"สภาพัฒน์" ผุดเมืองใหม่ 4 โมเดล กางรัศมี 5-10 กม. บูมต่างจังหวัด
2014-10-25 13:14:16
Advertisement
คลิก!!!

สภาพัฒน์ผุด 4 โมเดล "เมืองชายแดน ธุรกิจ ชายฝั่ง น่าอยู่" ขีดรัศมี 5-10 กม.จากสถานี-ด่าน บูมพื้นที่ใหม่รับเขตเศรษฐกิจพิเศษ โยธาฯเร่งยกเครื่องผังเมือง ล็อกพื้นที่ 3 หมื่นไร่ จัดโซนนิ่งการพัฒนา นำร่อง 5 จังหวัด ตาก ตราด มุกดาหาร สระแก้ว สงขลา

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลจะลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ เช่น รถไฟทางคู่ โครงข่ายถนนและสะพาน ฯลฯ จะเพิ่มประสิทธิภาพการค้าชายแดน จะมีการพัฒนาใหม่ ๆ เกิดขึ้น ดังนั้นต้องมีเมืองใหม่มารองรับ แต่คงไม่อยู่ในรัศมีติดสถานีหรือด่านการค้า อาจจะเป็นพื้นที่เปิดใหม่ อยู่ห่างไกลออกไปประมาณ 5-10 กิโลเมตร 

"ในอนาคตถ้าเป็นเส้นทางรถไฟ ไม่ได้บอกว่าไม่มีรถไฟความเร็วสูงแล้ว จะมีเมืองใหม่ไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าถ้าการเดินทางรถไฟสะดวกสบาย เป็นรถไฟทางคู่แต่ผ่านจังหวัดสำคัญ ถ้ารู้จักใช้จะเป็นสปริงบอร์ดสร้างเมืองใหม่ได้ โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยว เช่น สุโขทัย เป็นเมืองมรดกโลก ถ้ามีรถไฟและใช้เวลานั่งแค่ 5 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ-สุโขทัยก็ทำได้" 

ผุดเมืองใหม่ 4 คอนเซ็ปต์ 

นายอาคมกล่าวว่า ทั้งนี้ สภาพัฒน์กำลังศึกษาโครงการเมืองใหม่หลายรูปแบบ โดยวางคอนเซ็ปต์ไว้ 4 เมือง ประกอบด้วย 

1.เมืองชายแดน จะห่างจากชายแดน 5-10 กิโลเมตร จะเน้น 12 ด่านสำคัญใน 10 จังหวัด ที่รัฐบาลจะผลักดันเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น ชายแดนบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี จะรับกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และด่านแม่สอด จ.ตาก จะรับกับเขตเศรษฐกิจเมียวดี ต่อไปจะต้องจำกัดเรื่องผังเมืองและวางรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน จะพัฒนาอย่างใรให้สอดรับกัน 

2.เมืองธุรกิจ อาทิ จ.เชียงใหม่ ขอนแก่น เพราะเป็นหัวเมืองหลัก หรืออย่างเชียงใหม่ในอนาคตจะต้องวางแผนระบบขนส่งมวลชนมารองรับปริมาณคนเข้าเชียงใหม่มีจำนวนมาก 

3.เมืองชายฝั่งตะวันออกและตะวันตก เช่น พัทยา ชลบุรี พังงา ระยอง ต้องเร่งวางแผนพัฒนาเมืองเพราะมีปัญหากัดเซาะชายฝั่งรุนแรงมากขึ้น และสึนามิไม่รู้จะเกิดอีกเมื่อไหร่ 

4.เมืองน่าอยู่ (Smart City) เป็นเมืองในอนาคต เป็นเมืองไม่ใหญ่มาก แต่มีความทันสมัยและอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้ เช่น สุโขทัย พิษณุโลก และหนองคาย ที่เป็นเมืองน่าอยู่เพราะนักท่องเที่ยวมาก มีกลุ่มผู้สูงวัยจากยุโรปอาศัยอยู่มาก ถ้ามีรถไฟรับประกันเวลาได้ จะทำให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น 

แนะจังหวัดตื่นตัวเร่งสร้างโอกาส

รูปธรรมของเมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งคือเมืองที่สภาพัฒน์กำลังศึกษาร่วมกับญี่ปุ่น บริเวณ อ.มาบตาพุด จ.ระยอง เป็นความร่วมมือระหว่างท้องถิ่น โรงงาน และรัฐบาลกลาง จะให้ความมั่นใจว่าโรงงานอยู่กับชุมชนได้ ส่วนเมืองคู่แฝดลำพูน-เชียงใหม่ จะมีการพัฒนาสนามบินและระบบขนส่ง

"เมืองใหม่ก็คือเมืองชายแดน ไม่ได้หมายความว่าเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น มุกดาหาร ก็เก่าแล้ว แต่คำว่าใหม่ คือ เอากิจกรรมและดึงเศรษฐกิจเข้ามาในพื้นที่ ใช้ประโยชน์จากการเป็นประตูการค้าและมีลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ใช่ไปเร่ง แต่สร้างโอกาสมากกว่า ต้องพัฒนาเป็นกลุ่มจังหวัดไปด้วยกัน"

