ถึงเวลายกระดับความปลอดภัยสระว่ายน้ำสำหรับเด็ก!
2014-10-30 14:42:02
Advertisement
คลิก!!!

        สำหรับคนเป็นพ่อแม่ ความสะเทือนใจที่ได้ทราบข่าว 2 เด็กน้อยเสียชีวิตในสระว่ายน้ำย่านโชคชัย 4 คงมีไม่ต่างกัน และท่ามกลางคำตำหนิติเตียนจากคนในสังคมที่พุ่งไปยังคนเป็นพ่อแม่ว่าทำไมไม่ดูแลลูก ทีมงาน Life & Family ก็ยังเชื่อว่า ยังมีอีกหลายคนที่เข้าใจหัวอกของคนเป็นพ่อแม่ และตระหนักดีว่าเหตุการณ์เศร้าสลดเช่นนี้ ไม่มีพ่อแม่คนไหนต้องการให้มันเกิดขึ้นกับลูกของตนเองเป็นแน่แท้
       
       เพื่อที่จะก้าวข้ามความเจ็บปวด และไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้นซ้ำกับเด็กคนอื่นๆ นี่อาจเป็นโอกาสดีที่สังคมไทยจะหันมาให้ความสำคัญกับการยกระดับความปลอดภัยในการใช้สระว่ายน้ำสำหรับเด็กกันเสียที โดยผู้เกี่ยวข้องกับปัญหานี้หนีไม่พ้น พ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ให้บริการสระว่ายน้ำ และผู้ให้ความช่วยเหลือในกรณีเกิดอุบัติเหตุนั่นเอง
       
       พ่อแม่กับสิ่งที่พึงระวัง 
       
       ปฏิเสธไม่ได้ว่าพ่อแม่เป็นคนสำคัญที่สุดในประเด็นนี้เลยทีเดียว และสิ่งที่ต้องพึงระวัง - ให้ความรู้กับลูกก่อนจะพาลูกไปใช้บริการสระว่ายน้ำในอันดับต้นๆ มีดังนี้
       
       - เตรียมความพร้อมในเรื่องชุดให้ลูก ควรเลือกซื้อชุดว่ายน้ำที่ดี และมีมาตรฐานเพียงพอ เพราะปัจจุบันมีผู้ผลิตชุดว่ายน้ำสำหรับเด็กที่อาจไม่ได้มาตรฐานมาวางขายตามตลาดนัดมากมาย หากพ่อแม่ซื้อมาให้ลูกโดยไม่ได้ตรวจสอบให้ดีก็อาจทำให้ชีวิตลูกเป็นอันตรายได้ (โดยเฉพาะชุดน่ารักๆ ที่อาจมีส่วนประกอบมากเกินจำเป็น เวลาว่ายน้ำอาจพันแข้งขาเด็กได้ง่าย)
       
       - เลือกอุปกรณ์ว่ายน้ำให้เหมาะสม เช่น แว่นตา โฟม ห่วงยาง ฯลฯ ควรเลือกชนิดที่พอดีกับร่างกาย น้ำหนัก และวัยของเด็กเพื่อให้ลูกน้อยปลอดภัยที่สุดยามอยู่ในสระว่ายน้ำ
       
       - พิจารณาสุขภาพของลูก เด็กที่มีโรคประจำตัว พ่อแม่ควรแจ้งให้ครูผู้สอนทราบก่อนทำการสอน เพื่อครูจะได้ปรับการสอนให้เหมาะกับลูกของเรา มิเช่นนั้น อาจเป็นอันตรายได้ หรือในกรณีที่ลูกเป็นโรคที่แพร่เชื้อได้ หรือโรคที่น่ารังเกียจ ควรรักษาให้หายก่อนพาไปว่ายน้ำในสระว่ายน้ำสาธารณะ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจายไปสู่เด็ก และผู้ใช้สระคนอื่นๆ
       
       - ก่อนส่งลูกไปเรียนกับครู พ่อแม่อย่าลืมบอกให้ลูกเชื่อฟังคำสั่งของครู รวมถึงไม่แกล้งเพื่อนที่เรียนว่ายน้ำด้วยกัน เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตตนเองและคนอื่นๆ ได้
       
       - แจ้งลักษณะนิสัยในการเล่นน้ำของลูกที่พอทราบแก่ครู เช่น ลูกเป็นเด็กตกใจง่ายหรือไม่ เพราะเด็กบางคนเวลาสำลักน้ำอาจตื่นตกใจและคว้าคอเพื่อนที่อยู่ข้างๆ ได้ เป็นต้น
       
       นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรไปสังเกตสภาพสระว่ายน้ำ และการดูแลของผู้ให้บริการก่อนจะตัดสินใจใช้บริการ โดยมีจุดที่ควรพิจารณา ได้แก่ จำนวนเด็กต่อครูผู้สอน, การแบ่งระดับเด็กเพื่อสอน มีการจัดกลุ่มกันอย่างไร รูปแบบการเรียนการสอนเป็นอย่างไร ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม อีกทั้งในเรื่องของสภาพของอุปกรณ์การเรียนการสอน เช่น โฟม ห่วงยาง มีสภาพชำรุดหรือไม่ ระบบรักษาความปลอดภัยของสระว่ายน้ำ มีการ์ดมากน้อยแค่ไหน มีกล้องวงจรปิดหรือไม่ ระดับความลึกของสระว่ายน้ำที่ใช้สอนลูกนั้นลึกเท่าไร เหล่านี้พ่อแม่ก็ต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน


