ผู้เชี่ยวชาญเผยข้อดีชวนลูก "เล่นบทบาทสมมติ"
2014-10-30 14:51:10
Advertisement
คลิก!!!

        ปฏิเสธไม่ได้ว่า พ่อแม่ยุคใหม่จำนวนไม่น้อยมีข้อจำกัดในด้านเวลา ไม่ว่าจะด้วยภาระงาน หรือความรับผิดชอบรอบด้าน จนหลาย ๆ ท่านเกิดความรู้สึกผิด และมักจะให้เงิน ของเล่น และของขวัญต่างๆ มากมาย เพื่อชดเชยหรือทดแทนความใกล้ชิดแก่ลูก แต่กลับลืมคิดไปว่า การแบ่งเวลาเล็ก ๆ น้อยเพื่อเล่นกับลูกนั้น โดยเฉพาะการเล่นบทบาทสมมติ ไม่ว่าจะที่บ้าน หรือพาไปเรียนรู้นอกบ้าน ช่วยเสริมสมอง สร้างโลกจินตนาการ และพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ให้แก่พวกเขาได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะด้านสติปัญญา อารมณ์ และสังคม 
       
       ในเรื่องนี้ ผศ.ดร.มนัสนันท์ หัตถศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและพัฒนาการเด็ก ภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวผ่านทีมข่าว Life & Family ว่า การเล่นมีความสำคัญต่อเด็ก ซึ่งถือเป็นกุญแจดอกสำคัญในการช่วยพัฒนาการในด้านต่างๆ แก่เด็กเป็นอย่างมากทั้งในปัจจุบันและอนาคต การเล่นสำหรับเด็กนั้นสามารถเล่นได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยรุ่นตอนต้น ซึ่งลักษณะของการเล่นก็จะแตกต่างกันไปตามงานพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย
       
       "การเล่นทั่วไปนั้นอาจจะช่วยพัฒนาทักษะบางส่วน เช่น กล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ สื่อสาร สังคม สติปัญญา สำหรับการเล่นบทบาทสมมติมีความสำคัญต่อเด็กดังนี้คือ เป็นการเล่นที่เหมาะสมกับวัยอนุบาลจนถึงประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นการพัฒนาทักษะต่างๆ อาทิ จินตนาการ ภาษาและการสื่อสาร การแก้ปัญหา อันจะนำไปสู่การคิดสร้างสรรค์และคิดวิเคราะห์ ฝึกความอดทน เฝ้ารอ รอคอย EQ (Emotional Intelligence หรือความฉลาดทางอารมณ์) อีกทั้งยังเกิดความสนุกสนานตามวัยของเด็ก เป็นการพัฒนาเด็กอย่างเป็นองค์รวมในทุกด้าน คือ ด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา รวมถึงทางด้านจิตใจ" ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและพัฒนาการเด็กเผย
       
       นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้ยังได้เผยถึงข้อดีของการเล่นบทบาทสมมติต่อไปอีกว่า ช่วยให้เด็กค้นพบตนเอง เข้าใจตนเอง เรียนรู้บทบาทหน้าที่ สามารถมองภาพฉายอนาคตของตนเองได้ด้วย ซึ่งเป็นการเตรียมชีวิตก่อนการก้าวเข้าสู่การดำเนินชีวิตในสังคมอย่างแท้จริง

        "การที่ลูกได้เล่นเป็นอาชีพนั้น อาชีพนี้ หรือได้เห็น ได้สัมผัสสิ่งต่าง ๆ รอบตัวอย่างหลากหลาย ช่วยให้เด็กได้ค้นพบตัวเองตั้งแต่ต้น ๆ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะได้เปรียบกว่าเด็กคนอื่น นั่นเพราะเขาได้เห็น และค่อย ๆ เรียนรู้ว่า เขาอยากจะทำอะไร เส้นทางชีวิตของเขามีอะไร ช่วยให้ชีวิตในอนาคตราบรื่น และประสบความสำเร็จได้เร็ว ผิดกลับเด็กบางคนที่มักจะตอบไม่ได้ว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร" 
       
       สำหรับการเล่นบทบาทสมมตินั้น มี 2 ลักษณะกว้างๆ คือ1.เด็กสร้างจินตนาการ และสมมติบทบาทสมมติเอง รวมถึงการสร้างเพื่อนในจินตนาการเอง และ 2.การเล่นบทบาทสมมติในสถานการณ์ที่จำลองให้เสมือนจริง โดยการเล่นบทบาทสมมติในสถานการณ์ที่จำลองให้เสมือนจริง (ในแบบที่สอง) จะช่วยเสริมสร้างจินตนาการได้มากกว่า เพราะว่ามีการจัดสิ่งแวดล้อม สภาพการณ์ต่างๆ เพื่อเป็นการต่อยอดความคิด จินตนาการให้เด็ก และจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่เร็วขึ้น พัฒนาการต่างๆ จะไปได้ เร็วกว่าแบบที่หนึ่ง เนื่องจากในแบบที่หนึ่งนั้น เด็กต้องมีพื้นฐานหรือเคยได้รับประสบการณ์จากที่ต่างๆ มาแล้วและมาสร้างจินตนาการ บทบาทสมมติเอาเองซึ่งก็จะได้ส่งผลต่อพัฒนาการไม่สมบูรณ์แบบมากนัก
       
       แต่เหนือสิ่งอื่นใด พ่อแม่ยังเป็นคนสำคัญในการเปิดประสบการณ์การเล่นให้แก่ลูก เพราะถ้าปล่อยให้ลูกเล่นอยู่กับของเล่นอย่างเดียว เด็กจะเล่น และอยู่กับคนในสังคมไม่เป็น นี่คือสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและพัฒนาการเด็กท่านนี้เป็นห่วง
       
       "เด็กไทยจำนวนไม่น้อยถูกปล่อยให้เล่นอยู่คนเดียว บางคนอยู่กับความเครียดเสียเป็นส่วนใหญ่ ตื่นเช้าขึ้นรถไปโรงเรียน กลับมาก็ยังต้องเรียนพิเศษต่ออีก ซึ่งการชวนลูกเล่นบทบาทสมมติ สร้างสถานการณ์ขึ้นมาเล่นร่วมกัน พ่อทำอาชีพนี้ แม่ทำอาชีพนี้ เล่นไปพร้อม ๆ กับลูก ซึ่งนอกจากเด็กจะได้พัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ แล้ว ยังได้คลายเครียด และเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ทั้งนี้มีงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นระบุด้วยว่า การเล่นบทบาทสมมติ ช่วยให้เด็กกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม ดังนั้น พ่อแม่ควรเจียดเวลาเล็ก ๆ น้อย ๆ มาเล่นกับลูกบ้าง จัดหาเครื่องมือที่สร้างประสบการณ์ให้แก่พวกเขาบ้าง แล้วลูกจะสนุก และมีพัฒนาการที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เด็กปรับตัวได้ง่าย รวมทั้งเข้าใจตัวเอง และเห็นภาพตัวเองได้เร็วขึ้น ถ้าเด็กอารมณ์ดี สติปัญญาก็จะดีตามมาด้วยค่ะ" ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและพัฒนาการเด็กทิ้งท้าย


ที่มา  http://www.manager.co.th/

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X