ความจริง 6 ประการ สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ให้เกาหลี
2014-10-24 13:30:59
Advertisement
คลิก!!!

ห้องเรียนไฮเทคของเด็กเกาหลีใต้

        หากจะกล่าวถึงประเทศที่เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ในภูมิภาคเอเชีย นอกจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว คงลืมชื่อของ "สาธารณรัฐเกาหลีใต้" ไปไม่ได้ เพราะในวันนี้ เกาหลีใต้กลายเป็นผู้นำในด้านการศึกษาของภูมิภาคนี้ไปแล้วอีกหนึ่งประเทศอย่างน่าภาคภูมิ

        สาเหตุที่ทำให้กระแส "สังคมแห่งการเรียนรู้" ของประเทศนี้จุดได้ติดจริง ๆ นั้นอาจมีเงื่อนไขมาจาก
       
       1. คนเกาหลีส่วนใหญ่ยังนับถือในลัทธิขงจื้อ (Confucianism) ที่ยึดถือและยกย่องผู้มีความรู้ ดังนั้น อาชีพครู จึงเป็นอาชีพที่มีเกียรติควรได้รับการยกย่องในทุกยุคทุกสมัย ไม่ต่างจากสังคมไทย
       
       2. ผู้ที่เป็นพ่อแม่จากยุคเบบี้บูมในต้น ค.ศ. 1960 ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างการเริ่มต้นพัฒนาประเทศ เป็นผู้ที่รู้ซึ้งถึงการขายแรงงานเพื่อนำมาซึ่งรายได้เลี้ยงปากท้องของครอบครัว เมื่อมีโอกาส จึงไม่อยากให้ลูกหลานต้องใช้แรงงานดังเช่นตนอีก ดังนั้นจึงทุ่มงบประมาณไม่อั้นเพื่อสนับสนุนการศึกษาในทุกๆ ด้านของลูก จึงเป็นเหตุให้สถานเรียนพิเศษนอกโรงเรียนของเกาหลีผุดขึ้นเป็นดอกเห็น (เฉกเช่นเดียวกับที่สังคมไทยประสบอยู่ในปัจจุบัน)
       
       3. เมื่อครั้งวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง (Tom yam kung Crisis) ของประเทศไทยในทศวรรษก่อน ที่ส่งผลกระทบไปถึงเพื่อนเอเชียรวมทั้งเกาหลีด้วย องค์กรกึ่งเอกชนระดับประเทศที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้อย่าง "ซัมซุง" ต้องประกาศปลดคนงานนับครึ่งหมื่น จึงสร้างความวิตกกังวลให้กับคนรุ่นใหม่ และขณะเดียวกันก็ได้สร้างค่านิยมใหม่ว่างานแบบข้าราชการอาจจะเป็นที่ ๆ เหมาะสมที่สุด เพราะมีแต่โอกาสเติบโต และมีรายได้ที่มั่นคง ตั้งแต่นั้น จึงทำให้การเลือกเป็นครูในสถาบันการศึกษาของรัฐ เป็นหนึ่งในตัวเลือกต้น ๆ ของสตรีชาวเกาหลีจนถึงปัจจุบัน เพราะเป็นงานที่มีวันหยุดที่แน่นอน รายได้มั่นคง และมีหน้ามีตาในสังคม (และแนวคิดนี้ก็สอดคล้องกับเยาวชนรุ่นใหม่ในจีนแผ่นดินใหญ่เช่นกัน แต่จุดที่ต่างจากสังคมไทยคือ ข้าราชการครูในไทยมีอัตราเงินเดือนที่ไม่สู้ดีนัก จึงทำให้คนรุ่นใหม่สนใจที่จะทำงานกับภาคเอกชนเสียมากกว่า) เมื่อมีบุคลากรครูมาก ก็ย่อมนำมาซึ่งการแข่งขันในการพัฒนาคุณภาพการสอนตามไปด้วย ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อเยาวชนในที่สุด
       
