ยันน้ำสมุนไพรรักษาเอดส์ไม่ได้ หวั่นเชื้อดื้อยา จ่อผุดโรงงานวัคซีนเอดส์ร่วมมะกันจริง
2014-11-29 12:35:47
Advertisement
คลิก!!!

      คณะกรรมการเอดส์ชาติของบเพิ่ม 1,900 ล้านบาท แก้ปัญหาเอดส์ใน 16 ปี ไม่ให้มีผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 1,000 คนต่อปี ขณะที่โรงงานวัคซีนเอดส์เป็นวัคซีนที่ไทยพัฒนาร่วมมะกัน ตั้งเป้าเพิ่มศักยภาพโรงงานเอกชนผลิตได้มากกว่าสร้างใหม่ ด้านเครือข่ายผู้ติดเชื้อห่วงโฆษณาหลอกลวง อ้างน้ำสมุนไพรรักษาโรค ทำผู้ป่วยเอดส์ดับ ผอ.ศูนย์วิจัยเอดส์ ย้ำไม่มีสมุนไพรตัวไหนรักษาได้ หวั่นเพิ่มปัญหาเชื้อดื้อยา
       
       วานนี้ (28 พ.ย.) นายยงยุทธ์ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ว่า ภายในปี 2573 หรือ 16 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะต้องยุติปัญหาเอดส์ให้ได้ โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่เกินปีละ 1,000 คน ไม่มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ และลดการตีตราหรือเลือกปฏิบัติ และเพื่อให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จ คณะกรรมการฯ จึงอนุมัติในหลักการให้เสนอของบประมาณเพิ่มเติมอีกประมาณ 1,700-1,900 ล้านบาท จากเดิมที่ได้รับอยู่ประมาณปีละ 9,000 ล้านบาท เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทย
       
       ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีสะสมตั้งแต่เริ่มมีการระบาดครั้งแรกในไทยจนถึงปี 2557 จำนวน 1,194,515 คน ยังมีชีวิตอยู่ 438,629 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,695 คน โดยกว่า 90% ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ทั้งนี้ มาตรการที่จะรณรงค์มี 2 มาตรการคือ ส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย รักษาด้วยยาต้านไวรัสฟรี พร้อมให้ความรู้ผู้มีความเสี่ยงมาเจาะเลือดตรวจปีละ 2 ครั้ง และเริ่มให้ยาต้านไวรัสรักษาไม่ว่าจะม่ค่าระดับเม็ดเลือดขาวเท่าไรก็ตาม
       
       นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อัตราการติดเชื้อเอชไอวีพบมากในกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด 40% ในกลุ่มชายรักษาเฉลี่ย 7.1% แต่พบเพิ่มขึ้นมาถึง 20% ในพื้นที่กทม. และแหล่งท่องเที่ยว เช่น พัทยา นอกจากนี้ยังพบเพิ่มขึ้นในกลุ่มคู่สมรส โดยพิจารณาจากการตั้งครรภ์และติดเชื้อ 0.5% ทหารเกณฑ์ 0.6% ส่วนกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-24 ปีเพิ่มขึ้น 40% โดยพิจารณาจากการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างอื่นเช่นกามโรค ในอัตรา 30 ต่อแสนประชากร ซึ่งสะท้อนความไม่ใส่ใจในการป้องกันระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ที่ดี และการไม่ใส่ใจในการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีในทุกกลุ่มเสี่ยงมาตรวจเลือดเพียง 40-50% ประชาชนทั่วไปตรวจเพียง 20%
       
       นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าเรื่องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจริงแต่อยากให้พัฒนาระบบการตรวจเลือดให้รู้ผลเร็วภายใน 1 วัน ซึ่งจะตอบโจทย์เรื่องการรู้เร็ว ที่สำคัญต้องลดเรื่องการตีตรา และอยู่ร่วมกันในสังคมได้เป็นปกติ อย่างกรณีชาวชุมชนหลังเนิน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี รวมตัวกันประมาณ 200 คน ให้จัดการเรื่องสุขาภิบาลในพื้นที่กระท่อมพระศิริที่รับเอาผู้ป่วยโรคเอดส์ประมาณ 40 คนเข้ามาดูแล นั้นความจริงตรงนี้ตนไม่ค่อยเห็นด้วยเพราะเหมือนกับว่าผู้ป่วยไม่สามารถอยู่ร่วมได้กับชุมชน เพราะฉะนั้นตรงนี้อยากให้มีการสร้างความเข้าใจร่วมกันให้มากๆ ว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่รับยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอนั้นก็มีชีวิตได้ตามปกติ และไม่แพร่เชื้อสู่ผู้อื่น
       
       “ตอนนี้ที่ตนเป็นกังวลคือมีการโฆษณาว่ามีสมุนไพร และน้ำแร่ น้ำอะไรต่างๆ อ้างผลการรักษาโรคเอดส์ให้หายขาดได้จนทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการรักษา ละทิ้งการรับยาต้านไวรัสเอชไอวีจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต อยากให้หน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญเร่งแก้ปัญหาตรงนี้ด้วย”
       
       ด้านนพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า เรื่องการโฆษณาผ่านระบบอินเตอร์เน็ตเรื่องยาสมุนไพร หรือน้ำแร่ น้ำอื่นๆ นั้นน่าเป็นห่วง เพราะอ้างว่าสามารถรักษาโรคเอดส์ให้หายขาดได้ แต่มีข้อแม้ว่าห้ามรับประทานยาอื่นร่วมด้วย ซึ่งรวมไปถึงการห้ามรับประทานยาต้านไวรัสด้วยเช่นกัน ทำให้ผู้ป่วยหลงเป็นเหยื่อจำนวนมาก ปัญหาที่ตามมาคือการดื้อต่อยาต้านไวรัสเอชไอวี ตรงนี้ตนขอยืนยันว่าไม่มีน้ำ หรือสมุนไพรตัวไหนที่มีผลการศึกษาว่าสามารถรักษาโรคเอดส์ให้หายขาดได้
       
       เมื่อถามถึงมูลนิธิบิลเกตสนใจจะมาตั้งโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโรคเอดส์ในประเทศไทย ซึ่งต้องหารือกับ คกก.เอดส์ชาติก่อนนั้น นพ.โสภณ กล่าวว่า ทางสหรัฐฯ มีความสนใจจริง แต่คงต้องหารือกันก่อน โดยวัคซีนป้องกันโรคเอดส์นั้นคือ วัคซีนที่ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติศึกษาพัฒนาร่วมกับสหรัฐฯ ว่าได้ผล โดยการสร้างโรงงานวัคซีนไม่ใช่จะสร้างโรงงานขึ้นใหม่ แต่จะพัฒนาให้บริษัทผลิตวัคซีนเอกชนมีศักยภาพในการที่จะผลิตได้มากกว่า


ที่มา  http://www.manager.co.th/

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X