจน์ใน "โลกของพวกเขา" 

เพราะว่าทุกๆ อย่างขึ้นอยู่กับความประสงค์ของท่านผู้นำ 

ทักษะการเขียนของพวกเขานั้นย่ำแย่พอๆ กับทักษะการวิจัย พวกเขาปราศจากความคิดในการอ้างอิงหลักฐาน ครั้นเมื่อลองไปนั่งอ่านบทความตามหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน เราก็จะพบว่าบทความเหล่านั้นจะมีน้ำเสียงเดียวกันตั้งแต่ตอนเริ่มต้นถึงจุดจบ มันไม่มีความก้าวหน้าหรือพลวัตอยู่ในงานเหล่านั้น และไม่มีแม้กระทั่งจุดเริ่มต้นและจุดจบ
 
การเขียนเรียงความ 3-5 ย่อหน้า อันประกอบไปด้วย ข้อเสนอหลัก, การเกริ่นนำ, เนื้อหา, ข้อมูลสนับสนุน, และบทสรุป ถือเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับชาวเกาหลีเหนือ 

ส่วนที่ยากที่สุดสำหรับพวกเขาคือการเกริ่นนำ ฉันเลยลองแนะนำพวกเขาว่า มันก็เหมือนการโบกมือเวลาทักทาย "พวกเธอจะมีวิธีการพูดให้มันน่าสนใจอย่างไร เพื่อที่คนอาจจะได้รู้สึก ′โดน′?" ฉันเสนอตัวอย่างไปหลายแบบ แต่พวกเขายังคงมาหาฉันในชั่วโมงให้คำปรึกษาเสมอๆ พร้อมส่ายหัวและถามฉันว่า "เจ้าอาการ ′โดน′ นั้น ตกลงมันคืออะไร?"
 
เช้าวันหนึ่ง พวกเขาตะโกนลั่นอย่างพร้อมเพรียง ขณะที่ฉันก้าวเท้าเข้าห้องเรียนว่า"เราชนะญี่ปุ่น!" เมื่อทีมฟุตบอลทีมชาติของพวกเขา เพิ่งจะเอาชนะทีมชาติญี่ปุ่นในรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก ซึ่งแข่งกันที่สนามคิมอิลซุง โดยมีการถ่ายทอดสดให้ได้รับชมกันถ้วนหน้า
 
ณ ประเทศแห่งนี้ ความโกรธแค้นที่มีต่อญี่ปุ่นยังคงปรากฎแจ่มชัดอยู่ตลอดเวลา 

แม้ญี่ปุ่นจะเข้ามาเป็นเจ้าอาณานิคมเกาหลีเมื่อเกือบครึ่งศตวรรษที่แล้ว ทว่าเหล่านักเรียนของฉันต่างแสดงออกอย่างหึกเหิมพร้อมเล่าเรื่องของ "จอง แต เซ" กองหน้าทีมชาติอย่างภูมิใจ และยังมีเรื่องของนักเตะคนหนึ่งกำลังถูกจับตาโดยสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด พวกเขาดูท่าจะไม่รู้เอาเสียเลยว่า ความจริงแล้ว จอง แต เซ นั้น เป็นทายาทรุ่นที่3 จากครอบครัวชาวเกาหลีไซนิจิ (Zainichi Korean) ซึ่งเป็นคำสำหรับเรียกคนเชื้อชาติเกาหลี ที่เกิด, เติบโต, และถูกเลี้ยงดูในญี่ปุ่น แต่ยังมีความจงรักภักดีต่อเกาหลีเหนือ ในสายตาของพวกเขาแล้ว ชาวเกาหลีไซนิจิก็คือคนญี่ปุ่น ศัตรูคู่อาฆาตของพวกเขา แต่ถึงอย่างนั้น ในบางโอกาสพวกเขาก็มองว่าเป็นคนเกาหลีเหนือ ซึ่งฉันก็รู้ดีว่าไม่ควรจะพูดอะไรอย่างนั้นออกไป
 