       4. ต้องยอมรับว่าประเทศเกาหลีใต้ มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งจนถึงปัจจุบันได้ เป็นเพราะการส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณภาพสูงไปทั่วโลก อาทิ ตราสินค้า ซัมซุง แอลจี ฯลฯ ในทางกลับกันการบริโภคสินค้าเหล่านี้ในประเทศ ย่อมสามารถเข้าถึงได้ในราคาที่ถูกกว่าประเทศที่พึ่งพิงการนำเข้าสินค้าไฮเทคเหล่านี้อย่างประเทศไทย จึงส่งผลให้ทุกห้องเรียนในเกาหลี มีอุปกรณ์ไอทีและอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสื่อการสอนอย่างทั่วถึง
       
       5. ประเทศเกาหลี เป็นประเทศเดียวในโลก ที่มีระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วที่สูงกว่า 10 เมกะบิต (ความจริงคือ ค่าเฉลี่ยของอินเทอร์เน็ตทั้งประเทศอยู่ที่ สุด 14.6 เมกะบิต) และปัจจุบันก็ถือว่าเป็นประเทศที่มีอินเทอร์เน็ตที่เร็วที่สุดในโลก แซงหน้าญี่ปุ่นที่อยู่ในระดับเฉลี่ย 9 เมกะบิต และทิ้งห่างค่าเฉลี่ยความเร็วอินเทอร์เน็ตของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่อยู่ที่ 1.7 เมกะบิต (ส่วนไทยเราเองเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยที่ 3 เมกะบิต)
       
       6. ปัจจัยที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ นโยบายเรียนฟรีทุกโรงเรียน (ทั้งรัฐและเอกชน) ในระดับประถมศึกษา รวมถึงรับประทานอาหารกลางวันฟรีด้วย โดยมีข้อแม้ว่าเด็กจะต้องเรียนโรงเรียนที่ใกล้บ้านเท่านั้น เพื่อสุขภาวะที่ดีต่อการเรียนรู้ 

       
       วรมน ดำรงศิลป์สกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อใหม่ บริษัท ไทยเดย์ ดอท คอม จำกัด หนึ่งในคณะศึกษาดูงานด้านการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ณ สาธารณรัฐเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า "ในช่วงปี ค.ศ. 1960-1990 เกาหลีเป็นหนึ่งใน 4 ประเทศเสือแห่งเอเชีย ที่มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ สิ่งที่ได้รับการพัฒนาไปพร้อมๆ กันก็คือ คุณภาพการศึกษา และทักษะแรงงานของประชากร โดยหลังจากที่รัฐบาลเกาหลีได้สร้างปฐมบทแห่งการเรียนรู้สาธารณะทางไซเบอร์สเปซได้มีการเปิดตัวเว็บไซต์ EDUNET.or.kr ขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1996 เพื่อเป็นศูนย์กลางของข้อมูลสำหรับนักเรียนและอาจารย์ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการศึกษาพิเศษกับภาคเอกชน และกระจายองค์ความรู้สู่สาธารณะชน ซึ่งปัจจุบันกลายเป็น EDUNET 2.0 ที่อาศัยหลักคิดของเว็บ 2.0 ที่สมาชิกทุกคนมีตัวตนที่แท้จริง และสามารถนำเนื้อหาที่ตัวเองมีอยู่มาเผยแผ่ต่อสาธารณะได้อย่างเสรี" 
       
       "จากนั้นอีกสองปีถัดมาก็ได้สร้างเว็บไซต์ RISS.KR ที่เป็นศูนย์รวมของวิทยานิพนธ์และงานวิจัยของมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกให้ประชาชนได้สมัครเป็นสมาชิกและอ่านผลงานทั้งหมดแบบออนไลน์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย"
       
       จากนั้นก่อนขึ้นต้นสหัสวรรษใหม่เพียง 1 ปี สำนักงานบริการข้อมูลวิจัยภาคการศึกษาของเกาหลี (KERIS: Korea Education & Research Information Service) ก็ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลแห่งชาติเกาหลีใต้ โดยทำหน้าที่หลักๆ อยู่ 3 ประการ อันได้แก่
       
