นักระบาดฯขาดแคลนหนัก ไทยเสี่ยงไร้คนคุมโรค
2014-12-22 13:40:08
Advertisement
คลิก!!!

       กรมควบคุมโรคเผย “นักระบาดวิทยา” ขาดแคลนอย่างหนัก ไทยเสี่ยงไร้คนควบคุมดูแลโรคระบาด เหตุคนศึกษาต่อน้อย เพราะลักษณะงานเสี่ยงสูง ค่าตอบแทนแทนและความก้าวหน้าต่ำ ขณะที่ ก.พ.ไม่ยกระดับให้เป็นระดับเชี่ยวชาญ อ้างไม่ได้ทำงานใน รพ. เตรียมทำหนังสือ “หมอรัชตะ” พิจารณา
       
       วานนี้ (21 ธ.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้กำลังคนสายงานแพทย์ด้านการป้องกันควบคุมโรคถือว่าขาดแคลน ซึ่งความเหมาะสมของการมีแพทย์ด้านระบาด คือ สัดส่วน 1 ต่อประชากร 2 แสนคน แต่ไทยกลับมีเพียง 200 คนทั่วประเทศ ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งการการวิเคราะห์สถานการณ์ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาคือ ปี 2553 - 2557 พบว่า มาจาการการที่ คร. สูญเสียแพทย์ด้านนี้เฉลี่ยปีละ 12 อัตรา แต่สรรหากลับเข้ามาได้เพียงปีละ 7.4 อัตรา โดยเฉพาะด้านระบาดวิทยากำลังมีปัญหามาก สาเหตุมาจากแพทย์ที่มาเรียนด้านนี้น้อยมาก โดย 5 ปีที่ผ่านมา มีแพทย์เข้าศึกษาต่อสาขาเวชศาสตร์ป้องกันแขนงระบาดวิทยาเพียง 21 คนเท่านั้น นับว่าเป็นจำนวนน้อยที่สุดในรอบ 35 ปี ทั้งที่ในอดีตจะมีประมาณ 22 - 30 คนต่อ 5 ปี
       
       “สถานการณ์ดังกล่าวจะเห็นว่าแนวโน้มการขาดแคลนแพทย์ด้านนี้เริ่มรุนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการป้องกันโรคภายในประเทศ เนื่องจากแพทย์ด้านระบาดวิทยา เป็นแพทย์ที่สำคัญมาก เพราะจะเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่เข้าไปสอบสวนโรค กรณีเกิดการระบาดหรือผู้ต้องสงสัยโรคติดเชื้อต่างๆ ทั้งโรคอีโบลา และภาวะโรคไม่ติดต่อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคหัวใจ หากไม่มีแพทย์กลุ่มนี้ก็จะไม่สามารถทราบว่า ขณะนี้เกิดโรคติดเชื้อ หรือโรคติดต่อใดๆ เข้ามาในประเทศไทยบ้าง” อธิบดี คร. กล่าว
       
       นพ.โสภณ กล่าวว่า สาเหตุของการขาดแคลนส่วนหนึ่ง คือ ลักษณะงานมีความเสี่ยงสูง ทำให้แพทย์ไม่อยากศึกษาต่อด้านนี้ และความก้าวหน้าในสายงานและค่าตอบแทนต่ำ เมื่อเทียบกับแพทย์ที่ปฏิบัติงานด้านการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งค่าตอบแทนห่างกันประมาณ 30,000 - 50,000 บาท ทั้งที่มีความสำคัญไม่แตกต่างกันเลย นอกจากนี้ การเลื่อนขั้นก็ยากลำบาก เพราะเคยเสนอ ก.พ. ขอให้สายงานแพทย์ด้านการป้องกันควบคุมโรค หรือนักระบาดวิทยา สามารถเลื่อนตำแหน่งจากระดับชำนาญการพิเศษ เป็นระดับเชี่ยวชาญได้ แต่ปรากฏว่า ก.พ. ระบุว่า ตำแหน่งดังกล่าวอยู่ภายในสำนักหรือกองต่างๆ ของ คร. ไม่ได้ปฏิบัติงานหลักในการให้บริการด้านสุขภาพในโรงพยาบาล จึงไม่เข้าข่าย ซึ่งเรื่องนี้ตนจะทำหนังสือถึง รมว.สาธารณสุข เพื่อขอให้พิจารณา


ที่มา  http://www.manager.co.th/

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X