นำร่อง “อยุธยา-ปทุม” เกาะติดสุขภาพผู้สัมผัสแร่ใยหิน
2014-12-20 13:51:28
Advertisement
คลิก!!!

สธ.เผย "แบนแร่ใยหิน" อยู่ระหว่าง ครม.พิจารณา เตรียมทำระบบการเฝ้าระวังสุขภาพผู้ทำงานสัมผัสแร่ใยหิน พร้อมลงทะเบียนติดตามระยะยาว คาดสัปดาห์หน้านี้เริ่มดำเนินงานเชิงรุก ตรวจสุขภาพร่างกาย เอกซเรย์ปอด สภาพแวดล้อมการทำงาน นำร่องเมืองเก่าและปทุมธานี
       
       วานนี้ (19 ธ.ค.) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับหนังสือจากตัวแทนกลุ่มต่อต้านการใช้แร่ใยหินในอุตสาหกรรม ว่า เรื่องการใช้แร่ใยหินในอุตสาหกรรม ขณะนี้อยู่ในวาระการพิจารณาในระดับของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานที่ต้องร่วมกันพิจารณา ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน และ สธ. ซึ่ง สธ.ได้เสนอข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพของผู้ที่ทำงานสัมผัสแร่ใยหินเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย และในสัปดาห์หน้าจะมีการปรึกษากับทางกระทรวงอุตสาหกรรมถึงความคืบหน้าเรื่องนี้
       
       "ขณะนี้ สธ.ได้สร้างระบบการเฝ้าระวังสุขภาพผู้ที่ทำงานสัมผัสแร่ใยหินหรือผู้ที่เคยทำงานในโรงงานที่ใช้แร่ใยหิน เนื่องจากแร่ใยหินจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในทันที ส่วนโรคที่เกิดในระยะยาวในช่วง 10-20 ปี ได้แก่ พังผืดในปอด มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด เป็นต้นและได้มีการพัฒนาบุคลากรทางการการแพทย์ให้สามารถวินิจฉัยโรคที่เกิดจากแร่ใยหินให้มีความแม่นยำมากขึ้น ถือเป็นกระบวนการที่สำคัญ และขณะเดียวกันจะให้ความรู้และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับอันตรายของแร่ใยหินแก่ให้ประชาชนและคนในชุมชนได้ทราบด้วย" รมว.สาธารณสุข กล่าว
       
       ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ในส่วนของระบบการเฝ้าระวังผู้สุขภาพจะดำเนินการทั้งเชิงรับและเชิงรุกควบคู่กันไป โดยการเฝ้าระวังเชิงรับได้ให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศเฝ้าระวังผู้ที่เริ่มมีอาการเข้าข่ายป่วยด้วยแร่ใยหิน เมื่อพบผู้ป่วยให้รายงานทันที พร้อมลงทะเบียนเพื่อติดตามในระยะยาว ไม่ให้หายไปจากระบบ โดยจะติดตามตรวจสุขภาพผู้ป่วยทุกปีทั้งผู้ป่วยใหม่และผู้ป่วยเก่าส่วนการเฝ้าระวังเชิงรุกจะเน้นการตรวจสุขภาพพนักงาน และ สภาพแวดล้อมของสถานประกอบการโดยเฝ้าระวังสถานประกอบการที่มีการใช้แร่ใยหินในกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นระบบการเฝ้าระวังรูปแบบใหม่ ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมแล้วโดยจะเริ่มนำร่องที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานีในสัปดาห์หน้านี้
       
       ทั้งนี้ ข้อมูลจาก สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ขณะนี้ประเทศไทยมีสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงและอยู่ในการเฝ้าระวังของกระทรวงสาธารณสุขจำนวน16 โรงงาน มีพนักงานประมาณ 1,300 คน โดยการเฝ้าระวังระบบสุขภาพของผู้ที่ทำงานสัมผัสกับแร่ใยหิน จะตรวจสุขภาพของพนักงานในสถานประกอบการทุกคน เอกซเรย์ปอด ตรวจการทำงานของปอด ตรวจสภาพแวดล้อมการทำงานในบริเวณสถานประกอบการ พร้อมปรับให้สภาพแวดล้อมอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมลดอันตรายต่อสุขภาพผู้ทำงานสัมผัสแร่ใยหินและการขึ้นทะเบียนเพื่อติดตามอย่างต่อเนื่อง


ที่มา  http://www.manager.co.th/

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X