เดี๋ยวนี้อาหารไม่ค่อยปลอดภัย! มาเรียนรู้กินอยู่อย่างฉลาดสุขภาพ”ไม่พัง”
2016-05-05 18:21:07
Advertisement
คลิก!!!

ช็อคไปตามๆกันภายหลังเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน (Thai-PAN:Thailand Pesticide Alert Network) ออกมาเปิดผลสุ่มสำรวจสารปนเปื้อนพืชผักและผลไม้ พบผักและผลไม้ที่มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน อย่างในผักพบที่มีสารพิษตกค้างมากที่สุดคือ พริกแดงพบ 100 เปอร์เซ็นต์ กะเพราร้อยละ 66.7 ถั่วฝักยาวร้อยละ 66.7 คะน้าร้อยละ 55.6

ส่วนผลไม้พบมากที่สุดคือ ส้มสายน้ำผึ้ง ฝรั่ง 100 เปอร์เซ็นต์ แก้วมังกรร้อยละ 71.4 มะละกอร้อยละ 66.7 มะม่วงน้ำดอกไม้ ขณะที่ภาพรวมผักและผลไม้มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานสูงถึงร้อยละ 46.4 และที่สำคัญพบว่า ผักและผลไม้ที่ได้รับตรา Q จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) พบสารเคมีมากที่สุด โดยพบสูงถึงร้อยละ 57.1 ส่วนผักและผลไม้อินทรีย์ที่ได้รับการรับรองออร์แกนิคไทยแลนด์(Organic Thailand) ที่ไม่ควรตรวจพบการตกค้างของสารเคมี กลับพบการตกค้างสูงเกินมาตรฐานถึงร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 ของจำนวนตัวอย่าง

เมื่อส่วนประกอบอาหารไม่ปลอดภัย จะเลี่ยงไม่กินอาหารเหล่านี้เลยก็กลัวไม่มีอะไรกิน ฉะนั้นมาเรียนรู้กินอยู่อย่างฉลาดดีกว่า ซึ่งหมายรวมไปถึงกลุ่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดความเสี่ยงโรคเบาหวาน ความดัน หัวใจ และมะเร็ง จากคนที่ทำงานเกาะติดด้านนี้ ที่จะมาบอกเล่าสถานการณ์อาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนข้อแนะนำการกินอยู่อย่างฉลาด

พชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคความปลอดภัยด้านอาหารภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยถึงสถานการณ์อาหารและเครื่องดื่มในปัจจุบันว่า แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.อาหารสด 2.อาหารแห้ง 3.อาหารแปรรูป 4.เครื่องปรุงรส 5.เสริมอาหาร และ 6.เครื่องดื่ม

“สิ่งที่เราพบจากการสุ่มสำรวจและได้รับร้องเรียนเข้ามาคือ อาหารสด มักมีปัญหาที่กระบวนการเลี้ยง เก็บเกี่ยว และขนส่ง เช่น เนื้อวัว อาจเป็นเนื้อจากวัวที่เป็นโรควัวบ้า โรคแอนแทรกซ์ ส่วนไก่อาจมีไข้หวัดนก หรือผักก็อาจมีสารกำจัดศัตรูพืชปนเปื้อน

อาหารแห้ง มักมีปัญหาที่กระบวนการแปรรูป ที่ใช้สารเคมีเพื่อให้อาหารอยู่ได้นาน และอาจตกค้างถึงผู้บริโภค เช่น กุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้ง หรืออาหารทะเลแห้ง มักจะพบสารแคดเมียมที่นำมาสู่โรคอิไตอิไต โดยเฉพาะสาหร่ายแห้งที่เป็นขนมเด็ก สาหร่ายแกงก็พบสารแคดเมียมในปริมาณสูง

อาหารแปรรูป กลุ่มนี้ใหญ่มาก มีตั้งแต่ขนมเด็กจนถึงอาหารแช่แข็ง โดยรวมมักหาโภชนาการที่ดีต่อผู้บริโภคยาก ผมเคยถามผู้ประกอบการ เขาบอกว่าหากโภชนาการดี รสชาติมักออกมาไม่อร่อย ขณะที่ล่าสุดองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้อาหารแปรรูปประเภทเนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก หมูแฮม เบคอน แหนม หมูยอ กุนเชียง มีสารก่อมะเร็ง”

นอกจากอาหารยังมี “เครื่องปรุงรส” ที่พชร ตั้งข้อสังเกตว่า น่าแปลกว่าหากไม่มีเครื่องปรุงรส คนไทยจะคิดว่าอาหารนี้ไม่มีรสชาติ ทั้งที่ไม่จำเป็นเลย ผู้ผลิตได้ปรุงมาตั้งแต่กระบวนการผลิตแล้ว

“เราก็รู้ทั้งรู้ว่าในเครื่องปรุงนั้นมีสารอาหารที่ไม่มีประโยชน์จำนวนมาก เช่น เกลือ แต่ก็ปรุงต่อไปอย่างไม่ได้สนใจมัน”

ขณะที่ “เครื่องดื่ม” มีหลายรูปแบบ มีทั้งให้พลังงานสูงและไขมันสูง ไม่ให้ไขมันแต่น้ำตาลสูง ไม่ให้ไขมันเลยแต่มีน้ำตาลเทียมสูง

