ตะลึง!ค่ารักษา "ภูมิแพ้" 24% ของรายได้พ่อแม่
2014-11-28 14:40:58
Advertisement
Pyramid Game

        ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันมีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่ต้องกังวลใจจากการมีลูกป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ โรคที่อุบัติการณ์ผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเด็กแรกเกิด - 5 ปี ที่สำคัญ โรคดังกล่าว ยังสามารถดึงเงินออกจากกระเป๋าสตางค์ของพ่อแม่ชาวไทยได้มหาศาล อ้างอิงจากการศึกษาล่าสุดในไทย โดย รศ.พญ.จรุงจิตร์ งามไพบูลย์ หัวหน้าหน่วยโรคภูมิแพ้และวิทยาภูมิคุ้มกัน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ระบุว่า อาการแพ้นมวัวในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ก่อให้เกิดค่ารักษาต่อคนต่อปีได้กว่า 60,000 บาท หรือคิดเป็นราว 24% ของรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเลยทีเดียว
       
       รศ.พญ.จรุงจิตร์ งามไพบูลย์ เจ้าของผลการศึกษาเรื่อง "ต้นทุนการรักษาโดยตรงของโรคภูมิแพ้ในเด็กแรกเกิด - 5 ปี" เผยว่า "อาจเป็นเพราะว่า คนไทย - คนเอเชีย ไม่ได้มีค่านิยมดื่มนมต่างน้ำเหมือนในต่างประเทศ ซึ่งเมื่อผู้หญิงในต่างประเทศตั้งครรภ์ เขาก็บริโภคนมไม่ต่างจากเดิม แต่คนไทยเมื่อตั้งครรภ์เราบริโภคนมกันมากขึ้น เพราะเราได้ข้อมูลว่า ตอนท้อง ร่างกายต้องการแคลเซียมมากขึ้นเพื่อไปบำรุงลูกในท้อง อีกทั้งในนมสำหรับแม่ตั้งครรภ์มีการเติมสารอาหารบางอย่าง เช่น กรดโฟลิก แคลเซียม จึงเป็นความเข้าใจของแม่ตั้งครรภ์ที่ทำให้เกิดการบริโภคนมชนิดดังกล่าวมากขึ้น"
       
       "ปัญหาก็คือ เมื่อก่อนท้องไม่ทำ แต่พอท้องมาทำ นั่นช่วยเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่เด็กในครรภ์จะป่วยด้วยโรคภูมิแพ้นมวัวให้มากขึ้นนั่นเอง"
       
       สำหรับการรักษาด้วยยารักษาภาวะโรคภูมิแพ้นั้นส่วนใหญ่มีเป้าหมายเพื่อควบคุมอาการและป้องกันการเป็นซ้ำจึงมีความจำเป็นต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องในระยะยาวถ้ายังไม่สามารถจัดการกับต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการได้ จากการศึกษาพบว่าผลลัพธ์จากการใช้ยาเป็นองค์ประกอบที่ใหญ่ที่สุดของต้นทุนการรักษาโดยตรงคิดเป็นราว 46% ส่งผลให้ต้นทุนค่ารักษาสูงขึ้น ดังนั้นการป้องกันโรคภูมิแพ้ตั้งแต่เริ่มแรก คือตั้งแต่วัยแรกเกิดจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด อีกทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการรักษาโรคภูมิแพ้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นก็คือ การให้เด็กได้รับนมแม่อย่างน้อย 6 เดือนแรกของชีวิต เนื่องจากนมแม่เป็นสารอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก พร้อมทั้งยังประกอบไปด้วยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี และยังช่วยลดการสัมผัสกับโปรตีนแปลกปลอมจากนมวัว มีประสิทธิภาพในการป้องกัน การเกิดโรคภูมิแพ้ได้ รวมไปถึงสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วนที่ทารกพึงจะได้รับ เพื่อสุขภาพและพัฒนาการที่ดีสมวัย



