ป้องกัน “ดวงตา” จากอุบัติเหตุรถยนต์
2014-11-23 15:29:02
Advertisement
คลิก!!!

เคยอ่านพบบทความจากสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพ ในเรื่องปัญหาสุขภาพในหัวข้ออุบัติภัยจราจรเมื่อหลายปีที่แล้วว่า... 

ทุกๆ วันประชาชนไทยเกือบ 50 คนออกจากบ้านอาจไปทำงาน ทำธุระ ท่องเที่ยว แต่ไปแล้วไปลับไม่กลับมา เป็นการเสียชีวิตระหว่างทาง หรือ ณ สถานที่อื่นที่ไม่ใช่บ้านตนเอง การสูญเสีย 50 คนใน แต่ละวันย่อมนำมาซึ่งความเสียใจ อาลัยอาวรณ์ของลูก พ่อ แม่ ญาติมิตรของเขา ในแต่ละปีพบว่ามีอุบัติภัยจราจรเกิดขึ้นกว่า 60,000-80,000 ครั้ง มี ผู้เสียชีวิต 13,000 คน บาดเจ็บอีกประมาณ 48,000 คน ประมาณกันว่ามูลค่าเสียหายเป็นเงินมหาศาล ยังไม่นับถึงความทุพพลภาพ ความปวดร้าว ทำลายความสุขของผู้ใกล้ชิดซึ่งประเมินค่ามิได้

 

มักเกิดในเวลากลางคืนจากทัศนวิสัยไม่สู้ดี 
การบาดเจ็บทางตาจาก อุบัติเหตุจราจรอาจเกิดจากแรงกระแทก (blunt trauma) จากวัสดุที่ไม่คมเป็นแรงอัดที่อาจ จะตัดลูกตาให้อวัยวะภายในดวงตาช้ำ เคลื่อนที่จากที่เดิม ทำให้ตามัวลงหรือแม้แต่เกิดการแตกของดวงตาจากแรงอัดได้ นอกจากนี้ ดวงตาอาจบาดเจ็บจากการถูกของมีคมทิ่มแทง จากเศษกระจก หน้ารถที่แตกเป็นลิ่มแหลมแทง หรือจากเหล็กที่เป็นส่วนประกอบของโครงรถที่มีหักเป็นปลายแหลม อาจมีเศษเหล็ก เศษกระจกฝังอยู่ ภายในลูกตา ซึ่งล้วนทำให้ดวงตาได้รับอันตรายมากขึ้น

 

เมื่อพบผู้ที่สงสัยว่าได้รับบาดเจ็บทางตาหลังอุบัติเหตุ ทั้งนี้ต้องผ่านการดูแลการบาดเจ็บ ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนเรียบร้อยแล้ว ในขั้นแรกผู้พบเห็นควรประเมินว่าการบาดเจ็บทางตานั้นมีการฉีกขาดของดวงตาหรือไม่ ลักษณะต่อไปนี้บ่งว่าน่าจะมีการฉีกขาดของดวงตา 

-มีบาดแผลบริเวณหน้าใกล้ๆ ดวงตา 


-มีเลือดออกบริเวณใบหน้าหรือเปลือกตาอย่างมาก 


-มีรอยฉีกขาดของเปลือกตามาถึงขอบ ซึ่งอาจถูกกระจกบาดหนังตา ถ้าเป็นแผลยาวก็น่าจะทิ่มแทงดวงตาไปด้วย 


-บริเวณเบ้าตามีกระดูกหักชัดเจน 


-หนังตาบวมมากจนมิอาจเปิดลูกตาได้ 


-มีน้ำใสๆ หรือน้ำปนเลือด ซึมออกจากดวงตา 

 

-หากสามารถเปิดตาได้ เห็นดวงตาผิดรูป ตาดำไม่กลม 


-พบของเหลว น้ำเหนียวๆ หรือวัสดุสีน้ำตาลดำบริเวณตาดำ ฯลฯ

 

หากสงสัยว่าดวงตาฉีกขาด ผู้ที่ช่วยเหลือห้ามพยายามถ่างตา เพราะอาจทำให้ดวงตาที่ฉีกขาดกว้างขึ้นไปอีก หรือทำให้อวัยวะ ภายในดวงตาทะลักออกมา หากมีเลือดออกบริเวณหนังตาไม่หยุด ให้ใช้ผ้าสะอาดกดบริเวณเลือดออกเข้ากับกระดูกเบ้าตา ห้ามกดเข้าหา ดวงตา หรือถ้าไม่แน่ใจใช้ผ้าสะอาดซับเลือดก็พอ เมื่อเลือดหยุด เช็ดขอบแผลด้วยน้ำสะอาด ปิดผ้ากอซที่ตาอย่างหลวมๆ ห้ามขยี้ตา เด็ดขาด แล้วนำส่งโรงพยาบาลทันที ถือเป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน!

