รู้ทัน โรคหน้าร้อน
2015-03-04 18:26:55
Advertisement
Pyramid Game

ฤดูร้อนเป็นช่วงเวลาของการหยุดพักผ่อน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีการหยุดงานติด ๆ กัน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันแรงงาน รวมทั้งการปิดภาคเรียนของนักเรียนทั่วประเทศ พฤติกรรมของประชาชนในช่วงเวลานี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งของโรคที่พบบ่อยในฤดูร้อนที่จะต้องกล่าวถึง เพื่อให้เกิดความระมัดระวังในการปฏิบัติตนให้ห่างไกลจากโรคเหล่านี้

โรคท้องร่วง เป็นโรคที่พบบ่อยมาก เนื่องจากปัจจัยของสิ่งแวดล้อม คือ อากาศร้อน เอื้อให้เชื้อโรคแบ่งตัวเพื่อขยายพันธ์ได้ง่าย ถ้าการเก็บรักษาวัตถุดิบอาหารไม่สะอาดเพียงพอ อาหารที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อโรคจะมีปริมาณเชื้อโรคเพิ่มขึ้นจนก่อให้เกิดโรคได้ แมลงวันเป็นอีกปัจจัยที่เป็นตัวแพร่กระจายเชื้อโรค ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อเหล่านี้จะแสดงอาการหลัก คือ ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระหลายครั้ง ทั้งอุจจาระเหลวเป็นน้ำ เป็นมูก มีกลิ่นเหม็นเน่า มีเลือดปนบางครั้ง รวมทั้งมีมูกผสม บางรายมีไข้สูง คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย การรักษาเบื้องต้นคือการดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยการเสียน้ำ ซึ่งผงเกลือแร่ที่ใช้ผสมน้ำหาได้ทั่วไป หรืออาจเตรียมเองได้โดยใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ ผสมเกลือแกงครึ่งช้อนชา ลงในน้ำต้มสุก 1 ขวด (ประมาณ 750 ซีซี) ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะ หรือยาแก้ท้องเสียรับประทานเอง ถ้าอาการถ่ายเหลวไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ หรือน้ำเกลืองทางเส้นเลือดดำ

ลมแดด เกิดจากการสะสมความร้อนในร่างกายจนอุณหภูมิร่างกายสูงจนเป็นอันตราย ผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนเพลียจากการเสียน้ำในร่างกาย ผ่านการเสียเหงื่อจนถึงหน้ามืด เป็นลมหมดสติได้ ปัจจุบันคนไทยนิยมการออกกำลังกายเพิ่มขึ้น รวมถึงผู้ที่ต้องทำงานกลางแดด จะต้องระมัดระวัง และคิดถึงการเกิดอาการลมแดดไว้ด้วย จึงควรป้องกันตัวไว้ด้วยการดื่มน้ำให้เพียงพอ สวมเสื้อผ้าที่โปร่ง เพื่อให้ร่างกายระบายความร้อนได้ง่าย หยุดพักและหลบเข้าที่ร่ม มีการระบายอากาศที่ดีเพื่อลดความร้อนในร่างกาย ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดไปตามตัวและแขนขา เพื่อลดความร้อน สวมอุปกรณ์ป้องกันความร้อนจากแดด เช่น หมวก ร่ม ส่วนพวกที่มีอาการแล้ว การปฐมพยาบาลเบื้องต้นก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรนำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้เคียง

โรคกลัวน้ำหรือพิษสุนัขบ้า โรคนี้ไม่ได้เกิดแต่ในสุนัข แต่พบได้ในแมว กระรอก กระแต ลิง ชะนี เป็นต้น คนติดโรคนี้ได้จากการสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์ที่ป่วย เชื้อไว้รัสก่อโรคนี้จะเข้าสู่ร่างกายคน โดยการถูกกัด หรือเลียบริเวณบาดแผล หรือผ่านเข้าทางตา ปาก จมูก ผู้ที่เลี้ยงสัตว์เหล่านี้จึงควรระวังไม่ให้สัมผัสกับน้ำลายของสัตว์ หรือไม่ให้สัตว์เลียถูกบาดแผล ในกรณีถูกสัตว์กัด ให้รีบทำความสะอาดบาดแผลด้วยน้ำสบู่และสบู่หลายครั้ง และใช้ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน ทิงเจอร์ไอโอดีน และรีบพบแพทย์ เพื่อพิจารณาให้ยาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แม้ว่าจะซักประวัติได้ว่า สุนัขนั้นฉีดวัคซีนป้องกันแล้ว ก็ไม่เป็นหลักประกัน 100 เปอร์เซ็นต์ ควรสังเกตอาการสุนัขไปอีกอย่างน้อย 10 วัน การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจึงมีความสำคัญ

ดังนั้น จึงควรพบแพทย์ทุกรายเพื่อให้แพทย์พิจารณาเรื่องการฉีดวัคซีน เพราะเป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิตและไม่มียารักษา

 

ขอขอบคุณที่มา  www.sanook.com

 

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X