“ทพ.เผด็จ” เปิดไทม์ไลน์ จากวันที่ “ทพญ.”หนีทุน ถึง…เส้นตายที่”ผู้ค้ำ”รับกรรม!!
2016-02-05 18:31:19
Advertisement
คลิก!!!

ทพ.เผด็จ พูลวิทยกิจ ทันตแพทย์คลินิกแห่งหนึ่งใน จ.สระบุรี ได้เปิดเผยไทม์ไลน์ตั้งแต่ทพญ.ดลฤดี จำลองราษฎร์ อดีตอาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ได้ทุนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา กระทั่งเรียนจบและไม่กลับมาชดใช้ทุน จวบจนวันที่ผู้ค้ำประกันทั้ง 4 รายถูกฟ้องศาลปกครอง ให้ชดใช้เงินแทน พร้อมด้วยการตั้งข้อสังเกตถึงการดำเนินการของ มม.ต่อกรณีดังกล่าว มติชน เห็นว่าน่าสนใจ จึงนำเสนอ

20 กรกฎาคม 2537 : มม.มีคำสั่งให้ น.ส.ดลฤดีลาไปศึกษาต่อ น.ส.ดลฤดีเดินทางไปสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ 2 กรกฎาคม 2537 มม.ออกคำสั่งย้อนหลัง คือ 20 กันยายน 2537 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2537

5 พฤษภาคม 2547 : น.ส.ดลฤดีส่งหนังสือลาออกผ่านสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)

31 พฤษภาคม 2547 : ก.พ.และ สกอ.มีมติรับทราบการลาออกจากราชการของ น.ส.ดลฤดี และหน่วยงานดังกล่าวเห็นควรส่งเรื่องให้กลุ่มงานคลัง ก.พ. ดำเนินการแจ้งเจ้าของทุนและแจ้ง มม.ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัด ให้เรียกเงินชดใช้ทุนจากผู้ค้ำประกันของ น.ส.ดลฤดีโดยตรง

6 กรกฎาคม 2547 : ก.พ.ส่งเรื่องให้ สกอ.แจ้งเจ้าของทุนและผู้ค้ำประกันจ่ายเงินชดใช้

8 กันยายน 2547 : มม.ทวงเงินจากผู้ค้ำทั้ง 4 ราย (ตามสัญญาค้ำประกันการลาศึกษาต่อ) ให้ชำระภายใน 30 วัน

27 สิงหาคม 2547 : กองคลัง มม.แจ้งกองกฎหมาย ให้เจ้าของทุนและผู้ค้ำนำเงินมาชดใช้

27 กันยายน 2547 : คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มม. ได้แจ้ง น.ส.ดลฤดี และผู้ค้ำซึ่งเป็นอาจารย์ 2 ท่านที่ทำงานที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มม. ให้นำเงินมาใช้

28 กันยายน 2547 : มม.อนุญาตให้ น.ส.ดลฤดีลาออกจากราชการ โดยมีผลบังคับย้อนหลังตั้งแต่ 15 พฤศจิกายน 2546 ตามหมายเหตุในคำสั่ง มม.เพื่อศึกษาต่อ แต่ในเหตุผลของ น.ส.ดลฤดีในแบบหนังสือขอลาออกจากราชการของ น.ส.ดลฤดี ระบุว่าเพื่อดำเนินการวิจัยที่ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยไม่มีกำหนดกลับประเทศไทย (ซึ่งมหาวิทยาลัยทราบอยู่แล้วว่า น.ส.ดลฤดีทำอะไร? และอยู่ที่ไหน?) ทุนที่ น.ส.ดลฤดีลาศึกษาต่อปริญญาโทและเอก มีระยะเวลา 6 ปี 2 เดือน ถ้านับจากวันที่ น.ส.ดลฤดีได้รับทุนเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2537 ถึง 15 พฤศจิกายน 2547 เป็นเวลา 9 ปี 4 เดือน 14 วัน ถ้าดูตามวันเวลาดังกล่าวแล้ว น.ส.ดลฤดีน่าจะเรียนจบหลักสูตรแล้ว แต่ มม.ก็ปล่อยให้ น.ส.ดลฤดีอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาต่ออีกตั้งหลายปี จึงมีคำสั่งให้ลาออก (เป็นข้อสังเกตว่าออกคำสั่งมีผลย้อนหลัง กล่าวคือสั่ง 28 กันยายน 2547 แต่มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่ 15 พฤศจิกายน 2546