"น่าตื่นเต้นจัง" ฉันพูดด้วยน้ำเสียงสดใส "มันคงจะดีมากเลยนะ ถ้าทีมชาติเกาหลีสามารถผ่านเข้าไปแข่งฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่บราซิลได้" พวกนักเรียนต่างพยักหน้าและยิ้ม
 
จนกระทั่งฉันตรวจสอบทางอินเทอร์เน็ตในวันนั้น(ซึ่งพวกครูเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ขณะที่เด็กๆไม่รู้ว่ามันมีอยู่ด้วยซ้ำ) และผลก็ประกาศมาได้สักระยะว่าทีมเกาหลีเหนือตกรอบคัดเลือกไปเรียบร้อยแล้ว คงไม่มีนักเรียนคนไหนที่จะยอมรับความจริงนี้ หรือพวกเขาไม่รู้ความจริงนี้เลยด้วยซ้ำ ไม่เพียงเท่านั้น ฉันยังพบว่าการแข่งขันนัดนั้นไม่ได้ถูกถ่ายทอดสด แต่เป็นเทปหลังจากที่เกมจบแล้ว เพื่อที่รัฐบาลจะสามารถแน่ใจในผลลัพธ์ได้ว่า ทีมของพวกเขาจะเป็นฝ่ายชนะ
 
หนึ่งในนักเรียนของฉันบอกว่า "มันน่าเบื่อมากที่ต้องนั่งดูแต่การชนะ" ยิ่งไปกว่านั้น ไม่ว่าฉันจะพยายามค้นหาบนเว็บไซต์ต่างๆ เท่าไร ฉันก็ยังไม่เคยเห็นนักฟุตบอลเกาหลีเหนือคนใดที่เล่นให้กับสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเลย ซึ่งก็เป็นอย่างเคย ที่รัฐบาลของพวกเขาจะหว่านเพาะข้อมูลผิด ๆ ซึ่งนักเรียนของฉันต่างก็ปราศจากหลักฐานมาใช้ยืนยันใน "ความจริง" เหล่านี้ ดังนั้น ฉันก็คงไม่สามารถที่จะคาดหวังว่า พวกเขาจะสามารถสร้างคำอธิบายที่ชอบธรรมให้แก่ความเชื่อของตนเองได้
 
แทนที่ฉันจะถามถึงแหล่งข้อมูลในบทเรียนของพวกเขาซึ่งไม่มีทางเลยฉันได้ขอให้พวกเขาอ่านเรียงความง่ายๆจากเมื่อปี2540ที่อ้างคำพูดของประธานาธิบดี บิล คลินตัน เกี่ยวข้องกับความสำคัญในการทำให้โรงเรียนแต่ละแห่งในประเทศมีความเชื่อมโยงถึงกัน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้ให้อนุญาต เพราะว่ามันเชื่อมโยงกับหัวข้อในหนังสือเรียนในวิทยาลัยของเรา 

ฉันหวังว่าพวกเขาจะเข้าใจถึงความสำคัญของอินเตอร์เน็ตและความล้าหลังของพวกเขา ฉันยังได้ให้พวกเขาอ่านบทความอีก 4 ชิ้น จากเดอะปรินซ์ตันรีวิว, เดอะนิวยอร์กไทม์ส, เดอะไฟแนนเชี่ยลรีวิว, และ ฮาร์วาร์ดแม็กกาซีน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบทความที่พูดถึงมาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก, เฟซบุ๊ก, และทวิตเตอร์ ซึ่งไม่มีชิ้นไหนเลยทำให้พวกเขารู้สึกตื่นเต้นอยากโต้เถียง แม้กระทั่งกับประโยคที่ว่าซัคเคอร์เบิร์กได้เงินกว่าล้านล้านดอลล่าร์ จากสิ่งที่เขาคิดฝันขึ้นมาในหอพักสมัยเรียนมหาวิทยาลัย... 

