สงครามน้ำมัน โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์
2014-10-30 10:57:39
Advertisement
คลิก!!!

เมื่อเดือนกรกฎาคม ปีนี้เองที่สหรัฐอเมริกาสามารถผลิตน้ำมันได้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลกคือผลิตได้ 11 ล้านบาร์เรลต่อวันแล้วครับ ทำให้สหรัฐอเมริกาลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศถึงวันละ 8.7 ล้านบาร์เรล 

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่าสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาเทคโนโลยีการสกัดหินน้ำมันที่มีอยู่มหาศาลออกมาเป็นน้ำมันได้ในราคาที่ถูกลงมากคือตกต้นทุนของการสกัดน้ำมันจากหินน้ำมันได้ประมาณบาร์เรลละ50เหรียญอเมริกัน

ซึ่งเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกราคาขึ้นสูงสุดในปีนี้ราคาบาร์เรลละ 115 เหรียญอเมริกัน จึงไม่มีปัญหาอะไรในการผลิตน้ำมันด้วยวิธีการสกัดน้ำมันจากหินน้ำมัน แม้ว่าต้นทุนการผลิตของน้ำมันของประเทศที่สูบน้ำมันจากใต้ดินตามธรรมดามีราคาต้นทุนบาร์เรลละ 10-20 เหรียญอเมริกัน

ประเทศที่ผลิตน้ำมันได้มากที่สุดในโลกเป็นอันดับสองคือรัสเซียที่ผลิตได้วันละ 10.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ในการผลิตของโลกคือ 12% ตามด้วยซาอุดีอาระเบียผลิตได้วันละ 9.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ 11% ส่วนประเทศที่ผลิตน้ำมันได้ประเทศอื่นๆ ผลิตได้ไม่ถึง 5% ของโลกต่อวันทั้งสิ้น (อ้อ ! ท่านผู้อ่านที่เคารพคงอยากทราบว่าประเทศไทยของเราผลิตได้น้ำมันอันดับที่เท่าไรของโลก ? ครับ ! ไทยเราผลิตน้ำมันได้วันละสามแสนบาร์เรลต่อวัน คือ 0.45% จัดเป็นอันดับที่ 33 ของโลก)


อีทีนี้สหรัฐอเมริกาใช้น้ำมันภายในประเทศวันละประมาณ19ล้านบาร์เรลส่วนรัสเซียใช้น้ำมันภายในประเทศตกวันละ 3.2 ล้านบาร์เรล และซาอุดีอาระเบียใช้น้ำมันภายในประเทศประมาณวันละ 2.8 ล้านบาร์เรล (ไทยใช้น้ำมันประมาณวันละ 7.2 แสนบาร์เรล - แถม สำหรับสาธารณรัฐประชาชนจีนผลิตน้ำมันได้เป็นอันดับ 5 ของโลกคือได้ประมาณวันละ 4 ล้านบาร์เรลแต่ใช้วันละ 10.28 ล้านบาร์เรล)

ครับ ! ในเดือนตุลาคมราคาน้ำมันได้ตกลงเหลือประมาณ 85 เหรียญสหรัฐแล้วซีครับซึ่งสาเหตุสำคัญของการตกลงมาของราคาน้ำมันนั้นเนื่องมาจากการที่สหรัฐอเมริกาผลิตน้ำมันได้มากที่สุดในโลกแล้วจึงลดการนำเข้า

น้ำมันจากต่างประเทศลงกว่าครึ่งหนึ่งของที่เคยนำเข้ามานานหลายสิบปีคือ ลดลงประมาณ 8.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งประมาณเท่ากับปริมาณน้ำมันที่ประเทศซาอุดีอาระเบียและไนจีเรียส่งออกแต่ละวัน ดังนั้นซาอุดีอาระเบียจึงได้ลดราคาน้ำมันส่งออกในทวีปเอเซียลงบาร์เรลละ 1 เหรียญสหรัฐ และลดราคาลง 40 เซ็นต์ต่อบาร์เรลสำหรับน้ำมันที่ส่งไปขายที่สหรัฐอเมริกาเพื่อรักษาส่วนแบ่งของตลาดไว้