       1. รับงบประมาณ 10,500 ล้านบาท เพื่อสานต่อนโยบายการพัฒนาการศึกษาจากรัฐบาลในระยะเวลา 5 ปี (ตั้งแต่ปี 2001-2005)
       
       2. จัดทำให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือหลักในการเป็นช่องทางเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ
       
       3. จัดสรรงบย่อยเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการศึกษาสู่หัวเมืองใหญ่ๆ ของเกาหลีอีก 16 เมือง
       
       สำหรับการพลิกนโยบายให้เป็นรูปธรรมนั้นทาง KERIS เองก็ได้สร้างบริการอื่นๆ ให้กับระบบการศึกษาอีกมากมาย โดยเรียงลำดับโครงการจากใหญ่ไปเล็ก ได้ดังนี้
       
       • เว็บไซต์ระบบจัดการข้อมูลส่วนงานด้านการศึกษาแห่งชาติ (NEIS อ่านว่า ไนส์ ย่อมาจาก National Education Information System)
       • เว็บไซต์ศูนย์กลางของข้อมูลสำหรับนักเรียนและอาจารย์ (EDUNET) เปรียบเสมือนห้องสมุดดิจิตอล
        o เว็บไซต์ระบบการเรียนรู้ออนไลน์จากที่บ้าน (Cyber Home Learning System)
       • ยุทธศาสตร์การพัฒนาทักษะด้านไอทีของบุคลากรครู (Strategic teacher training)
       • ห้องเรียนสาธิตการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน (U-Classroom)
       

       หลายท่านคงสงสัยว่าสามารถสร้างระบบใหญ่โตเช่นนี้ได้อย่างไร วรมนเล่าว่า เขาทำได้เพราะอาศัยการทำงานร่วมกันของบุคลากรระดับหัวกะทิกว่า 800 ชีวิต มาร่วมกันสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้เพื่อเด็กเกาหลีนั่นเอง อันประกอบด้วย คณาจารย์ผู้มีความรู้ด้านวิชาการ (จะเป็นทีมกำหนดทิศทาง ตรวจสอบ และควบคุมมาตรฐานของเนื้อหาต่างๆ ในเว็บไซต์ในเครือของ KERIS), ทีมงานผู้ดูแลระบบฮาร์ดแวร์ ซึ่งต้องทำงานเป็นผลัดตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน มีเซิร์ฟเวอร์ฟาร์ม 508 เครื่องอยู่ในความดูแล และภาคีสนับสนุน โดย KERIS ให้เงินทุนสนับสนุนองค์กรเอกชนอิสระที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเฉพาะทางในการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนอีกด้วย อาทิ หนังสือเรียนดิจิตอล (Digital Textbook) หรือทีมงานกราฟฟิก เพื่อออกแบบสื่อการสอนเป็นต้น
       
       รับฟังแนวทางก่อร่างสร้างทรัพยากรมนุษย์ของประเทศเพื่อนบ้านกันแล้ว คุณพ่อคุณแม่ชาวไทยเองก็อย่าพึ่งถอดใจกับนโยบายชั่งไข่ขาย หายนะน้ำมันปาล์ม ลามไปถึงบัตรสมาร์ทการ์ดของรัฐบาลไทย เพราะเรายังต้องมีความหวังว่า สักวันหนึ่ง ประเทศเราเองก็คงมีระบบดี ๆ เหล่านี้ให้เด็กได้เข้าใช้ได้เช่นกัน ขอเพียงมีนักบริหารมากฝีมือ รู้เท่าทันกลโกง และไม่โกงกิน หรือเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเสียเองดังเช่นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
       
       และในฐานะพ่อแม่ ท่านผู้อ่านมีความคิดเห็นอย่างไรต่อสิ่งที่รัฐบาลไทยกำลังกระทำอยู่กับเด็ก ๆ ลูกหลานของเรา ก็สามารถแบ่งปันกันได้เช่นกันค่ะ ทีมงานขอน้อมรับทุกความคิดเห็นด้วยความขอบคุณค่ะ


ที่มา  http://www.manager.co.th/

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X