มันเป็นไปได้เหมือนกันว่าพวกเขาอาจจะมองว่าสิ่งที่ได้อ่านเป็นเรื่องโกหกหรือบางทีอาจเป็นเพราะมุมมองแบบทุนนิยมถือเป็นสิ่งน่ารังเกียจสำหรับพวกเขา
 
ในวันถัดมา นักเรียนบางคนเข้ามาหาฉันที่ห้องพักครู ด้วยความอยากที่จะเปลี่ยนหัวข้อเรียงความ หัวข้อใหม่ ๆ ที่พวกเขาเสนอนั้น เกี่ยวพันกับความเสื่อมโทรมของสังคมอเมริกัน
 
นักเรียนคนหนึ่งพูดว่า"เขาอยากที่จะโต้แย้งนโยบายของรัฐบาลอเมริกันที่จะตัดสินอนาคตเด็กจากผลตรวจระดับเชาวน์ปัญญา"

อีกคนหนึ่งพูดว่า "ต้องการเขียนเรื่องการลงโทษทางร่างกายในโรงเรียนประถมศึกษาของสังคมญี่ปุ่นและสหรัฐ"

คนที่สามพูดกับฉันว่า"ต้องการเขียนเรื่องความชั่วร้ายของอเมริกาในการอนุญาตให้คนสามารถครอบครองอาวุธปืนได้อย่างเสรี"

คนที่สี่พูดว่า "เชื้อเพลิงชีวภาพนั้นมีพิษและอเมริกาเป็นผู้ผลิตรายใหญ่"

คนที่ห้า "ต้องการเปลี่ยนหัวข้อเป็นเรื่องการหย่า ซึ่งในเกาหลีเหนือไม่มีการหย่า แต่ในอเมริกากลับพบว่ามีอัตราผู้ร่วมชีวิตคู่หย่ากันเกินครึ่ง และการหย่านั้นนำไปสู่อาชญากรรมรวมถึงอาการป่วยทางจิต".... 

นี่คือสิ่งที่เขาบอก ก่อนที่ฉันจะถามกลับไปว่า "แล้วในประเทศนี้ คู่สมรสเขาทำอย่างไรกันเหรอ เวลาที่ร่วมชายคาด้วยกันไปสักพักแล้วไม่มีความสุข?" นักเรียนคนดังกล่าวไม่สามารถตอบฉันได้ 

ขณะที่นักเรียนอีกคนต้องการจะเขียนเรื่อง "ความร้ายกาจของแม็คโดนัลด์" ก่อนที่จะถามฉันต่อว่า "ว่าแต่อาหารที่แม็คโนดัลด์ขายนี้มันมีอะไรบ้างหรือ!?"

 
นักเรียนคนหนึ่งถามฉันว่าประเทศไหนที่มีแฮ็กเกอร์มากที่สุดในโลกซึ่งพวกเขาถูกบอกว่าคือ"อเมริกา"

คำถามนี้ทำให้ฉันตะลึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อฉันเพิ่งได้ชมข่าวทางซีเอ็นเอ็นเอเชียเกี่ยวกับอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์โดยเกาหลีเหนือ...กลับกัน ฉันบอกเขาไปว่า อาชญากรรมคอมพิวเตอร์อาจเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ ใครจะทำก็ได้ แม้กระทั่งผู้มาเยือนจากประเทศอื่นๆ มันจึงยากที่จะระบุชัดเจนว่าประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นแหล่งสำคัญของการกระทำผิดดังกล่าว
 
การตัดสินใจของพวกเขาที่จะเปลี่ยนหัวข้อเรียงความเพื่อประณามอเมริกาดูเหมือนจะมาจากบทความที่เกี่ยวกับซัคเคอร์เบิร์กซึ่งฉันตั้งใจให้มันเป็นแรงบันดาลใจแก่พวกเขาซึ่งบางคนอาจมองว่ามันเป็นเรื่องโอ้อ้วดขณะที่อุดมการณ์ชาตินิยมที่ถูกปลูกฝังในหัวพวกเขามาหลายยุคหลายสมัย ทำให้พลเมืองเหล่านี้มีความทะนงตัวมากและช่างเปราะบางจนพร้อมปฏิเสธองค์ความรู้จากโลกภายนอกเสมอ
 
ความพยายามที่จะขยายความตระหนักรู้ให้แก่พวกเขานั้นยังย้อนกลับมาเรื่อยๆเมื่อฉันได้รับเรียงความหนึ่งชิ้นที่เกี่ยวกับ"กิมจัง"หรือ ประเพณีทำกิมจิประจำปี ฉันพบว่ามันเต็มไปด้วยสิ่งที่ถูกสั่งสอนมา และการกล่าวถึงความชอบธรรมของตนเอง 

