คนชรากับความว้าเหว่ และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
2014-11-23 15:08:33
Advertisement
คลิก!!!

        เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจสำหรับคนชราในยุคนี้ หลายคนต้องอยู่กับบ้านตามลำพัง ระหว่างที่รอลูกหลานกลับจากทำงาน หรือบางคนก็ต้องรอนานกว่านั้น เพราะบ้านลูกกับบ้านตนเองอยู่ห่างไกลกัน กว่าที่ลูกหลานจะมาเยี่ยมก็อาจเป็นช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือวันหยุดเทศกาล
       
       สำหรับคนชราที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป การอยู่ตามลำพังตัวคนเดียวนั้นเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง และท่านอาจต้องประสบกับความยากลำบากมากมายในการใช้ชีวิตประจำวัน ที่สำคัญ การอยู่ตามลำพังอาจทำให้ผู้สูงอายุเกิดความเหงา ว้าเหว่ขึ้นได้ ซึ่งมีการวิจัยพบว่า ความรู้สึกโดดเดี่ยวนั้นสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้ถึง 10 เปอร์เซ็นต์
       
       งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เผยว่า ความโดดเดี่ยวนั้นเป็นตัวการหลักที่ทำให้ผู้สูงอายุต้องทนทุกข์ทรมาน และในการศึกษาครั้งนี้ ยังพบว่า มันช่วยเพิ่มความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตให้กับผู้สูงอายุในอีกหลายๆ ด้าน เช่น ทำให้สุขภาพไม่ดี การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายแย่ลง
       
       จากการศึกษาในผู้สูงอายุ 1,604 คนในประเด็นเกี่ยวกับการอยู่ตามลำพังว่ามีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตหรือไม่ พบว่า ผู้สูงอายุ 43.2 เปอร์เซ็นต์ จะรู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยว หากเกิดอุบัติเหตุในขณะที่อยู่ตามลำพัง ไม่มีคนช่วยเหลือ
       
       นอกจากนั้น ยังพบว่า การอยู่ตามลำพังนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตให้มีมากขึ้นอีกด้วย โดยผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังมีโอกาสที่จะหกล้ม 24.8 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผู้สูงอายุทีมีคนอยู่ด้วย หรือมีคนดูแลนั้นมีโอกาสหกล้ม 12.5 เปอร์เซ็นต์ ถือได้ว่ามากกว่าถึงหนึ่งเท่าตัวเลยทีเดียว

       
       นอกจากนั้น 40.8 เปอร์เซ็นต์ของผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวยังรู้สึกว่าตนเองขึ้นบันไดลำบากด้วย
       
       นอกจากนั้น ยังมีรายงานจากสหรัฐอเมริกาอีกชิ้นหนึ่งที่เผยว่า พบความเชื่อมโยงระหว่างการใช้ชีวิตตามลำพังกับความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้ โดยนักวิจัยได้สำรวจจากข้อมูลพื้นฐานของประชากรวัยกลางคน 44,573 ชุด และในจำนวนนี้มี 8,594 คนที่อาศัยอยู่ตามลำพัง และพบว่า การอยู่คนเดียวเพิ่มโอกาสในการเสียชีวิตจากโรคหัวใจให้มากขึ้น
       
       จะเห็นได้ว่า ความรู้สึกว้าเหว่นั้นเป็นความรู้สึกในแง่ลบที่อาจทำลายได้ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพใจ ซึ่งการแก้ไขอาจทำได้โดยการสร้างเครือข่ายสังคม จัดตั้งอาสาสมัครกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาให้การช่วยเหลือ เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุต้องเผชิญกับความยากลำบากในการใช้ชีวิตมากจนเกินไป


ที่มา  http://www.manager.co.th/

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X