        เอาชีวิตรอดจากการจมน้ำสำคัญที่สุด
       
       อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดมีเด็กจมน้ำขึ้นมานั้น การช่วยชีวิตเด็กเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งในจุดนี้ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับเด็กเอาไว้ดังนี้
       
                 1.รีบนำเด็กขึ้นจากน้ำให้เร็วที่สุด
                 2.แจ้ง 1669 หรือ หน่วยพยาบาลใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด
                 3.ห้ามจับเด็กที่จมน้ำอุ้มพาดบ่าหรือวางบนกระทะคว่ำเพื่อเอาน้ำออกเพราะไม่ได้ประโยชน์และจะทำให้เด็กขาดอากาศหายใจนานยิ่งขึ้น
                 4.วางเด็กลงบนพื้นแห้ง แข็ง ถอดเสื้อที่เปียกออก เช็ดตัวเด็กให้แห้งเท่าที่จะทำได้
                 5.หากเด็กไม่รู้สึกตัว ให้คลำชีพจรบริเวณคอ (เด็กโต) หรือ บริเวณข้อศอก (เด็กเล็ก)
                 6.หากไม่พบว่ามีชีพจร หรือ ไม่แน่ใจว่ามีชีพจร ให้เริ่มนวดหัวใจ โดยวางสันมือบริเวณกลางหน้าอก ต่ำกว่าราวนมเล็กน้อย กดหน้าอกให้ยุบลงไปประมาณ 1 ใน 3 ของความหนาของหน้าอก ด้วยอัตราอย่างน้อย 100 ครั้ง/นาที ทำติดต่อกัน 30 ครั้ง จากนั้นบีบจมูกและเป่าปากพอให้หน้าอกยกขึ้น 2 ครั้ง และรีบนวดหัวใจต่อ ทำสลับกันในอัตราส่วน 30:2 ติดต่อกัน 5 ชุด (หรือประมาณ 2 นาที)
                 7.เมื่อครบ 2 นาทีแล้ว ให้ตรวจคลำชีพจรอีกครั้ง หากมีชีพจร หรือ เริ่มหายใจได้เอง ให้หยุดนวดหัวใจ จัดท่านอนตะแคงเพื่อเปิดทางเดินหายใจ และรีบนำส่งโรงพยาบาล
                 8.หากยังไม่มีชีพจร หลังครบ 2 นาที ให้นวดหัวใจ สลับเป่าปาก ต่อไปเรื่อยๆ และตรวจชีพจรซ้ำอีกครั้ง เมื่อครบ 2 นาที ทำซ้ำไปจนกว่าจะมีทีมแพทย์มาช่วยเหลือ หรือ จนกว่าเด็กจะเริ่มรู้สึกตัว
                 9.ใช้ผ้าคลุมผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความอบอุ่น อย่าให้กินอาหารและดื่มน้ำทางปากถ้ายังไม่หายใจ ต้องช่วยเป่าปากสลับกับนวดหัวใจไปด้วยกัน
                10.สุดท้ายควรส่งผู้ป่วย ที่จมน้ำไม่ว่าจะมีอาการหนักเบาเพียงใด ไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลทุกราย ในรายที่หมดสติและหยุดหายใจ ให้ผายปอดด้วยวิธีเป่าปากไปตลอดทาง อย่ารู้สึกหมดหวังแล้วหยุดให้การช่วยเหลือ
       
       ผู้ให้บริการสระว่ายน้ำกับความปลอดภัยที่สร้างได้


      สุดท้ายกับประเด็นการสร้างความปลอดภัยภายในสระว่ายน้ำ ทีมงาน Life & Family ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณประภัสสร ชาญณรงค์ อดีตวิศวกรโยธา ซึ่งปัจจุบันผันตัวมาเป็นกรรมการบริหารศูนย์ว่ายน้ำสำหรับเด็กทารกและเด็กเล็ก BABY POOL โดย คุณประภัสสรได้ให้คำแนะนำที่น่าสนใจอย่างยิ่ง อีกทั้งยังสามารถตอบโจทย์ในเรื่องความปลอดภัยในการใช้สระว่ายน้ำได้เป็นอย่างดี ส่วนจะประกอบด้วยปัจจัยใดบ้างนั้น ไปติดตามกันเลยค่ะ
       
