มะกันทำ “แอปฯต้านฆ่าตัวตาย” ตรวจข้อความเสี่ยงในโซเชียล
2014-09-18 12:42:57
Advertisement
คลิก!!!

        จิตแพทย์ชี้ “แอปฯต้านฆ่าตัวตาย” ของจีน ช่วยตรวจจับคนมีแนวโน้มฆ่าตัวตาย ผ่านคลื่นไฟฟ้าสมอง - หัวใจ อยู่ในช่วงวิจัยพัฒนา ขณะที่สหรัฐฯ กำลังทดลองใช้แอปฯ ตรวจจับการโพสต์ข้อความฆ่าตัวตาย มีภาวะซึมเศร้าทางโซเชียลฯ เบื้องต้นได้ผลดี ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิต ไทยขอศึกษาผลระยะยาวก่อนปรับใช้

        นพ.วรตม์ โชตพิทยสุนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตระหว่างประเทศ กรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีศูนย์ช่วยเหลือและวิจัยทางจิตวิทยา โรงพยาบาลฮุ้ยหลงกวน กรุงปักกิ่ง กำลังพัฒนาแอปพลิเคชันต่อต้านการฆ่าตัวตาย ซึ่งสามารถประเมินระดับจิตใจผู้ใช้แอปฯ ด้วยการติดตามดัชนีความวิตกกังวลผ่านการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และคลื่นไฟฟ้าสมอง รวมถึงมีช่องทางให้ได้ปรึกษากับจิตแพทย์ และมีโปรแกรมโต้ตอบจากหุ่นยนต์เพื่อบรรเทาความกดดัน ซึ่งจะเสร็จสมบูรณ์ภายใน 3 ปี ว่า การใช้คลื่นไฟฟ้าหัวใจและคลื่นไฟฟ้าสมองมาใช้ในการตรวจความเกี่ยวข้องกับปัญหาทางสุขภาพจิตยังคงอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย ซึ่งประเทศจีนได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ส่วนแอปฯ ดังกล่าวเป็นลักษณะของการค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการมีปัญหาทางสุขภาพจิต ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกก็กำลังเร่งพัฒนาระบบนี้เช่นกัน โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่ระหว่างการทดลองใช้ระบบตรวจจับผู้ที่มีความเสี่ยงทางด้านสุขภาพจิต ทั้งซึมเศร้า และการฆ่าตัวตาย
       
        “คนที่กำลังคิดฆ่าตัวตายมักจะมีการส่งสัญญาณเตือนออกมา ประกอบกับทุกวันนี้คนเราอยู่ในสังคมโซเชียลมีเดียมากขึ้น ทำให้ส่วนหนึ่งมักมีการส่งสัญญาณการฆ่าตัวตายออกมาทางสังคมออนไลน์ เช่น การโพสต์ข้อความต่างๆ ที่แสดงออกว่ากำลังอยู่ในภาวะซึมเศร้า หรือคิดฆ่าตัวตาย ทางสหรัฐฯจึงพัฒนาแอปพลิเคชันในการตรวจสอบข้อความที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ขึ้นมา เพื่อดูว่ามีแนวโน้มในการโพสต์ข้อความที่แสดงสัญลักษณ์ว่าจะฆ่าตัวตายหรือไม่ขึ้น ซึ่งหากตรวจจับพบก็จะมีการส่งข้อความเตือนไปยังเจ้าตัวว่า คุณกำลังอยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย หรือส่งข้อความไปยังชุมชนของบุคคลดังกล่าวเพื่อให้การดูแลช่วยเหลือ” นพ.วรตม์ กล่าว
       
        นพ.วรตม์ กล่าวอีกว่า ผลจากการทดลองใช้ระบบดังกล่าวในกลุ่มทดลองพบว่า ให้ผลดี สามารถช่วยยับยั้งการฆ่าตัวตายได้ ส่วนข้อกังวลว่าจะละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้โซเชียลมีเดียหรือไม่นั้น ระบบจะติดตามการโพสต์ข้อความเฉพาะผู้ใช้แอปพลิเคชันเท่านั้น ซึ่งผู้ใช้จะต้องมีการทำความเข้าใจและยอมรับก่อน ส่วนประเทศไทยยังไม่มีการพัฒนาถึงขั้นนี้ คงต้องรอดูผลการศึกษาของประเทศต่างๆ ก่อน หากได้ผลดีจึงนำมาพัฒนา ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีเพียงระบบในการติดตามและให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยทางโทรศัพท์เท่านั้น หรือที่เรียกว่าโมบายเมนทอลเฮลธ์ (Mobile Mental Health) คือผู้ป่วยสามารถปรึกษาจิตแพทย์ได้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือหรือการสไกป์ หรือจิตแพทย์สามารถติดตามผลการรักษากับผู้ป่วยได้โดยตรง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1667 ในการให้คำปรึกษาด้วย
       
        นพ.วรตม์ กล่าวว่า การพัฒนาเหล่านี้เป็นการแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการทางสุขภาพจิต อย่างประเทศจีนก็ขาดแคลนจิตแพทย์เช่นเดียวกับประเทศไทย จึงต้องมีการพัฒนาระบบมาช่วยรองรับ สำหรับการโต้ตอบกับโปรแกรมหุ่นยนต์ในแอปพลิเคชันของจีนเพื่อบรรเทาความเครียดและความกดดันต่างๆ มองว่าสามารถช่วยคัดกรองสุขภาพจิตเบื้องต้นได้ แต่คงไม่สามารถช่วยบรรเทาได้ดีเท่ากับจิตแพทย์ เพราะตรวจจับได้เพียงข้อความเท่านั้น แต่ไม่สามารถตรวจความรู้สึกของผู้ใช้แบบจิตแพทยืได้ ที่สามารถสังเกตสีหน้า ท่าทาง แววตา ความรู้สึกต่างๆ แต่โปรแกรมมีประโยชน์ในการตั้งคำถามเพื่อช่วยคัดกรอง รวมถึงสามารถทำงานได้ตลอดเวลา

ที่มา  http://www.manager.co.th/

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X