นักเรียนกว่าครึ่งอ้างว่า "กิมจิเป็นอาหารที่โด่งดังที่สุดในโลก จนทำให้ประเทศอื่นต่างอิจฉาเกาหลีเหนือ" หนึ่งในนักเรียนของฉันเขียนเรียงความว่า รัฐบาลอเมริกาได้ประกาศให้กิมจิเป็นอาหารประจำการแข่งขันโอลิมปิกในปี พ.ศ. 2539 และเมื่อฉันถามกลับ เขาบอกว่าทุกๆ คนรู้เรื่องนี้ และเขาสามารถที่จะพิสูจน์ได้เพราะหนังสือเรียนของพวกเขาระบุไว้อย่างนั้น
 
ด้วยการค้นหาอินเตอร์เน็ตแบบรวบๆฉันพบว่าผู้ผลิตอาหารชาวญี่ปุ่นอ้างว่ากิมจินั้นเป็นของอาหารประจำชาติญี่ปุ่นและเสนอให้คณะกรรมการอาหารประจำการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนั้น บรรจุมันเข้าไปในเมนูประจำหมู่บ้านนักกีฬา แต่ข้อเสนอดังกล่าวถูกปฏิเสธถึงอย่างนั้น ข่าวนี้ก็ถูกสับรูปเปลี่ยนร่าง และสถาปนาให้กลายเป็นความรู้ทั่วไปในสังคมเกาหลีเหนือ
 
ความต้องการที่จะทำให้นักเรียนของฉันรับรู้ว่าสิ่งที่เขาเข้าใจนั้นเป็นข้อมูลที่ผิดพลาดในบางครั้งอาจหมายถึงการนำตัวเองเข้าไปเสี่ยงอยู่กับความอันตรายเพื่อนร่วมงานพูดกับฉันว่า

"อย่านะ อย่ายุ่งกับความรู้พวกนั้น หากหนังสือของพวกเขาบอกว่าอะไรจริง เธอไม่สามารถบอกให้เขารู้ได้ว่ามันเป็นสิ่งโกหก"
 
บางครั้งพวกเขาถามฉันว่าทำไมฉันถึงได้ทานข้าวน้อยนักขณะที่พวกเขาตักเสียจนพูนจานแทบทุกมื้อฉันอธิบายไปว่าฉันชอบข้าวอยู่หรอกแต่ก็ไม่ได้ต้องการที่จะทานมันตลอดเวลา พวกเขาถามต่อว่าฉันกินอะไรบ้างนอกจากข้าวและแนงมยอน (หมี่เย็นของเกาหลี) ซึ่งเป็นอาหารประจำชาติของพวกเขา ฉันไม่สามารถจะพูดได้ว่าฉันชอบน้ำปั่นผลไม้สดชื่นๆ และไข่เบเนดิกต์ ฉันเลยบอกชื่ออาหารตะวันตกที่พวกเขาเคยได้ยินออกไป นั้นคือสปาเก็ตตี้ และฮ็อตด็อกส์
 
ฉันรู้ว่าคนเกาหลีเหนือเองต่างก็มีความสุขกับการรับประทานไส้กรอกในแบบฉบับของพวกเขาเพราะฉันเห็นพวกเขาต่อแถวซื้ออาหารชนิดนี้เสียยาวเหยียดเมื่องครั้งมีเทศกาลการค้าระหว่างประเทศ
 
หนึ่งในนักเรียนของฉันเขียนเรียงความว่า ชาวเกาหลีคนใดที่ชอบฮ็อตด็อกส์และสปาเก็ตตี้มากกว่ากิมจิ นำความเสื่อมเสียมาให้แผ่นดินแม่ เพราะหลงลืมความยิ่งใหญ่ของกิมจิมัน ดูเหมือนว่าไม่มีสิ่งใดเลยที่จะพังทะลายองค์ความรู้อันโดดเดี่ยวของพวกเขาได้...