ที่ซาอุดีอาระเบียทำเช่นนี้ก็จะยิ่งทำให้ราคาน้ำมันตกลงไปอีกซึ่งก็เป็นข่าวดีสำหรับคนทั้งโลกยกเว้นบรรดาประเทศที่ส่งน้ำมันออกเป็นสินค้าสำคัญที่สุดหลายประเทศโดยเฉพาะรัสเซียกับอิหร่านซึ่งอิหร่านกับซาอุดีอาระเบียเป็นคู่ปรับกันอย่างรุนแรงในการแย่งกันขยายอิทธิพลในภูมิภาคตะวันออกกลางมาหลายสิบปีแล้ว

เนื่องจากรัสเซียมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมดและประเทศอิหร่านมีรายได้จากการส่งน้ำมันออกถึง60%ของรายได้ทั้งหมด

ขณะนี้ผู้เขียนรู้สึกเดฌาวูว์ครับ คือรู้สึกว่าเหมือนกว่าเหตุการณ์ใน พ.ศ.2528 กลับมาอีกครั้งหนึ่งเมื่อผลกระทบของการค้นพบและมีการขุดเจาะน้ำมันปริมาณมหาศาลจากทะเลเหนือของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกทำให้ราคาน้ำมันโลกตกลงทันทีและต่อเนื่องจนกระทั่งซาอุดีอาระเบียทนไม่ไหวจึงเพิ่มปริมาณการผลิตขึ้นอย่างมโหฬารทำให้ราคาน้ำมันร่วงลงมาจนกระทั่งเหลือเพียงบาร์เรลละ10เหรียญอเมริกันเท่านั้น

ในที่สุดสหภาพโซเวียตก็ต้องล้มละลายและล่มสลายไปในพ.ศ.2534 สาเหตุสำคัญที่สุดสาเหตุหนึ่งก็คือนี่แหละครับราคาน้ำมันตกลงแบบกู่ไม่กลับ ผู้เขียนยังจำได้ดีถึงสภาวการณ์ตกต่ำของรัสเซียในสมัยที่นายบอริส เยลต์ซิน เป็นผู้นำในช่วง พ.ศ.2534-2542 ตอนนั้นรัสเซียแทบว่าไม่เหลือเค้าของประเทศอภิมหาอำนาจเหลืออยู่เลยเพราะต้องเร่ไปขอความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปบ่อยๆส่วนการที่นายวลาดิมีร์ปูตินผงาดขึ้นมามีเสียงดังขึ้นและมีท่าทีจะทวงความเป็นอภิมหาอำนาจกลับคืนมาก็ด้วยสาเหตุสำคัญคือราคาน้ำมันที่สูงขึ้นไปถึงบาร์เรลละ115เหรียญอเมริกันนี่แหละ

ความจริงทางซาอุดีอาระเบียไม่ได้คิดที่จะลดราคาน้ำมันลง เพื่อจัดการรัสเซียกับอิหร่านหรอกครับซาอุดีอาระเบียลดราคาน้ำมันลงเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด และไม่ต้องการให้การสกัดน้ำมันจากหินน้ำมันของสหรัฐก้าวไปไกลกว่านี้ เพราะการสกัดน้ำมันจากหินน้ำมันของสหรัฐอเมริกานั้น ก็เหมือนกับการค้นพบและนำน้ำมันขึ้นมาใช้ จากทะเลเหนือของประเทศทางยุโรปเกือบ30 ปีที่แล้วนั่นเอง

สำหรับบ้านเราบรรดาอุตสาหกรรมทั้งหลายคงดีใจนะครับ ที่รายจ่ายในการซื้อน้ำมันจะลดลงอย่างมาก เพราะเราสั่งน้ำมันมาใช้แต่ละปีมีปริมาณมหาศาลแต่ทางด้านเกษตรกรรมบรรดายางพารา และพืชน้ำมันที่เอามาใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงคงแย่ลงไปอีกละครับ เนื่องจากเมื่อซื้อน้ำมันดิบราคาถูกมากลั่นแล้ว จะมีสารเคมีนานาชนิดเป็นผลพลอยได้ที่ใช้ทำยางเทียมและเม็ดพลาสติกฯลฯ เตรียมเนื้อเตรียมตัวรับมือกันให้ดีเถอะครับ



 


มติชนรายวัน
วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 37 ฉบับที่ 13380

ที่มา  มติชนออนไลน์

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X