น้ำส้มสายชูกู้ชีพ! แนะนักท่องเที่ยวทะเลอ่าวไทย พกเผื่อฉุกเฉินโดนพิษ ′แมงกะพรุนกล่อง′
2015-08-02 13:44:49
Advertisement
คลิก!!!

นำเสนอข่าวโดยทีมงาน Sanook.com

(2 ส.ค.) เกิดเหตุการณ์นักท่องเที่ยวชาวไทย ถูกพิษจนเสียชีวิต ที่เกาะพงันเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ขณะที่ น.ส.ชญานันท์ กับเพื่อนๆ ลงไปเล่นน้ำที่ชายหาดริ้น หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านใต้ อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฏร์ธานี และไปถูกพิษของแมงกะพรุนกล่อง จนทำให้ น.ส.ชญานันท์ รู้สึกแสบปวดร้อนตามผิวหนัง สักพักก็วูบหมดสติ และไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลเกาะพะงัน ส่วนเพื่อนอีก 3 คน ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ 2 คน ได้รับพิษแมงกะพรุนกล่องเช่นกัน แต่อาการปลอดภัยแล้ว

นายแพทย์ฐาณุวัฒน์ ทิพย์พินิจ แพทย์โรงพยาบาลเกาะพะงัน ระบุว่า น.ส.ชญานันท์ ถูกหนวดพิษของแมงกะพรุนกล่องจนทำให้ชีพจรและหัวใจหยุดเต้น ซึ่งแพทย์พยายามปั้มหัวใจช่วยเหลือ แต่ น.ส.ชญานันท์ ได้รับพิษเข้าร่างกายมากเกินไป ประกอบกับมีการตอบสนองต่อพิษมาก จึงทำให้เสียชีวิตดังกล่าว

จากเรื่องดังกล่าว ชื่อของแมงกะพรุนกล่องก็ได้รับความสนใจ ว่าแมงกะพรุนตัวนี้ หน้าตาเป็นอย่างไร และหากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับเราเอง เราควรแก้ไขปัญหาอย่างไร

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat อธิบายเกี่ยวกับแมงกะพรุนดังกล่าว พร้อมข้อแนะนำ ดังนี้

"ในเรื่องนักเที่ยวที่ถูกพิษแมงกะพรุนที่เกาะพงัน ขอแสดงความเสียใจกับผู้เคราะห์ร้ายครับ มีสื่อโทรมาสอบถามอยู่บ้าง ก็คงต้องตอบกันจริงจังว่า

1) ในปัจจุบัน แมงกะพรุนกล่องเริ่มมีมากขึ้น ข้อมูลจากการสำรวจพบอยู่ทั่วอ่าวไทย ตั้งแต่ภาคตะวันออกถึงภาคใต้ แม้ในบริเวณหาดทรายแหล่งท่องเที่ยว ทั้งในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน แต่มีรายงานผู้โดนในอ่าวไทยมากกว่า
แมงกะพรุนกลุ่มนี้มีขนาดเล็ก หัวใหญ่ประมาณกำปั้น แต่สายยืดยาวได้ถึง 3 เมตร แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ สายเดี่ยว (ในแต่ละมุม) และสายเป็นกลุ่ม ปรกติสายเดี่ยวจะมีพิษน้อยกว่าพวกสายกลุ่ม พบในไทย 10-11 ชนิด
กะพรุนกล่องมีพิษต่างกันไป ขึ้นกับชนิดและปริมาณที่โดน ยังขึ้นกับคนที่แพ้พิษระดับใด ไม่ขึ้นกับความแข็งแรงของร่างกาย

2) สาเหตุที่กะพรุนกล่องเพิ่มขึ้นจากอดีต อาจเกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงหรือจากระบบนิเวศได้รับผลกระทบจากมนุษย์ แต่การแก้ที่ต้นเหตุยังทำไม่ได้ เราก็ต้องเรียนรู้หาทางเลี่ยงเองครับ

3) กะพรุนกล่องพบได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ในน้ำตื้นก็เป็นไปได้ พบในเขตชายฝั่งหรือเกาะใกล้ฝั่ง เช่น สมุย พงัน เกาะล้าน มากกว่าในเกาะไกลฝั่ง เช่น สิมิลัน