 

ในกรณีที่ดวงตาไม่ฉีกขาด และผู้ประสบเหตุมีสัมปชัญญะดี ควรให้ทดสอบการมองเห็นโดยเปิดตาทีละข้าง หากพบว่ามีการเห็น ลดลงต้องปรึกษาจักษุแพทย์ทันทีเช่นกัน มีอยู่บ่อยๆ ที่ตาข้างหนึ่ง มีอันตรายอย่างรุนแรง โดยที่ตาอีกข้างยังดี ทำให้ไม่ทราบว่าตาอีกข้างผิดปกติ ทำให้พลาดการรักษาในเวลาอันควรไป

 

การบาดเจ็บทางตาจากอุบัติเหตุจราจร มีตั้งแต่บาดเจ็บเล็กน้อย ไม่มีการสูญเสียการมองเห็น ไปจนถึงมากขั้นสูญเสียการมองเห็น และที่ร้ายแรงสุดถึงขั้นต้องเอาตาออก เพราะตาบาดเจ็บอย่างมากจน มิอาจซ่อมแซมได้ การสูญเสียสายตาซึ่งทำให้อวัยวะสัมผัสที่สำคัญบกพร่องไป ย่อมทำให้ผู้นั้นมีคุณภาพชีวิตถดถอยลง การป้องกัน การสูญเสียดวงตาจากอุบัติเหตุจราจรน่าจะมีประโยชน์กว่าการมาแก้ไขทีหลัง

 

คำแนะนำในการป้องกันการสูญเสียสายตาจากอุบัติเหตุจราจร

 

-ผู้ขับขี่ทุกคนต้องมีภาวะทั้งร่างกายและจิตใจที่เป็นปกติดี ไม่มึนเมาสุราหรือยา โครงการรณรงค์เมาไม่ขับน่าจะมีประโยชน์ การ-มึนจากยาที่รับประทาน เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาคลายเครียด ฯลฯ ก็มีส่วนทำให้มึนงง ทำให้การขับขี่ไม่ปลอดภัยได้

 

-ผู้โดยสารที่นั่งหน้าคู่กับคนขับมักได้รับภยันตรายบริเวณตามากกว่า จึงต้องคาดเข็มขัดนิรภัยเสมอ

 

-ไม่ควรนำเด็กมานั่งตักผู้โดยสารที่นั่งคู่กับคนขับ

 

-สนับสนุนการใช้แว่นตาทำด้วยพลาสติก polycarbonate ที่ทนทานไม่แตกหักง่าย

 

-รถยนต์ทุกประเภทควรใช้กระจกรถแบบ laminated glass

 

-พยายามให้คำแนะนำหรือแนวทางปฏิบัติต่อสาธารณชนทาง สื่อต่างๆ เกี่ยวข้องกับวิธีการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

 

-เครื่องหมาย สัญญาณจราจร แนวเขตถนน เส้นกลางถนน ต้องทาสีให้เห็นชัดเจน และใช้สีสะท้อนแสงที่เห็นชัดในเวลากลางคืน

 

-ถุงลมนิรภัย (air bag) ซึ่งมีอยู่ในรถยนต์รุ่นใหม่ สามารถลดความรุนแรงของการบาดเจ็บก็จริงอยู่ แต่ในทางตรงข้าม บางครั้งก๊าซปริมาณมากในถุงลมนิรภัยเองอาจกระแทกถูกตา หรือมีสารเคมีออกจากถุงลม ได้แก่ sodium hydroxide, carbon dioxide, metallic oxide ทำให้ตาได้รับสารเคมีเหล่านี้เกิดภยันตรายอย่างรุนแรงได้ การศึกษาและพัฒนาถึงปริมาณของก๊าซในถุงลม ขนาดของถุงลม ความเร็วของรถที่จะทำให้ถุงลมทำงาน คงต้องทำกันต่อไปและเป็นเรื่องที่ต้องติดตามข้อมูลกันอย่างต่อเนื่อง

 

ดวงตาเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย การดูแลรักษาเป็นเรื่องจำเป็น หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นนอกจากจะเร่งตรวจดูอวัยวะอื่นแล้วห้ามละเลยที่จะตรวจดูดวงตาด้วยว่าได้รับบาดเจ็บหรือไม่ และต้องให้การปฐมพยาบาลอย่างถูกต้องและเร่งด่วน

 

 

ที่มา  http://siamdara.com/

 

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X