เตือน! ชายวัย 40 พร่องฮอร์โมน “เซ็กซ์เสื่อม หงุดหงิด ลงพุง”
2014-11-27 15:49:28
Advertisement
คลิก!!!

ในการเสวนา “ไขปริศนาเรื่องลับของหนุ่มใหญ่ที่คุณควรรู้” นท.ดร.นพ.สมพล เพิ่มพงศ์โกศล แพทย์ประจำหน่วยระบบทางเดินปัสสาวะ ภาควิชาศัลยกรรม โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า จากการศึกษาอุบัติการณ์ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในคลินิกสุขภาพเพศชายของโรงพยาบาลรามาธิบดีย้อนหลัง ระหว่างปี 2548-2549 พบว่า แนวโน้มเพศชายที่อายุเกิน 40 ปีขึ้นมีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งใน 100 คนจะพบผู้มีภาวะพร่องฮอร์โมน 24 คน

 

โดยจะมีปริมาณฮอร์โมนเพศชาย หรือฮอร์โมนเทสทอสเทอโรน ต่ำกว่า 300 นาโนกรัมต่อเดซิลิตร มีกลุ่มอาการพร่องฮอร์โมนชัดเจนเช่น ซึมเศร้า รู้สึกร้อนวูบวาบ ปวดเมื่อย ลงพุง ทั้งนี้ มีการศึกษาในต่างประเทศระบุว่า ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไปฮอร์โมนชนิดนี้จะลดลงประมาณ 1.2% ต่อปี และเมื่ออายุ 70 ปี ผู้ชายจะมีปริมาณฮอร์โมนเพศชายลดลงประมาณ 35%

 “อาการภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายจะไม่ต่างจากอาการหญิงวัยทองที่หมดประจำเดือน แต่ผู้ชายจะมีระดับฮอร์โมนเพศค่อยๆ ลดลง ไม่ได้ลดลงอย่างชัดเจนเหมือนในเพศหญิง ซึ่งการลดลงของฮอร์โมนเกิดจากการที่อัณฑะไม่ผลิตฮอร์โมน หรือผลิตน้อยเกินไป ส่งผลให้เกิดภาวะสมรรถภาพทางเพศเสื่อม จิตใจ อารมณ์เปลี่ยนไป โกรธง่าย ซึมเศร้า หงุดหงิด และระบบเมทาบอลิซึม หรือการเผาผลาญอาหารของร่างกายไม่ปกติ ทำให้มีไขมันหน้าท้องมาก ปวดเมื่อย กระดูกบางและพรุน ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง ซึ่งผู้สูงอายุที่มีอาการเหล่านี้ชัดเจน ควรปรึกษาเพื่อทำการตรวจเลือด วัดระดับฮอร์โมนว่ามีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายหรือไม่ ซึ่งหากเข้ารับการตรวจที่ รพ.รามา จะเสียค่าตรวจประมาณ 250 บาท” นท.ดร.นพ.สมพล กล่าว
       
นท.ดร.นพ.สมพล กล่าวด้วยว่า การรักษาภาวะพร่องฮอร์โมนจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมน ซึ่งประเทศไทยมี 2 รูปแบบ คือ 1.แบบรับประทาน ซึ่งจะต้องรับประทานพร้อมและหลังอาหารทันที และอยู่ในภาวะที่มีไขมันน้อยจึงจะมีประสิทธิภาพที่ดี และ 2.แบบฉีด ซึ่งจะทำให้มีฮอร์โมนเพศชายอยู่ในระดับที่ปกติได้นาน 3 เดือน แต่มีข้อจำกัดไม่ควรฉีดในผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม โรคตับ และโรคเลือด โดยต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์ สำหรับราคายาฉีดจะอยู่ที่เข็มละประมาณ 6,300 บาท

 

ซึ่งจากการศึกษาติดตามกลุ่มชายที่ได้รับการบำบัดด้วยการฉีดฮอร์โมนทดแทน จำนวน 64 คน พบว่า 92% มีความพอพึงใจต่อผลการรักษา สามารถรับประทานอาหารได้มากขึ้น ยามีผลข้างเคียงน้อย ซึ่งภายหลังจากฉีดฮอร์โมนแล้ว ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น แต่จะต้องดูแลรักษาสุขภาพ ออกกำลังกาย และควบคุมอาหารด้วย

 

 

ที่มา  สยามดารา

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X