15 พืชแปลกตาภูกระดึง ก่อนเปิดป่าท้าขาเที่ยว
2015-07-06 15:53:04
Advertisement
Pyramid Game

สำหรับขาเที่ยวสายอึด ถึก ทน และชอบเดินป่าเป็นชีวิตจิตใจ คงไม่มีใครไม่เคยไป 'ภูกระดึง' เพราะที่นี่มีเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย รวมถึงระหว่างทางที่เดินขึ้นยอดภูก็เต็มไปด้วยสีสันของพืชพรรณมากมายหลายชนิด

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ตั้งอยู่ที่อำเภอภูกระดึงในจังหวัดเลย เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศไทย เนื่องจากมีธรรมชาติที่สวยงาม นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 2 ถัดจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

นักท่องเที่ยวที่อยากจะไปสัมผัสอากาศดีๆ และเที่ยวชมจุดต่างๆ บนยอดภู จะต้องเดินเท้าจากที่ทำการอุทยาน (ตีนภู) ขึ้นไปจนถึงหลังแป ในระยะทาง 5.5 กม. และจากหลังแปถึงจุดที่พักอีกประมาณ 3.6 กม. ซึ่งการ 'เดินเท้า' นี่แหละ ถือเป็นเสน่ห์ที่ไม่มีวันเสื่อมคลายของการมาเที่ยวภูกระดึง

ธรรมชาติเขียวสด ระหว่างทาง

วันนี้ ไทยรัฐออนไลน์ จะขอพาไปชมพืชพรรณบนภูกระดึงกันเสียหน่อย เป็นการทิ้งทวนในช่วงปิดป่า คือตั้งแต่เดือน มิ.ย.- ก.ย. 2558 เพื่อให้ธรรมชาติได้พักฟื้น ก่อนจะเปิดป่าให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมธรรมชาติสวยๆ อีกครั้งในวันที่ 1 ต.ค. 2558

พืชพรรณที่ว่า ก็มีทั้งดอกไม้ป่าและพันธุ์ไม้แปลกตานานาชนิด ที่มีเฉพาะในพื้นที่ของภูกระดึงเท่านั้น เรียกว่าเป็นพืชประจำถิ่นที่หาดูได้ยาก ถ้าพร้อมแล้ว ตามมาชม 15 พืชป่าของภูกระดึงกันเลย

1. จุกนารี 

บานสะพรั่งรับแดดอุ่นๆ

จุกนารี หรือ โคลงเคลง เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ขึ้นแทรกตามกอหญ้าข้างทาง สามารถพบเห็นได้เป็นระยะๆ ดอกมีสีม่วง กลีบดอกบานกลม

2. กูดเกี๊ยะ 

ต้นกูดเพิ่งจะแทงยอด

เป็นพืชตระกูลเฟิร์นที่ขึ้นปกคลุมสองข้างทาง นอกจากนี้ก็มี 'เฟิร์นป่า' พันธุ์อื่นๆ ขึ้นอยู่ทั่วไปตามข้างทาง ระหว่างเดินทางตรงหลังแปก็จะพบเห็นอยู่มากมายหลายสายพันธุ์

เฟิร์นต้นอ่อนค่อยๆ คลี่ใบ

3. ก่วมแดง

ขนาดใบแห้งก็ยังสวย

ใบเมเปิลที่น้ำตก

ก่วมแดงเป็นพืชตระกูลเมเปิล หรือบางทีก็เรียกกันว่าใบเมเปิลแดง พบได้มากบริเวณน้ำตก

4. ส้มแปะ

พวงขาวดอกจิ๋วมากๆ

เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ออกดอกเป็นพวง ดอกสีขาวมีขนาดเล็กมาก

