ความน่าสนใจในซีรีส์หมอญี่ปุ่น
2014-12-14 15:58:42
Advertisement
คลิก!!!

 

สำหรับละครญี่ปุ่น นอกจากละครแนวสืบสวนสอบสวนแล้ว ซีรีส์แนวหมอๆ ก็เป็นแนวที่ได้รับความนิยมแบบสุดๆ บางเรื่องถึงกับสร้างออกมาแล้วหลายต่อหลายภาค ซีรีส์แนวหมอถือว่าเป็นแนวละครที่มีความโดดเด่น น่าสนใจ และทำออกมาได้ดีเลยทีเดียวก็ว่าได้ 



สัปดาห์นี้จะมาเล่าให้ฟังค่ะว่า ในละครแนวหมอที่ฮิตๆ กันในญี่ปุ่นนี่ เขามีอะไร คนถึงได้ติดกันงอมแงม ตามมาอ่านความน่าสนใจของละครแนวนี้กันเลยค่ะ

1. ความรู้ด้านการแพทย์
แน่นอนว่าเป็นละครแนวหมอๆ ก็ต้องแฝงความรู้เกี่ยวกับทางด้านการแพทย์ด้วย ธีมหลักของละครหมอญี่ปุ่นก็คือ “การรักษา” และ “อุดมการณ์ทางการแพทย์” ในละครเราก็จะได้รู้จักกับโรคต่างๆ มากมายค่ะ บางโรคนี่เราอาจจะไม่ค่อยคุ้นกันเลยก็มี และความรู้ทางการแพทย์ไม่ใช่เรื่องง่ายค่ะ พอมาทำเป็นละคร ก็ต้องทำให้เรื่องยากๆ พวกนี้ สามารถเข้าใจได้ง่าย ถ้าจะยัดวิธีการรักษาในบทพูดก็คงจะยากเกินไป ในละครแนวหมอก็มักจะมีชาร์ต หรือภาพจำลองประกอบการอธิบายด้วย แบบนี้...


 

ภาพนี้จากเรื่อง Dr.X ภาค3 ค่ะ เป็นตอนที่จู่ๆ หัวใจของคนไข้ก็หยุดเต้นขณะผ่าตัด ทีมแพทย์กำลังจะไปปั๊มหัวใจ แต่เจ๊มิจิโกะ หมอฟรีแลนซ์ฝีมือดีกลับบอกว่าห้ามทำแบบนั้น และให้ผ่าตัดหลอดเลือดคาโรติคแทน เพราะเจ๊เขาสังเกตเห็นว่าคนไข้จะเกิดภาวะหลอดเลือดโป่งพองแตก ทางที่ดีอย่าให้หัวใจเต้น และอย่าให้เลือดมันสูบฉีดดีกว่า ระหว่างการอธิบายก็จะมีภาพประกอบให้เห็นค่ะว่า ถ้าไปทำให้หัวใจเต้น หลอดเลือดจะแตกได้ยังไง

   บางทีก็จะมีศัพท์ทางการแพทย์โผล่มาตามบทพูดของตัวละครหมอค่ะ อย่างเช่นแบบนี้...


ผ่าตัดแบบ on beat ก็คือ ผ่าตัดทั้งๆ ที่หัวใจยังเต้นอยู่ ไม่ได้ผ่าโดยเปิดเครื่องปอดหัวใจเทียมซึ่งเป็นการผ่าแบบหยุดหัวใจเอาไว้ คนไข้จะมีชีพจร และมีเลือดสูบฉีดได้โดยอาศัยเครื่องปอดหัวใจเทียม ซึ่งการผ่าตัดแบบ on beat มีความเสี่ยงต่อชีวิตมากกว่า