“ในกลุ่มเครื่องดื่มน่าเป็นห่วงที่สุดคือน้ำตาล และเสริมอาหาร มีไว้กินเพื่อเสริมสิ่งที่ร่างกายขาดแคลน ต้องเข้าใจว่าเสริมอาหารไม่ใช่ยา ในฉลากก็ระบุชัดว่าไม่มีผลในทางการป้องกันและรักษาโรค ส่วนยามีผลและไม่ต้องกินทุกวัน หายก็หยุดทาน

“นี่เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคเข้าใจสับสนมาก เพราะเราไม่ยอมอ่านฉลาก” พชรย้ำ

แม้เป็นเรื่องยากที่รัฐจะสั่งภาคธุรกิจทำอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อผู้บริโภค แต่เป็นเรื่องง่ายหาก “คนไทยอ่านฉลาก” เพราะอย่างตัว “พชร” ก็พิถีพิถันอ่านฉลาก 10 กว่านาที กว่าจะได้อาหารและเครื่องดื่มสักชิ้นที่เหมาะกับตัวเอง

 

IMG_7504

78

 

พชรแนะนำการอ่านฉลากว่า ฉลากมีทั้งด้านหลังและด้านหน้าของผลิตภัณฑ์ เริ่มจากด้านหลังที่ระบุชื่อว่า “ข้อมูลโภชนาการ” มีระบุหลายรายการ แต่ดูเฉพาะที่สำคัญๆ ได้แก่

“พลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภค” เพื่อทราบว่าอาหารนี้กินแล้วจะได้พลังงานทั้งหมดกี่แคลอรี ซึ่งต้องสังเกตบางฉลากจะแนะนำให้กินหลายๆ ครั้ง เช่น หนึ่งหน่วยบริโภค 1/7 (30 กรัม) พลังงานทั้งหมด 160 กิโลแคลอรี หมายความว่าผลิตภัณฑ์นี้

แบ่งกิน 7 ครั้ง ครั้งละ 30 กรัม/ได้พลังงาน 160 กิโลแคลอรี แต่หากกินหมดในครั้งเดียวจะได้รับพลังงาน 1,120 กิโลแคลอรี

“ปริมาณไขมันและไขมันอิ่มตัว” คำนวณอย่าให้ไขมันอิ่มตัวเกิน 20 กรัมต่อวัน เพราะทำให้เกิดคอเลสตอรอลในร่างกายสูง และเพิ่มความเสี่ยงต่อหลอดเลือดหัวใจ

ต่อมาดูปริมาณ “น้ำตาล” คำนวณอย่าให้เกิน 24 กรัมต่อวัน หรือ 6 ช้อนชา เพราะน้ำตาลเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่ง เมื่อไม่ได้ใช้งานจะแปรเป็นไขมันสะสมทำให้เป็นโรคอ้วน และส่งผลให้เกิด

โรคอื่นๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวาน ไขมันอุดตันในเส้นเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง เป็นต้น

และดูปริมาณ “เกลือ” หรือ “โซเดียม” อย่าให้เกินวันละ 2,300 ต่อวัน เพราะทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคไตและความดันโลหิตสูง

ส่วนฉลากด้านหน้าผลิตภัณฑ์เป็นการดึงข้อมูลมาจากฉลากด้านหลังใน 4 รายการ ได้แก่ พลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม

พชรย้ำความสำคัญของฉลากว่า “ทำให้รู้ว่าผลิตภัณฑ์นี้คืออะไร มีส่วนประกอบอะไร เพียงแต่ฉลากที่ผ่านมาไม่ได้ส่งเสริมผู้บริโภคเท่าที่ควร เพราะฉลากต้องมีข้อมูลเยอะ ทำให้ฉลากมักอ่านไม่ออก ที่อ่านออกก็อ่านไม่เข้าใจ และบางฉลากเขียนผิดก็มีมาแล้ว”

สุดท้าย พชรฝากถึงผู้บริโภคจากประสบการณ์ที่ผ่านมาว่า

“ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์สักชิ้น นอกจากต้องดูฉลากให้ดีแล้ว ก็ยังต้องหาข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่จะซื้อด้วย อย่างกลุ่มเสริมอาหาร ต้องดูตั้งแต่งานวิจัยรองรับ พื้นหลังของนักวิจัย ความรับผิดชอบของบริษัท เพื่อความน่าเชื่อถือและเผื่อมีปัญหาภายหลัง”

“ขณะที่การซื้อผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม แนะนำให้เก็บใบเสร็จรับเงินทุกครั้ง ครั้งละ 1 เดือน เผื่อเจอสินค้าหมดอายุ ซึ่งผู้บริโภคสามารถเรียกร้องได้และมีโอกาสชนะสูง แต่ที่สำคัญจะไปถึงขั้นตอนนั้นได้คือ ผู้บริโภคต้องกล้าเรียกร้องสิทธิ อย่าท้อ อย่าไปบ่น และรู้ไม่กี่คนบนเฟซบุ๊ก ผู้บริโภคสามารถเข้ามาหาเรา ขอคำปรึกษาเราได้ และนี่เป็นสิ่งที่เรารณรงค์มาตลอดคือ บ่น 1,000 ครั้งไม่เท่าร้องทุกข์ 1 ครั้ง”

ไม่ต้องรอให้รัฐมากำหนดนโยบาย เราก็สามารถดูแลตัวเองให้สุขภาพดีได้ด้วยการกินอยู่อย่างฉลาด

 

เครื่องดื่มกังวลน้ำตาล

เครื่องปรุงกังวลโซเดียม

พชร แกล้วกล้า  (2)

พชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคความปลอดภัยด้านอาหารภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

 

ที่มา  มติชนออนไลน์

 

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X