ทรายสีเพลิง’:จากนวนิยายไฮคลาสสู่ละครเกรดบี!
2014-09-23 14:25:33
Advertisement
คลิก!!!

 

“...เหตุผลอีกข้อหนึ่งที่ยึดเธอไว้อย่างเหนียวแน่นก็คือ ความถือตัว นับจากวันที่เข้ามาใช้ชีวิตร่วมในสายสกุลนี้ ตัดสินใจทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามีหญิงสาวอีกผู้หนึ่งแฝงเงารอคอยอย่างเงียบ ๆ เธอตัดสินใจก้าวเข้ามาเพราะความทะนงในคุณสมบัติที่ ‘เหนือกว่า’ ของตน...

 

 

‘ทรายสีเพลิง’ จากบทประพันธ์ของปิยะพร ศักดิ์เกษม จัดได้ว่าเป็นนวนิยายน้ำดีไฮคลาสเรื่องหนึ่งของไทย มีดีกรีได้รับรางวัลชมเชยจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ปี 2537 และเคยได้รับการถ่ายทอดออกมาในรูปแบบละครมาแล้วครั้งหนึ่ง จนได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ด้วยตอบโจทย์การเข้าถึงอารมณ์ผู้ชมอย่างมีระดับ

กระทั่งพ.ศ.นี้ เรื่องราวความกระหายแห่งชัยชนะของ ‘ศรุตา’ ผ่านการใช้จริตมารยาคอยเป็นอาวุธทิ่มแทงคนรอบข้างได้กลับมานำเสนอสู่สายตาผู้ชมอีกครั้ง ทว่า ดูเหมือนความไฮคลาสที่ถูกปรุงแต่งเป็นกลิ่นไอของนวนิยายจะขาดหายไป กลายเป็นละครแนวตลาดเกรดบี?!? ที่ถูกคอหลายคน แต่อาจไม่ถูกใจคอนักอ่านที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของเรื่องนี้

ด้วยเหตุผลอันใดนั้น คงไม่ต้องสาธยายให้รับทราบอย่างละเอียด เชื่อว่าผู้สร้างอย่างเมกเกอร์ วาย คงรู้ดีว่า การปรับเปลี่ยนเรื่องราว ฉากสำคัญ ปั้นแต่งตัวละครผิดแปลก โอเวอร์ จนเกินงามนั้น แท้จริงแล้วตอบโจทย์ความต้องการของผู้ชมหรือไม่

ขอบอกคำเดียวว่า “น่าเสียดาย...”

ทั้งนี้ หากจะกล่าวถึงตัวละครที่ดูโดดเด่นนอกจากคู่พระนางแล้ว ‘เสาวนีย์’ ก็เป็นอีกตัวละครหนึ่งที่แทบไม่ค่อยได้ถูกกล่าวถึงในนวนิยายมากเท่ากับในละคร โดยส่วนใหญ่ผู้เขียนจะนำเสนอภาพภูมิหลังและความรู้สึกของผู้หญิงคนหนึ่งที่ได้ชื่อว่า ‘เมียในระบบ’ มีกิริยาอย่างถือตัว หล่อนทำทุกวิถีทางเพื่อให้ ‘ศรวณีย์’ บุตรสาวของตนเองมีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่า ‘ศรุตา’ บุตรสาวของสามีอีกคนหนึ่งที่เคยถูกตีตราเปรียบเป็นก้อนหินดินทราย และกำลังกลับมาทวงสิทธิในตระกูลสูงศักดิ์นี้

“...เหตุผลอีกข้อหนึ่งที่ยึดเธอไว้อย่างเหนียวแน่นก็คือ ความถือตัว นับจากวันที่เข้ามาใช้ชีวิตร่วมในสายสกุลนี้ ตัดสินใจทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามีหญิงสาวอีกผู้หนึ่งแฝงเงารอคอยอย่างเงียบ ๆ เธอตัดสินใจก้าวเข้ามาเพราะความทะนงในคุณสมบัติที่ ‘เหนือกว่า’ ของตน...”

เสาวนีย์ยกความถือศักดิ์ ชูคอเปรียบดั่งหงส์ขาว หากเนื้อในอย่างจิตใจกลับดำข้นดั่งน้ำเน่าถูกสื่อออกมาผ่านสายตา อารมณ์ และสีหน้าที่ฉาบด้วยรอยยิ้ม เฉกเช่นเดียวกับ ‘ศรุตา’ ซึ่งผู้เขียนให้ภาพการห้ำหั่นผ่านอารมณ์ เลห์ลวงมายา ของผู้หญิงทั้งสองคนได้อย่างดี ชวนให้ผู้อ่านได้นั่งคิดจินตนาการต่อ ถือเป็นการเชือดเฉือนภายใต้ทฤษฎี ‘สงครามเย็น’ หรือ ‘สงครามเงียบ’ ที่เฝ้ารอวันระเบิดดังเพลิงพิโรธ

“หากนี่ก็คือบทบาทที่เธอจะต้องแสดงจนสุดความสามารถ...เช่นเดียวกับที่เธอเคยแสดงได้ผลมาแล้วกับบทบาทของ ‘ภรรยาแต่ง’...ครั้งนี้ มิใช่เพื่อยึดครองชายหนุ่มเพื่อเป็นที่รักอีกต่อไป ด้วยเธอพ้นวัยแห่งความรักความใคร่ไปเสียแล้ว

...ฐานะทางสังคมที่เธอต้องยึดครอง และลูกสาวคนเดียวต่างหากที่ทำให้เธอต้องยอมทนเก็บงำความรู้สึก...”

