ระวัง! ป่วยเบาหวานเสี่ยงติดเชื้อช่องปากง่าย ผุดศูนย์ทันตกรรมผู้สูงอายุดูแล
2014-10-21 18:04:31
Advertisement
คลิก!!!

        สธ. ตั้งเป้าขยายงานบริการทันตกรรมลง รพ.สต. และศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองให้ได้ครึ่งหนึ่ง เน้นงานป้องกันฟันผุ โรคปริทันต์ เตือนผู้ป่วยเบาหวานต้องดูแลช่องปากเป็พิเศษ เสี่ยงติดเชื้อง่าย ด้านสถาบันทันตกรรมตั้งศูนย์ทันตกรรมผู้สูงอายุ ดูแลสุขภาพช่องปากคนชราทั้งงานพื้นฐานและซับซ้อนในช่องทางพิเศษ แนะพบทันตแพทย์ทุก 4-6 เดือน

       วันนี้ (21 ต.ค.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์เนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 21 ต.ค.ของทุกปี ว่า ปัจจุบันสุขภาพช่องปาก เป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะฟันผุและโรคปริทันต์ ซึ่งทำให้มีอาการปวด และเชื้อโรคอาจลุกลามไปอวัยวะอื่น ที่พบได้มากขึ้นขณะนี้คือโรคปริทันต์ โดยผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลไม่ได้ จะติดเชื้อง่าย อาการจะรุนแรงและรักษายากกว่า เพราะมีภูมิต้านทานต่ำ จึงต้องแปรงฟัน ดูแลฟันไม่ให้มีหินปูนซึ่งเป็นที่สะสมของเชื้อโรค และควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ตรวจสุขภาพช่องปากทุก 6 เดือน สำหรับการเข้าถึงบริการด้านทันตกรรม จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2556 พบว่า เข้าถึงเพียง 10%
       
       นพ.ณรงค์ กล่าวว่า สธ. ได้กำหนดให้การจัดบริการด้านทันตกรรมและดูแลสุขภาพช่องปาก เป็น 1 ใน 10 สาขาหลักของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนทุกพื้นที่เข้าถึงบริการ โดยในปี 2558 สธ.จะเพิ่มการให้บริการสุขภาพช่องปาก ลงไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง ให้ได้ 4,885 แห่ง หรือ 50% ของ รพ.สต. และศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองทั่วประเทศ ให้บริการโดยทันตแพทย์ หรือทันตาภิบาลอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน เพื่อลดความแออัดการบริการในเขตเมือง เช่น ขูดหินปูน เคลือบหลุมร่องฟัน เพื่อป้องกันฟันผุ โรคปริทันต์ ช่วยลดการสูญเสียฟันในผู้สูงอายุ และป้องกันโรคอื่นๆ
       
       “การส่งเสริมสุขภาพช่องปากจะเน้นใน 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. หญิงฝากครรภ์ในคลินิกฝากครรภ์ บริการอย่างน้อย 1 ครั้ง 2. คลินิกส่งเสริมสุขภาพเด็กดี มีการให้แปรงฟันและยาสีฟันให้กับเด็กทุกคนที่มารับบริการ ตรวจช่องปาก ความสะอาด และประเมินความเสี่ยงต่อฟันผุ ฝึกผู้ดูแลเด็กแปรงฟัน จัดระบบเฝ้าระวัง ติดตามเด็กกลุ่มเสี่ยง โดยทาฟลูออไรด์วาร์นิชทุก 6 เดือน 3. ศูนย์พัฒนาเด็ก โดยตรวจสุขภาพช่องปากเด็กทุกคนปีละ 1 ครั้ง เด็กกลุ่มเสี่ยงได้รับการทาฟลูออไรด์วานิช ภาคเรียนละ 1 ครั้ง 4. โรงเรียนประถมศึกษา โดยตรวจสุขภาพช่องปากปีละ 1 ครั้ง ให้บริการเคลือบหลุมร่องฟันกรามแท้ซี่ที่ 1 และบริการทันตกรรมตามความจำเป็น และ 5. กลุ่มผู้สูงอายุ โดยตรวจสุขภาพช่องปากปีละ 1 ครั้ง พร้อมจัดบริการใส่ฟันทั้งปาก และรากฟันเทียมกรณีที่จำเป็น” ปลัด สธ. กล่าว
       
       วันเดียวกัน ที่สถาบันทันตกรรม นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวหลังเปิดงานวันทันตสาธารณสุขและพิธีเปิดศูนย์ทันตกรรมผู้สูงอายุ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีความตระหนักในภาวะสุขภาพช่องปาก มีความต้องการที่จะเก็บรักษาฟันไว้ให้คงทนสวยงาม เพราะส่งผลทั้งสุขภาพร่างกาย จิตใจ และการเข้าสังคม ทำให้มีความต้องการรับบริการเพิ่มมากขึ้น สถาบันทันตกรรม จึงร่วมกับมูลนิธิ พอ.สว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมรณรงค์ และบริการทางทันตกรรมแก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า รวมทั้งเปิดศูนย์ทันตกรรมผู้สูงอายุ ให้บริการผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปในช่องทางพิเศษ
       
       ท.พญ.วีวรรณ ภักดีธนากุล ผอ.สถาบันทันตกรรม กล่าวว่า สถาบันฯได้จัดกิจกรรมให้บริการผู้ป่วย 300 ราย โดยไม่คิดมูลค่า รวมทั้งตั้งศูนย์ทันตกรรมผู้สูงอายุ ซึ่งมีการให้บริการตรวจพื้นฐาน ได้แก่ อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ทุกวันในเวลาราชการ และงานที่ซับซ้อน เช่น รักษาคลองรากฟัน โรคปริทันต์อักเสบ บูรณะฟัน ผ่าตัดปุ่มกระดูกงอกที่ขากรรไกร ใส่ฟันเทียม รากฟันเทียม เพื่อให้ผู้สูงอายุไทยมีสุขภาพช่องปากที่ดีเหมาะสมกับวัย มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สำหรับการดูแลสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุ ควรเริ่มจากการดูแลความสะอาดของฟัน โดยอุปกรณ์ทำความสะอาด ควรเลือกด้ามจับที่ถนัดมือ ตัวแปรงมีขนาดเหมาะกับช่องปาก ขนแปรงนิ่ม เปลี่ยนแปรงสีฟันเมื่อขนแปรงบานหรือมีอายุการใช้งาน 2-3 เดือน
       
       “ผู้สูงอายุที่ใส่ฟันปลอม ควรทำความสะอาดฟันปลอมด้วยการแช่ในน้ำสะอาด และถอดฟันปลอมอย่างน้อยวันละ 4-8 ชั่วโมง ไม่ควรใส่นอน เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อราในช่องปาก นอกจากนี้ อาจเลือกใช้เครื่องมือช่วยทำความสะอาดฟันเพิ่มเติม เช่น แปรงซอกฟันทำความสะอาดฟันที่เป็นช่องมีเหงือกร่นหรือฟันห่าง รวมถึงการทำความสะอาดกระพุ้งแก้มไปจนถึงโคนลิ้น เพื่อขจัดอาหารและคราบจุลินทรีย์ เลี่ยงการสูบบุรี่ เคี้ยวหมาก อาหารรสหวาน และควรพบทันตแพทย์เป็นประจำทุกๆ 4-6 เดือน” ผอ.สถาบันทันตกรรม กล่าว


ที่มา  http://www.manager.co.th/

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X