4) เนื่องจากมีขนาดเล็ก (เท่ากำปั้น) เคลื่อนที่เร็ว ตัวใส และพบในน้ำขุ่น โอกาสที่คนเล่นน้ำมองเห็นก่อนเป็นเรื่องยากมาก แต่ถ้าเป็นนักดำน้ำ อาจมองเห็น นอกจากนี้ นักดำน้ำสวมเว็ทสูท โอกาสเป็นอันตรายน้อย เท่าที่มีรายงานผู้เสียชีวิตในประเทศไทย (นับจากปี 41 มากกว่า 10 ราย เท่าที่ทราบ ไม่เคยมีนักดำน้ำเสียชีวิต ทั้งหมดเป็นคนเล่นน้ำ)

5) หากโดนเฉียดๆ อาจบาดเจ็บ แต่ถ้าโดนอย่างจัง หนวดพันไปมาและแพ้พิษ มีโอกาสเสียชีวิต

6) ทางป้องกันคือใส่ชุดมิดชิดลงเล่นน้ำ นั่นก็เป็นไปได้ยากเหมือนกัน ในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย มีชุด stinger suit สำหรับใส่เล่นน้ำ หนือมีจุดเล่นน้ำแบบมีตาข่ายกั้น ในเมืองที่ผมเคยอยู่ก็ต้องเล่นน้ำเฉพาะในที่กั้นครับ

7) หากโดนจะรู้ตัวทันที เพราะเหมือนโดนไฟฟ้าชอตหรือแส้ฟาด ให้ตะโกนบอกคนอื่นและขึ้นจากน้ำให้เร็วที่สุด อาการรุนแรงอาจเกิดภายใน 5-6 นาที

8) ใช้น้ำทะเลสาดหรือล้างบริเวณนั้นเพื่อกำจัดเศษหนวดที่อาจติดมา อย่าใช้มือแตะโดยเด็ดขาด อย่าใช้น้ำจืดล้างเพราะน้ำจืดจะทำให้เข็มพิษทำงานมากขึ้น

9) ราดด้วยน้ำส้มสายชูปริมาณมาก และนำส่งแพทย์ให้เร็วที่สุด พร้อมบอกแพทย์ว่าโดนแมงกะพรุนกลุ่มนี้

หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง รีบนำส่งแพทย์เป็นอันดับแรก ควรแยกกันช่วย คนหนึ่งวิ่งไปหาถังมาตักน้ำทะเลสาด คนหนึ่งวิ่งเข้าครัวไปหาน้ำส้มสายชูมาเยอะๆ อีกคนรีบหารถและโทรหาแพทย์โดยด่วน ควรมีผู้ที่ปั๊มหัวใจเป็นอยู่ในรถด้วย
โดยปรกติ หากผู้ป่วยรอดเกิน 10 นาที โอกาสเสียชีวิตมีน้อยมาก นี่เป็นสถิติจากออสเตรเลียครับ

10) หน่วยงานทางการแพทย์ในพื้นที่ชายฝั่ง โดยเฉพาะในอ่าวไทย ควรมีการอบรมเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยกรมทรัพยากรทางทะเล ควรเป็นหน่วยหลัก เพราะเมื่อดูจากสถิติร้ายแรงแล้ว เราเริ่มอยู่ในภาวะเสี่ยงอย่างมาก

11) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเท่ียวและหน่วยงานท้องถิ่น ควาพิจารณาการจัดทำแผ่นป้ายประชาสัมพันธ์และจัดเตรียมกล่องน้ำส้มสายชูสำหรับกรณีฉุกเฉินไว้ตามชายหาดแหล่งท่องเที่ยว

เท่าที่คิดออกตอนนี้ครับ สุดท้าย ขอแสดงความเสียใจอีกครั้งครับ

หมายเหตุ หลังจากเช็คข่าวหลายแห่งแล้ว ช่วงนี้กะพรุนกล่องในอ่าวไทยมีรายงานหลายที่ครับ แถวตะวันออกก็มีคนเจอ ชุมพรก็มี ไปถึงพงันและแถบนั้น อยากให้เพื่อนธรณ์ระวังไว้นิด น้ำทะเลตามชายฝั่งช่วงนี้ขุ่น เด็กเล็กหากอยากลงน้ำจริง ให้เล่นตรงแนวคลื่นซัด อย่าออกไปหลังแนวคลื่นเลยครับ

หมายเหตุเพิ่ม ตอนนี้มีงานวิจัยใหม่จาก JCU (ม.ที่ผมเรียน) บอกว่าน้ำส้มสายชูอาจไม่ดีนะ แต่ผมค้นดูแล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ยอมรับกันถ้วนทั่ว จึงแนะนำให้ใช้ไปก่อนครับ

 

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X