2. การผ่าตัดที่สมจริง
ละครแนวหมอของญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเน้นไปทางศัลยแพทย์ หรือแพทย์ผ่าตัดค่ะ อาการของคนป่วยในเรื่องก็มักจะอยู่ในขั้นโคม่า หรือเป็นโรคร้ายแรงที่ต้องได้รับการผ่าตัดเท่านั้นถึงจะหายได้ และฉากผ่าตัดที่ว่านี้ถือว่า เป็นฉากสำคัญของละครแนวนี้เลยค่ะ จุด Climax ลุ้นกันตัวโก่งก็อยู่ในฉากนี้ด้วยเช่นกัน 

ส่วนการถ่ายทำฉากผ่าตัดที่ว่านี้ ไม่ใช่แค่ว่าถ่ายไปที่อุปกรณ์ผ่าตัด มือหมอที่กำลังผ่าอะไรบางอย่างแบบยุกยิกๆ โดยมีผ้ากั้น แต่พี่ยุ่นทำล้ำกว่านั้นค่ะ “ให้เห็นกันสดๆ ไปโล้ดดดด” ตั้งแต่ขั้นตอนการเอามีดผ่าลงบนหน้าท้องจนเปิดออก เห็นไส้ เห็นพุง ม้าม ตับ ปอด หัวใจ ผสมเลือดแบบสีแดงสดๆ ค่อนข้างเป็นภาพที่น่ากลัวเหมือนกันค่ะ (เลยขอไม่อนุญาตเอาภาพมาลงประกอบนะคะ) แต่เป็นฉากสำคัญที่คนดูอย่างเราๆ พลาดไม่ได้ค่ะ ข้ามไปนี่ถึงกับดูไม่รู้เรื่องเลย มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในห้องผ่าตัดค่ะ 

พอดูไปเรื่อยๆ ก็จะค่อยๆ เริ่มชินค่ะ จากที่ดูน่ากลัวในตอนแรก เราก็จะดูในเชิงศึกษา ดูวิธีในการผ่าตัดไป จนชินตาไปเอง  ดูไปจนรู้สึกเลยว่า ดูได้ขนาดนี้ ถ้าเกิดได้มีโอกาสเรียนหมอ การผ่าตัดคงไม่ใช่สิ่งที่เราต้องกลัวอีกต่อไป (แต่ไปเจอของจริงก็อาจจะสั่นได้ค่ะ ฮา)


3. ความสนุก ลุ้นจนนั่งไม่ติด
ที่ละครแนวหมอได้รับความนิยมก็มีส่วนมาจากการดำเนินเรื่องที่ตื่นเต้น ชวนให้ติดตามค่ะ โดยเฉพาะฉากที่อยู่ในห้องผ่าตัด เหมือนเป็นภาวะความเป็นความตายของคนไงค่ะ มันเลยเป็นสถานการณ์ที่คนดูอย่างเราต้องคอยลุ้นเอามากๆ ว่า หมอในเรื่องจะผ่าสำเร็จไหม คนไข้จะรอดหรือตาย สิ่งเหล่านี้อยู่แค่ที่ปลายมีดเท่านั้น

ขนบที่เจอประจำก็จะประมาณว่าตัวละครเอกมักจะเจอกับเคสการรักษายากๆ ดูจะไม่มีทางรักษาให้หายได้เลย แต่ก็ต้องทำการรักษาต่อไป หมอก็จะลงมือผ่าตัด คนดูก็จะต้องคอยลุ้นไปค่ะว่า จะผ่าตัดสำเร็จไหม พอผ่าไปเรื่อยๆ ก็จะชอบมีเหตุขัดข้องเกิดขึ้น ทำให้คนดูต้องลุ้นกันตัวโก่งว่าจะลงเอยอย่างไร 