เร่งผังเมืองคุมตะเข็บชายแดน 

ด้านนายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า กรมกำลังเร่งออกแบบผังเมืองรวมบริเวณชุมชน รองรับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 12 พื้นที่ 10 จังหวัด ในปีหน้าจะแล้วเสร็จ 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด และสงขลา ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เห็นเป็นรูปธรรมใน 1 ปีนี้ โดยให้จังหวัดไปปรับปรุงผังเมืองรวมใหม่เพื่อเป็นการรองรับ ทั้งผังเมืองรวมจังหวัด ผังเมืองรวมเมือง และผังเมืองรวมชุมชนให้ทันสมัยและสอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่ จะมี 3 รูปแบบ คือ 

1.การวางผังพัฒนาพื้นที่ประตูการค้าเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน จะวางผังด้านกายภาพพื้นที่ยุทธศาสตร์ประตูการค้าระดับจังหวัด กำหนดพื้นที่ที่มีศักยภาพและเตรียมความพร้อมในการพัฒนาเป็นประตูการค้าและเขตเศรษฐกิจพิเศษ จัดทำแผนงานโครงการอย่างบูรณาการ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ 

2.วางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัด ผังเมืองรวมเมือง และผังเมืองรวมชุมชนเพื่อจัดระเบียบใช้ประโยชน์ที่ดิน คมนาคมขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมข้อกำหนดและมาตรการทางผังเมืองให้สอดคล้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ และส่งเสริมการพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบ 

3.วางผังพื้นที่เฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะออกแบบรายละเอียดสถาปัตยกรรมผังเมืองและโซนนิ่งพื้นที่ วางระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการให้สอดคล้องกับผังเมืองรวมทั้งระบบ เช่น พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม คลังสินค้าเกษตร การค้าชายแดน ที่อยู่อาศัยจะมารองรับกับชุมชนเกิดใหม่


เปิดโผ 12 พื้นที่ตั้งเขต ศก.พิเศษ 

สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ 12 พื้นที่ มีพื้นที่รวม 36,202 ไร่ ระยะแรก 24,450 ไร่ ได้แก่ 

1.จ.ตาก (ด่านแม่สอด) ระหว่าง ต.แม่ปะกับ ต.ท่าสายลวด ริมแม่น้ำเมย พื้นที่ 6,000 ไร่ 

2.จ.มุกดาหาร ต.บางทรายใหญ่ ใกล้ด่านมุกดาหาร พื้นที่ 2,000 ไร่ 

3.จ.สระแก้ว (ด่านอรัญประเทศ) ต.บ้านไร่ อ.อรัญประเทศ ใกล้ถนนสาย 33 พื้นที่ 8,750 ไร่ 4.จ.ตราด (ด่านคลองใหญ่) ต.แสนตุ้ง อ.เขาสมิง ด้านหน้าติด ถ.สุขุมวิท ห่างชายฝั่งทะเล 20 กม. พื้นที่ 5,000 ไร่ 5.จ.สงขลา (ด่านสะเดา) ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ พื้นที่เชื่อมต่อกับ ถ.เพชรเกษมและ ถ.หอการค้ากาญจนาภิเษก พื้นที่ 2,700 ไร่ 

อีก 7 จังหวัดที่จะดำเนินการระยะต่อไป ได้แก่ 

1.จ.กาญจนบุรี ต.บ้านหนองสองตอนกับบ้านหนองจอก พื้นที่ 2,000 ไร่ 

2.จ.เชียงราย ต.สถาน อ.เชียงของ ติดสะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 เชียงของ-ห้วยทราย พื้นที่ 500 ไร่ 

3.จ.เชียงราย ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน บริเวณท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 ติดแม่น้ำโขงและถนนสาย 1129 พื้นที่ 752 ไร่

4.จ.เชียงราย อ.แม่สาย ด้านตะวันออกของเมือง พื้นที่ 500 ไร่ 

5.จ.หนองคาย บริเวณ อ.เมืองกับ อ.สระใคร พื้นที่ 3,300 ไร่ 

6.จ.นครพนม บ้านสำราญเหนือ ต.อาจสามารถ กับตอนบน อ.เมืองนครพนม ใกล้ด่านนครพนม พื้นที่ 2,200 ไร่ และ 

7.จ.นราธิวาส ต.นานาค อ.ตากใบ บนถนนสาย 4057 พื้นที่ 2,500 ไร่


กนอ.ดิ้นขอทบทวนคำนิยาม

นายวีระพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาร่างกฎหมายจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเห็นชอบให้ใช้พื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นพื้นที่นำร่องโครงการ

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ทาง กนอ.จะต้องมีการประชุมร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อีกครั้งเพื่อหาข้อสรุปคำนิยามเขตเศรษฐกิจพิเศษให้ชัดเจน เพื่อให้ภาครัฐและเอกชนเข้าใจตรงกันและสามารถพัฒนารูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ รวมถึงการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้มากที่สุดเพื่อดึงดูดนักลงทุน โดยภาครัฐจะกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจนก่อนที่จะสื่อสารไปยังภาคเอกชนต่อไป


ที่มา  มติชนออนไลน์

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X