30 กันยายน 2547 : กองคลังคำนวณเงินที่จะต้องชดใช้ทุนให้กองกฎหมาย (ประมาณ 31 ล้านบาทเศษ)

6 ตุลาคม 2547 : มม.เรียกให้ผู้ค้ำประกันชดใช้เงินทุน (ประมาณ 31 ล้านบาทเศษ) ภายใน 30 วัน

11 ตุลาคม 2547 : กองกฎหมายขอให้กองคลังดำเนินการให้ผู้ค้ำประกันชำระเงินชดใช้

19 ตุลาคม 2547 : มม.เรียกนายประสิทธิ์ จำลองราษฎร์ (ซึ่งเป็นอาของ น.ส.ดลฤดี ชดใช้เงินทุนค้ำประกันการเป็นนักศึกษา กรณีของ น.ส.ดลฤดี จำลองราษฎร์)

5 ธันวาคม 2547 : มม.ฟ้องศาลปกครอง

15 กุมภาพันธ์ 2549 : ศาลปกครองพิพากษาให้ น.ส.ดลฤดี และผู้ค้ำทั้ง 4 ราย ชดใช้เงิน 31 ล้านบาทเศษ

ข้อสังเกต

1.จากลำดับดังกล่าวจะเห็นได้ว่า มม.มีคำสั่งอนุญาตให้ น.ส.ดลฤดีลาออกโดยที่ยังไม่ได้ชดใช้ทุนเลย โดย มม.ยึดตามสัญญาการค้ำประกันการศึกษาต่อต่างประเทศ (รอเรียกจากผู้ค้ำประกันที่อยู่ใกล้ที่สุด) จึงควรนึกถึงคุณธรรมและจริยธรรมต่อผู้ค้ำบ้าง

2.ผู้ค้ำประกัน ขอความกรุณาให้ มม.พิจารณาและทบทวนว่าท่านได้อนุญาตให้ น.ส.ดลฤดีลาออกทั้งๆ ที่ยังไม่ได้จ่ายเงินชดใช้ทุนและไม่ไปเรียกร้องเอากับลูกหนี้ตัวจริงตามที่ควรจะเป็น ทั้งๆ ที่ มม.ทราบมาโดยตลอดว่า น.ส.ดลฤดีทำงานที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ผู้ค้ำประกันที่ติดต่อได้ ท่านก็บังคับเอากับผู้ที่อยู่ใกล้ที่สุด ยุติธรรมหรือไม่?

3.มม.เป็นองค์กรของรัฐ การติดต่อระหว่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กับ มม. ทำไมยากจัง ทั้งๆ ที่ น.ส.ดลฤดีมีตัวตนและทำงานในมหาวิทยาลัยดังระดับโลกขนาดนั้น

4.ตามที่นักข่าวได้สืบข้อมูล น.ส.ดลฤดี เธอมีอันจะกินและความเป็นอยู่ที่ดีกว่าผู้ค้ำทั้ง 4 คนแน่นอน (ด้วยดีกรีทางการศึกษาและหน้าที่การงาน) อายุความบังคับคดียังไม่สิ้นสุด ขอความกรุณาท่านดำเนินการให้ลูกหนี้ตัวจริงชดใช้เงินด้วย

5.ตามที่นักข่าวได้สืบข้อมูลพบว่า น.ส.ดลฤดีเข้ามาทำบัตรประชาชนที่สำนักงานเขตบางนา ฝ่ายทะเบียนราษฎร เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 และได้ประสานไปที่ ตม.สุวรรณภูมิ จึงทราบได้ว่า น.ส.ดลฤดี เดินทางกลับมาประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 3-18 กุมภาพันธ์ 2558 อยู่ประเทศไทยเป็นเวลาถึง 15 วัน แต่ทาง มม.ทราบหรือไม่ เหตุใด มม.จึงไม่ประสานงานกับ ตม.สุวรรณภูมิ ไว้ตั้งแต่คำพิพากษาศาลปกครองมีผลบังคับ

 

ที่มา  มติชนออนไลน์

 

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X