มากกว่านั้นจุดยืนเหล่านี้ต่างไม่มีพื้นที่ให้กับการถกเถียงใดๆในเมื่อทุกหนทางนำไปสู่ข้อสรุปเดียวฉันส่งกระดาษแผ่นนั้นคืนแก่เขา พร้อมกับความคิดเห็นว่า "เป็นไปไม่ได้หรือที่จะชอบทั้งสปาเก็ตตี้และกิมจิ?"
 
หลังจากการเรียนเขียนเรียงความไปได้สักระยะนักเรียนคนหนึ่งพูดกับฉันขณะทานข้าวเย็นว่า"เกิดเรื่องแปลกๆขึ้นระหว่างคาบสังคมศาสตร์บ่ายนี้"
 
พวกเขาไม่เคยเล่าเรื่องเกี่ยวกับคาบเรียนนี้ให้ฉันฟังเลยทำให้ฉันตั้งใจฟังอย่างมาก
 
นักเรียนคนนั้นเล่าต่อว่า"พวกเราต้องเขียนเรียงความ" เขาอธิบายว่าพวกเขาเขียนเรียงความสั้นๆ ในภาษาเกาหลี และเขาไม่เคยคิดมาก่อนว่ามันคือเรียงความ แต่ตอนนี้เขาตระหนักแล้ว และนั้นทำให้เขารู้สึกแปลก
 
"แปลกอย่างไรหรือ?" ฉันถาม
 
"ผมไม่รู้" เขาพูด ก่อนหยุดครุ่นคิด "ผมคิดว่ามันเป็นเรียงความ แต่ผมเข้าใจว่ามันแปลกออกไปแล้ว การเขียนในภาษาอังกฤษและการเขียนในภาษาเกาหลีช่างแตกต่าง แต่ก็ยังคงเป็นสิ่งเดียวกัน และผมพยายามคิดถึงโครงสร้างของเรียงความขณะที่ผมเขียนมัน นั่นยิ่งทำให้ผมรู้สึกแปลกขึ้นไปใหญ่"
 
ฉันไม่ได้ถามเขาต่อ แต่ฉันคิดว่าฉันเข้าใจ มันต้องเป็นเรื่องความสับสนลึกๆ เกี่ยวกับแนวทางในการเขียนเรียงความในคาบสังคมศาสตร์ในประเทศของเขา มันไม่มีการพิสูจน์ ไม่มีการตรวจสอบ หรือการถ่วงดุล เว้นเสียแต่พวกเขาต้องการพิสูจน์ว่า ท่านผู้นำของพวกเขาเป็นคนเขียนบทละครและหนังสือหลายพันเล่มด้วยตัวคนเดียว  รวมถึงปกป้องประเทศชาติรวมถึงการแสดงปาฏิหาริย์อีกหลายครั้ง 

โครงสร้างทั้งหมดของพวกเขาถูกออกแบบมาเพื่อไม่ให้ตั้งคำถามหรือถูกวิพากษ์ ฉะนั้น รูปแบบของการเขียนเรียงความซึ่งมีข้อโต้แย้งที่ต้องถูกพิสูจน์นั้น ถือเป็นเรื่องผิดแปลกไปจากระบบคิดของพวกเขา นักเรียนคนนี้ได้ตระหนักว่าการโต้แย้งนั้นขัดต่อหลักการของเขา และมันยังถูกปฏิเสธโดยทางการด้วย
 
ณ ประเทศแห่งนี้ การโต้แย้งไม่สามารถทำได้
 
ฉันมองไปที่นักเรียนคนนั้น และรู้สึกถึงความผิดปกติที่คุ้นเคย บางทีนี่อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้น คำถามที่พวกเขาอาจตั้งขึ้น คำถามที่พวกเขาควรจะถาม คำถามที่พวกเขาตระหนักว่าที่พวกเขาไม่ได้ถามเพราะเขาไม่เคยคิดว่ามันจะถูกถามได้ หรืออาจเป็นเพราะว่าการตั้งคำถามนั้น หมายความว่าพวกเขาจะไม่สามารถมีตัวตนอยู่ในระบบนี้ได้อีกต่อไป


ที่มา  มติชนออนไลน์
 
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X