       ผลการศึกษาโดย รศ. พญ. จรุงจิตร์ โดยการสนับสนุนของ สถาบันโภชนาการเนสท์เล่ ชี้ให้เห็นถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นต่อแต่ละครัวเรือนเพื่อรักษาโรคภูมิแพ้ในบุตรหลานวัยแรกเกิด- 5 ปี มีดังนี้
       
       (1) ค่ายาที่ใช้ในการรักษา 46%
       (2) ค่าใช้จ่ายแบบผู้ป่วยใน 37%
       (3) ค่าใช้จ่ายแบบผู้ป่วยนอก 12% และ
       (4) ค่าใช้จ่ายในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 5%
       
       ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการรักษาเฉลี่ยอยู่ที่ 5,432 บาท – 64,383 บาทต่อคนต่อปี โดยค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงสุดมาจากการรักษาโรคแพ้นมวัวในเด็ก คือ 64,838 บาท หรือคิดเป็น 24% ต่อปีจากรายได้เฉลี่ยรวมต่อครัวเรือน ตามด้วยโรคหวัดเรื้อรัง 12,669 บาท โรคหอบหืด 9,633 บาท และโรคผื่นแพ้ผิวหนัง 5,432 บาท 
       
       ข้อมูลจากผลการวิจัยยังระบุว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมสูตรย่อยสลายโปรตีนบางส่วน (Partially Hydrolyzed) ในช่วง 4 เดือนแรก มีผลลัพธ์ในเชิงป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโรคผื่นแพ้ผิวหนัง ซึ่งมีการติดตามผลการศึกษาถึง 6 ปี ก็ยังได้ผลอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับทารกที่เลี้ยงด้วยนมวัวสูตรปรกติด้วย
       
       โรคภูมิแพ้ในเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 5 ปีในประเทศไทยนั้น มีความสัมพันธ์กับค่าใช้จ่ายโดยตรงทางด้าน- การรักษาพยาบาล โดยค่าใช้จ่ายเหล่านี้สามารถลดลงได้ด้วยการป้องกันโรคภูมิแพ้ตั้งแต่เริ่มแรก ด้วยการให้โภชนาการที่เหมาะสม คือ การให้เด็กได้รับนมแม่อย่างน้อย 6 เดือนแรก เนื่องจากนมแม่เป็นสารอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก พร้อมทั้งยังประกอบไปด้วยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี และยังช่วยลดการสัมผัสกับโปรตีนแปลกปลอมจากนมวัว รวมไปถึงสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วนที่ทารกจะได้รับ
       
       ในกรณีเด็กที่มีความเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้สูง (มีประวัติครอบครัวที่เป็นโรคภูมิแพ้) และไม่สามารถให้นมแม่ได้ ควรเลือกใช้นมผงสูตรพิเศษ H.A. ในช่วง 4-6 เดือนแรก ซึ่งมีผลการวิจัย GINI (German Infant Nutritional Intervention) จากประเทศเยอรมันยืนยันว่า นมสูตรพิเศษที่มีโปรตีน-เวย์ 100% ที่ผ่านกระบวนการย่อยโปรตีนบางส่วน มีประสิทธิภาพในการช่วยลดความเสี่ยงใน การเกิดโรคภูมิแพ้แก่ทารกกลุ่มที่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวได้ในระยะยาว
       
       อย่างไรก็ดี ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เลย หากทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไม่ให้ความสำคัญ หรือพยายามจะฝ่าฝืนด้วยการป้อนอาหารที่เด็กแพ้ให้ทดลองชิมอยู่เรื่อย ๆ โดยเชื่อว่า หากทดลองชิมบ่อย ๆ จะทำให้เด็กหายแพ้ไปได้เอง เพราะสุดท้ายแล้ว การกระทำเช่นนั้นอาจนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาที่เพิ่มสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น อีกทั้งยังเป็นอันตรายต่อชีวิตของเด็กในกรณีที่เกิดการแพ้อย่างรุนแรงด้วย


ที่มา  http://www.manager.co.th/

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X