เมื่อเสาวนีย์ถูกถ่ายทอดบทบาทสู่ละครผ่านฝีมือ ‘ตั๊ก’ มยุรา เศวตศิลา ในครั้งนี้ นับว่าฝีไม้ลายมือเด็กปั้นศิลปินแห่งชาติ ‘ดอกดิน กัญญามาลย์’ ไม่ทำให้ผิดหวัง ด้วยมาตรฐานการแสดงที่ถูกสั่งสมมาเป็นเวลานาน จากเรื่องแรก ‘แหม่มจ๋า’ ที่โด่งดังเป็นพรุแตกมาแล้ว

“ตั๊กเป็นผู้หญิงฉลาด เก่งมาก แต่ร้องไห้ไม่เก่ง เราเลยคิดว่าจะทำอย่างไรดีให้เปิดตัวมยุราอย่างครึกครื้น จึงดึงความตลกในตัวมาเป็นจุดขาย เพราะเราสามารถเปลี่ยนแปลงบทได้ให้ตรงกับบุคลิก เนื่องจากเป็นผู้เขียนบทขึ้นมาเอง...จำไว้นี่คือเคล็ดลับการสร้างคนให้เป็นที่ยอมรับ ต้องสร้างคนมาจากบุคลิกภายใน” อาจารย์ดอกดิน กล่าวกับข้าพเจ้าไว้เมื่อปี 55

นอกจากความตลกในตัวตั๊ก มยุรา แล้ว ความนิ่งสงบ แววตามุ่งมั่น ท่าทางสง่างามดั่งหงส์ ยังส่งให้เธอมีความเหมาะสมที่จะรับบทเสาวนีย์ได้อย่างไม่มีข้อสงสัย และดูเหมือนจะถ่ายทอดออกมาได้อย่างตอบโจทย์กับความร้ายลึก กิริยาถือตัว จริตมายาก้นบึ้งในจิตใจ ทว่า จะดีมากหากผู้สร้างไม่แต่งแต้มสีสันให้ตัวละครนี้กลายเป็น ‘ร้ายตลาด’ ให้เชือดเฉือนอารมณ์กับศรุตาจนอาจทำให้หมดคุณค่าในรสที่ผู้เขียนปรุงแต่งไว้

“ผู้สร้างอาจจะมุ่งหมายให้การเชือดเฉือนอารมณ์ทางวาจา ‘ตลาด’ ระหว่างเสาวนีย์กับศรุตาเป็นอีกหนึ่งจุดขายของเรื่อง เพื่อสร้างความนิยมเหมือนละครเรื่องอื่นของวิกโดยเฉพาะ หากเป็นเช่นนี้จริงคง ‘คิดผิดมหันต์’

...เพราะ ความจริงแล้ว การเชือดเฉือนผ่านคำพูดลักษณะนี้ได้ทำลายชั้นเชิงรสประพันธ์ที่ถูกวางบทบาทไว้แทบจะหมดสิ้น แม้จะไม่เสียหายมากนัก แต่ก็ทำให้ความมีระดับในตัวละครเสื่อมถอยไป”

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น จากนวนิยายระดับไฮคลาส กลายเป็นละครแนวตลาดเกรดบี?!?

ทั้งนี้ ตั๊ก มยุรา ได้ถ่ายทอดบทบาทได้อย่างดีในบริบทที่เป็นอยู่ สิ่งหนึ่งที่ต้องชมเชยและควรเอาแบบอย่าง คือ การใช้ทักษะออกเสียงภาษาไทยชัดเจนและเหมาะสม คำควบกล้ำ ร ล แทบจะไม่หลุดให้ได้ตำหนิ สิ่งนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่นักแสดงและเด็กรุ่นใหม่มักเมินเฉย

ขอชมเชยอีกครั้งหนึ่งจากใจ...

โดยภาพรวมแล้ว ‘ทรายสีเพลิง’ นับเป็นละครเรื่องหนึ่งที่มีคุณภาพและเห็นถึงความตั้งใจของผู้สร้างในการผลิตขึ้น เพียงแต่ความตั้งใจนั้นอาจจะเกินเลย มุทะลุมากไป จนทำให้คุณภาพที่ควรจะออกมามีระดับสมกับนวนิยายเรื่องนี้ถูกลดคุณค่าลงไปโดยไม่รู้ตัว

ถึงขนาดนักประพันธ์และนักเขียนบทโทรทัศน์ที่คร่ำหวอดในวงการบางคนต้องออกโรงตำหนิ

“น่าเสียดายเเท้...” .

 

http://www.sanook.com/

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X