ฉากแบบนี้ก็อย่างเช่น เรื่อง Iryu ภาค 4 ตอนแรกเลย ที่หมออาซาดะตัวเอกของเรื่องต้องผ่าตัดท่ามกลางอุปกรณ์แพทย์ที่ไม่ทันสมัย ไม่เหมาะกับอาการป่วยของคนไข้ จู่ๆ ก็มีคนไข้ฉุกเฉินอีกรายเข้ามา ทำให้ทีมแพทย์ดราก้อนต้องแยกทีมกัน วิสัญญีแพทย์ที่มีเพียงแค่ 1 คน ต้องวิ่งไปวิ่งมา ดูแลคนไข้ทั้ง 2 ห้อง เท่านี้ยังไม่พอค่ะ คนไข้แต่ละคนก็จะเจออุปสรรคในการผ่าตัดด้วย มิหนำซ้ำ ไฟดับค่ะ! ไฟฟ้าถือเป็นสิ่งสำคัญในการผ่าตัดมาก อุปกรณ์ทุกอย่างจำเป็นต้องใช้ไฟ อย่างน้อยก็ต้องใช้แสงไฟในการส่องดูภายในร่างกายเวลาผ่าตัด เจอแบบนี้เข้าไปคนดูถึงกับลุ้น ตื่นเต้นไปตามๆ กัน  

ผ่าตัดกันไปทั้งๆ ที่ไฟดับนี่แหละค่ะ จะผ่าผิดผ่าถูกไหมเนี่ย ต้องลุ้นกันไป


4. ปลุกพลังใจ


แม้จะเป็นละครแนวหมอๆ ก็ปลุกพลังใจให้คนดูได้เป็นอย่างดีค่ะ อาชีพหมอเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ต้องอาศัยความเพียรพยายาม ความเชื่อมั่น และความเป็นทีมอย่างมาก ทำให้ละครแนวนี้ได้ถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกมาได้ดี ทำให้คนดูได้เห็นถึงความพยายาม ความตั้งใจที่นำไปสู่ความสำเร็จค่ะ


5. ความรู้สึกที่ว่าโตขึ้นแล้วอยากเป็นหมอ
นอกจากละครแนวหมอจะให้ความรู้ด้านการแพทย์แล้ว ยังสร้างแรงบันดาลใจให้คนดูอยากเป็นหมออีกด้วย แรงบันดาลใจที่ว่านี้ก็ไม่ได้โมเมมาจากความรู้สึกส่วนตัวนะคะ เพราะละครญี่ปุ่นแนวหมอบางเรื่องก็มีจุดประสงค์เพื่อจุดแรงบันดาลใจให้คนในประเทศญี่ปุ่นหันมาเป็นหมอกันมากขึ้นจริงๆ 



อย่างเช่น เรื่อง “Code Blue” หมอกู้ภัยเฮลิคอปเตอร์ ในช่วงที่สร้างละครเรื่องนี้ อาชีพหมอกู้ภัยทางเฮลิคอปเตอร์กำลังขาดแคลนค่ะ ญี่ปุ่นเลยสร้างละครเรื่องนี้ขึ้นมาให้ผู้คนได้หันมาสนใจอาชีพนี้กันมากขึ้น

เรื่องราวชีวิตของคนไข้ ก็ทำให้คนดูได้ตระหนักถึงความสำคัญของชีวิต และอาชีพ “หมอ” คืออาชีพที่ทำให้ชีวิตและอนาคตของคนคนหนึ่งสามารถก้าวเดินต่อไปได้

“หมอ” ที่ไม่ได้มีหน้าที่แค่รักษาเพื่อให้ได้เงิน แต่ต่อชีวิตของผู้คนให้ยังสามารถดำเนินต่อไป


นี่คือจุดเด่นๆ ที่เราจะพบได้ในละครแนวหมอค่ะ ซึ่งแต่ละเรื่องก็จะมีการพลิกแพลงบท เพิ่มความยากของการรักษาไป รวมถึงพล็อต ปมขัดแย้งของตัวละครให้มีความสนุกมากขึ้น 

ละครแนวหมอก็คือละครแนวอาชีพอย่างหนึ่งที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับอาชีพของหมอให้คนดูได้เห็นและได้ทำความรู้จัก ไม่ได้เน้นที่ความสนุกเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ทั้งความรู้พร้อมแรงบันดาลใจ สร้างฝันให้กับใครต่อหลายคนได้เลยทีเดียวค่ะ 



เรื่องโดย : ChaMaNow www.marumura.com

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X