       “การยกระดับด้านความปลอดภัยในการใช้สระว่ายน้ำสำหรับเด็กนั้น เริ่มแรกควรคำนึงถึงการเข้าใช้งาน ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย เช่น สระว่ายน้ำบางแห่ง มีรั้วเตี้ยๆ กั้น เด็กอาจปีนรั้วเข้ามาแอบเล่นน้ำได้โดยที่ผู้ให้บริการไม่ทราบ ดังนั้น ผู้ให้บริการควรออกแบบสระว่ายน้ำให้เป็นระบบปิด มีรั้วรอบขอบชิด มีประตูทางเข้าที่ชัดเจน มีการมอนิเตอร์ผู้ใช้บริการตลอดเวลา ก็จะช่วยยกระดับความปลอดภัยได้มากขึ้นแล้ว
       
       ประเด็นต่อมา ระหว่างการเล่นน้ำ เราจะดูแลเด็กได้อย่างไรให้ปลอดภัย ในจุดนี้ ควรมีครูผู้สอน หรือการ์ดอยู่ในสระว่ายน้ำตลอดเวลา รวมถึงมีการติตตั้งระบบกล้องวงจรปิดเพื่อมอนิเตอร์สถานการณ์ต่างๆ อยู่ตลอด ยกตัวอย่างสระว่ายน้ำของ BabyPool เรามีกล้อง CCTV ติดตั้งภายในสระและลิงค์ไปยังส่วนของเคาท์เตอร์หน้าสระว่ายน้ำ เพื่อที่ว่านอกจากจะมีครูดูแลในสระแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่จากหน้าเคาท์เตอร์คอยช่วยมอนิเตอร์ด้วยอีกส่วนหนึ่ง
       
       ประเด็นที่สามที่ผมขอหยิบยกขึ้นมาก็คือ ขนาดของสระว่ายน้ำต้องสัมพันธ์กับครูผู้สอน และจำนวนผู้ใช้สระ เพราะถ้าหากสระว่ายน้ำมีขนาดใหญ่เกินไป ก็จะเกิดปัญหาดูแลไม่ทั่วถึงขึ้นได้ ประเด็นต่อมา คือ การให้ความรู้กับผู้ปกครอง ผู้ให้บริการสระว่ายน้ำ และครูสอนว่ายน้ำควรมีการให้ความรู้กับผู้ปกครอง เพราะเราทุกคนทราบดีว่า มันประมาทไม่ได้ เผลอเพียงนิดเดียวก็อาจเกิดโศกนาฏกรรมขึ้นได้ ดังนั้น พ่อแม่จึงควรนั่งอยู่ข้าง ๆ จะได้คอยดูแลช่วยเหลือทัน หรืออย่างน้อยก็เป็นกำลังใจให้ลูกก็ยังดี
       
       ประเด็นสุดท้าย ก็คือ หลักสูตรการเรียนการสอน ครูผู้สอนควรฝึกให้เด็กสามารถเอาตัวรอดหากจมน้ำ เช่น การสอนให้ลอยตัวในน้ำ หรือการว่ายกลับเข้าหาฝั่ง เพราะเด็กบางคนที่ไม่เคยจมน้ำจะรู้สึกตกใจและอาจสำลักน้ำได้หากไม่เคยได้รับการฝึกมาก่อนนั่นเอง
       
       นอกจากนี้ คุณประภัสสร ยังนำเสนออีกหนึ่งแนวทางที่น่าสนใจที่น่านำมาประยุกต์ใช้กับสระว่ายน้ำในประเทศไทย ก็คือ การคลุมสระว่ายน้ำด้วยวัสดุที่แข็งแรงทนทานเมื่อไม่มีการใช้งาน
       
       “นึกภาพของประตูม้วนออกไหมครับ เป็นลักษณะคล้ายๆ แบบนั้น คือพอจะใช้งานก็เลื่อนเปิดออก พอไม่ใช้งานสระว่ายน้ำก็เลื่อนมาคลุมไว้ ถ้าเราสามารถประยุกต์ใช้กับสระว่ายน้ำได้ ก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับเด็กๆ ได้อีกระดับหนึ่ง เพราะนั่นหมายความว่า นอกเวลาการเปิดให้บริการ สระก็จะถูกปิด ไม่สามารถลงเล่นได้นั่นเอง”
       
       อย่างไรก็ดี จากข้อมูลสถิติของการเสียชีวิตในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีของไทย พบว่า เสียชีวิตจากการจมน้ำมาเป็นอันดับหนึ่ง มากกว่าอุบัติเหตุจราจรถึง 2 เท่า และมากกว่าไข้จากไวรัสและไข้เลือดออกถึง 24 เท่า ซึ่งข้อมูลนี้ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้พ่อแม่ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการฝึกลูกให้ว่ายน้ำเป็น และพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว แต่คงจะดีกับครอบครัวไทยยิ่งกว่า หากการฝึกว่ายน้ำของเด็กๆ นั้นจะได้รับความใส่ใจในด้านความปลอดภัยจากทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งผู้เป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ประกอบการสระว่ายน้ำ และผู้ใหญ่ทุกคน เพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กๆ
       
       ...ลูกของพ่อแม่ ...
       ...หลานของพี่ป้าน้าอา...
       ...อนาคตของชาติ...
       ...บุคลากรคนสำคัญของประเทศไทย...



ที่มา  http://www.manager.co.th/

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X