ยอ..ช่วยรักษากรดไหลย้อน!!
2015-07-07 15:49:16
Advertisement
Pyramid Game

 

“ยอ” เป็นสมุนไพรคู่บ้านของคนไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งประเทศไทยน่าจะมีการส่งออกยอ เมื่อ 50-70 ปีก่อน
เนื่องจากพบหลักฐานผลยอที่บรรจุอยู่ในภาชนะดินเผา และอัดด้วยเกลือจนเต็ม บรรจุอยู่ในเข่งที่พร้อมนำไปจำหน่าย ของห้างยาหอมสุคนธโอสถ หรือยาหอมตราม้า ปัจจุบันมีจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร


ปัจจุบัน "น้ำยอ" หรือที่รู้จักกันโดยทั่วในชื่อของน้ำ NONI ซึ่งเป็นน้ำสมุนไพรที่มียอดขายอันดับต้นๆ ในตลาดโลก มีรายงานวิจัยวิทยาศาสตร์พอสมควร ถึงแม้ส่วนใหญ่จะยังอยู่ในห้องทดลอง พบว่า ยอมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ทำให้แผลหายเร็วขึ้น ต้านมะเร็ง เพิ่มภูมิคุ้มกัน แก้ปวด ต้านการคลื่นไส้อาเจียน และล่าสุดพบว่า “ยอ” น่าจะมีส่วนช่วยผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนได้


“โรคกรดไหลย้อน" หมายถึง การที่น้ำย่อย ซึ่งประกอบด้วยกรดเกลือในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไประคายต่อหลอดอาหาร และบริเวณลำคอ ทำให้มีอาการแสบลิ้นปี่ คล้ายเป็นโรคกระเพาะเรื้อรัง โรคนี้เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของการทำหน้าที่ของกล้ามเนื้อหูรูดที่อยู่ตรงส่วนล่างของหลอดอาหาร ซึ่งกล้ามเนื้อหูรูดนี้จะคลายตัวเมื่อมีอาหารไหลผ่านลงไปในกระเพาะอาหาร เมื่ออาหารผ่านลงกระเพาะอาหารจนหมดแล้ว หูรูดนี้จะหดรัดเพื่อปิดกั้นไม่ให้กรดที่อยู่ในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหาร

 

ใบยอ


ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อนนั้น กล้ามเนื้อหูรูดตรงส่วนล่างของหลอดอาหารนี้จะหย่อนสมรรถภาพ ทำให้มีน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหารมากกว่าปกติ โดยคนปกติไหลย้อนได้ 1-4 ครั้ง แต่ไม่ทำให้เกิดอาการแต่อย่างใด
 

สาเหตุ
ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากความเสื่อมตามอายุ และมีความสัมพันธ์กับความอ้วน ภาวะตั้งครรภ์ โรคเบาหวาน และโรคไส้เลื่อนกะบังลม โดยปัจจัยเสริมนั้นมาจากการที่มีแรงดันภายในกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น รัดเข็มขัดแน่นเกินไป มีแก๊สมากจากอาหารที่ไม่ย่อย หรืออาหารที่ก่อให้เกิดแก๊สหรือการหลั่งของกรดมากขึ้น เช่น น้ำอัดลม กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง แอลกอฮอล์ บุหรี่ หัวหอม กระเทียม ซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ น้ำองุ่น น้ำผลไม้เปรี้ยว (เช่น น้ำส้มคั้น) ผลไม้เปรี้ยว ช็อกโกแลต สะระแหน่ หรืออาหารเผ็ดจัด เป็นต้น


นอกจากนี้ อาหารย่อยยาก เช่น อาหารทอด อาหารมัน และยาบางชนิด จะทำให้กระเพาะอาหารเคลื่อนที่ช้าลง โอกาสเกิดกรดไหลย้อนก็มากขึ้น รวมทั้งการนอนราบ การรับประทานอาหารที่อิ่มเกินไป และความเครียด ก็มีผลเช่นกัน
การดูแลตัวเอง

 

ใบยอ3

ควรลดละปัจจัยเสริมทั้งหมดเพื่อลดการกำเริบ การใช้สมุนไพรช่วยย่อยอาหารเพื่อลดการเกิดแก๊ส

“ยอ” มีรสร้อน ชาวบ้านนิยมใช้ยอเป็นทั้งอาหารและยา ในการบำรุงเลือดลม แก้ปวด แก้ปวดเมื่อย แก้หวัด ช่วยย่อยอาหาร บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ รักษาอาการลมพัดขึ้น เช่น คลื่นไส้อาเจียน ไอ เรอ ซึ่งฤทธิ์รักษาอาการลมพัดขึ้นนั้นใกล้เคียงกับอาการกรดไหลย้อนเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันได้มีงานวิจัยสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว อาทิ การศึกษาวิจัยในหนู พบว่า “ยอ” ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ สโคโปเลติน (scopoletin) เป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยนั้น สามารถลดการอักเสบของหลอดอาหารจากการไหลย้อนของกรดได้ผลดี พอๆ กับยามาตรฐานที่ใช้ในการรักษากรดไหลย้อน คือ รานิติดีน (ranitidine) และแลนโสพราโซล (lansoprazole) เนื่องจากมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านการหลั่งของกรด ต้านการเกิดแผล และทำให้การบีบตัวของระบบทางเดินอาหารดีขึ้น โดยมีผลต่อระบบประสาทที่เกี่ยวข้องโดยตรง และยังมีรายงานว่าสามารถเพิ่มการดูดซึมของรานิติดีน
 
“ยอ” จึงเหมาะในการเป็นสมุนไพรสำหรับรักษาอาการกรดไหลย้อนเป็นอย่างยิ่ง ทั้งจากการศึกษาวิจัยข้างต้น และการที่ “ยอ” มีรสร้อน ช่วยย่อยอาหาร ทำให้อาหารไม่ตกค้าง ไม่เกิดลมในกระเพาะอาหาร ลดการเกิดแรงดันที่ทำให้กรดไหลย้อน “ยอ” ยังช่วยให้กระเพาะบีบเคลื่อนตัวได้ดีขึ้น ทำให้อาหารเคลื่อนจากกระเพาะไปสู่ลำไส้เล็กได้ดีขึ้น
 

ใบยอ2

สมุนไพรที่อาจใช้ร่วมกัน คือ ขมิ้นชัน เนื่องจากขมิ้นชันมีสรรพคุณในการรักษาอาการท้องอืด และช่วยขับน้ำดีเพื่อย่อยไขมัน ทำให้อาหารไม่ตกค้างในกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กนานเกินไป ทั้งช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย
 
 
 
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X