5. จอกบ่วาย

มีน้ำหนืดๆ มาล่อแมลง

จอกบ่วาย พืชเฉพาะถิ่นหายาก

เป็นพืชกินสัตว์ขนาดเล็กที่หายาก อยู่ในพืชตระกูลหยาดน้ำค้าง มีลักษณะลำต้นแนบไปกับพื้น ใบเป็นแผ่นมนรี ลักษณะคล้ายช้อน เรียงกันเป็นรูปวงกลม บริเวณปลายใบจะมีน้ำหนืดๆ เป็นกับดักคอยดักแมลง

6. ดอกหรีด

พันธุ์ไม้หายากอีกชนิดหนึ่ง

ดอกหรีด หรือ กอลักษณา ถือเป็นพืชหายาก มักพบตามป่าสนเขาที่มีระดับความสูง 1,400-1,500 เมตร มักขึ้นเป็นกระจุกกอเล็กๆ ตามผิวดิน ลำต้นแยกเป็นแขนงสั้นๆ ดอกมีสีม่วงอมน้ำเงิน หรือม่วงอมชมพู หรือขาว ออกเป็นกลุ่มกระจุกแซกตามซอกใบและปลายยอด

7. ข้าวตอกฤาษี

มอสที่มีขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่ง

มอสขึ้นฟูหนา พบที่ทางไปผานกแอ่น

ข้าวตอกฤาษี เป็นมอสชนิดหนึ่งที่พบได้เฉพาะที่นี่ ถือเป็นมอสที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไทย สวยงามที่สุด และมีอยู่เป็นจำนวนมาก

8. บัวแดง

สีชมพูอมม่วงสดสวย

บัวแดงชนิดนี้พบได้ตามแหล่งน้ำจืดทั่วไป ที่นี่มีจุดท่องเที่ยวที่เรียกว่า สระอโนดาต ซึ่งเป็นแหล่งที่พบบัวแดงนี้ได้มากมายละลานตา

9. หม้อข้าวหม้อแกงลิง

ซุกซ่อนอยู่ตามกอหญ้าข้างทาง

มีปากเปิดกว้าง ล่อแมลงให้ตกลงไป

เป็นพืชกินแมลงอีกชนิดหนึ่งซึ่งหายากมากๆ พบเห็นแค่บางช่วงระหว่างทางไปผาหล่มสัก แต่ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงขึ้นมาได้ และขายอยู่ทั่วไปตามตลาดต้นไม้ แต่ถ้าจะดูของจริงแบบออริจินอลต้องมาตามหาที่นี่

10. กล้วยไม้ป่า

กล้วยไม้ต้นจิ๋วบนต้นไม้ใหญ่

กล้วยไม้ป่า

กล้วยไม้ป่าที่นี่ส่วนใหญ่มักเกาะอยู่ตามต้นไม้ในลักษณะของกาฝาก หรือมีอีกบางจำพวกจะเกาะอยู่ตามแง่งหินในที่ชุ่มน้ำ

11. ดอกสนเขา

ดอกสนขาวๆ กระจุกเป็นช่อ

เมื่อขึ้นมาบนยอดภู จะพบกับป่าสนเขา มีทั้งสนสองใบและสนสามใบ เป็นพืชที่พบได้มากบนระดับความสูง ประมาณ 1,200-1,350 เมตร คิดเป็น 10% ของพื้นที่

12. ตีนตุ๊กแก

เลื้อยขึ้นไปปกคลุม

13. มอส

มอสฟูหนา

เป็นมอสอีกชนิดหนึ่งในตระกูลข้าวตอกฤาษี เกาะตามต้นไม้

14. ดอกหญ้าป่า

ดอกเล็กๆ กระจุ๋มกระจิ๋ม

15. ดอกไม้ป่า

สีม่วงอมชมพูตัดกับใบสีเขียวสด

ปิดท้ายกันด้วยเจ้านี่...

อำพรางตัว สีสันกลมกลืนไปกับใบไม้


ที่มาข้อมูล : th.wikipedia.org

ขอขอบคุณที่มา  ไทยรัฐออนไลน์

 

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X