วิเคราะห์เพจ "จบข่าว" ดังข้ามคืน สรุปข่าวออนไลน์เหลือ2-3ประโยค วงการสื่อถูกท้าทาย ?
2015-06-30 14:59:42
Advertisement
Pyramid Game
 
การพาดหัวข่าว หรือ การโปรยข้อความเพื่อล่อให้คลิกเข้าชมข่าวสารในลักษณะนี้แพร่หลายเป็นอย่างมากในวงการสื่อออนไลน์ เว็บข่าวมักมีการ"พาดหัวข่าว" ในลักษณะที่เรียกว่า "โพสต์แบบล่อให้คลิก" หรือ "Click bait"เช่น คุณจะไม่เชื่อสายตาตัวเอง , เรื่องนี้จะทำให้คุณทึ่ง , ตะลึง! เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อเธอพูดคำนี้กับเขา ฯลฯ ผลลัพธ์ของการสื่อสารลักษณะนี้ทำให้เกิดมุมมองที่แตกต่างกัน 
 
 
ล่าสุด มีผู้เปิดเฟซบุ๊กเพจในชื่อ "จบข่าว" เนื้อหาในเพจจะหยิบยกข่าวออนไลน์ที่มีพาดหัวเชิงดึงดูดผู้อ่านให้คลิกหาคำตอบและสรุปเนื้อข่าวให้สั้นลงเหลือเพียงไม่กี่ประโยคโดยโพสต์เป็นข้อความพร้อมภาพที่แสดงให้เห็นพาดหัวข่าวขณะที่สโลแกนเพจระบุว่า"เรื่องมันมีแค่นี้อยากรู้แต่ไม่อยากคลิกมาหาเราสิครับ"เพจนี้ได้รับความนิยมมากหลังสร้างเพจแค่วันเดียวมียอดไลค์พุ่งสูงไปกว่า100,000ไลค์แล้ว
 
หลังโด่งดังในชั่วข้ามคืนแอดมินเพจ "จบข่าว" ให้สัมภาษณ์กับ เว็บไซต์ droidsans โดยเปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของการทำเพจคือความผิดหวังกับสื่อไทย เพราะหงุดหงิดกับการพาดหัวแบบล่อให้คนกดเข้าชม ซึ่งเป็นการเกริ่นให้อยากรู้ แต่พอกดเข้าไปแล้วเนื้อหาข่าวไม่มีอะไร เสียเวลา เปลืองเน็ต จึงทำเพจขึ้นมาเพื่อสรุปข่าวสั้นๆ ให้คนได้อ่านกันโดยไม่ต้องเสียเวลาโหลด
 
นอกจากนั้นแอดมินเพจ"จบข่าว"ยังระบุว่าไม่ได้ต้องการให้คนไทยอ่านหนังสือน้อยลงเพราะเป้าหมายของเพจคือข่าวหรือกระทู้ที่ไม่มีสาระโดยไม่ได้มุ่งเน้นสรุปเนื้อหาในทุกๆเรื่องและไม่ได้คาดหวังจะเปลี่ยนแปลงวงการสื่อแต่อย่างใดแค่ไม่อยากให้คนไทยเสียเวลากับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องน้อยลง จะได้เอาเวลาไปทำอะไรที่มีสาระมากขึ้น
 
เฟซบุ๊กแฟนเพจ "จบข่าว" สะท้อนอะไรในวงการสื่อออนไลน์บ้าง มติชนออนไลน์สัมภาษณ์ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
 
การพาดหัวข่าวในสื่อออนไลน์เป็นอย่างไรบ้าง ?
 
คือมันมีพัฒนาการครับ ในอดีตการพาดหัวข่าวเป็นไปในลักษณะ "พาดหัวแบบเก็บประเด็นใจความสำคัญ" ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักใส่คำสำคัญไว้ในพาดหัวข่าวเพื่อสะดวกต่อการค้นหา แต่ในปัจจุบันโดยเฉพาะเว็บไซต์ที่ต้องการเรียกยอดผู้ชมจำนวนมากมัก "พาดหัวแบบหลอกให้คลิกเข้ามาชม" คือจะไม่บอกรายละเอียดของข้อมูลข่าวสาร แต่ใช้คำที่ยั่วให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นของคนที่อ่านเว็บไซต์ อยากคลิกเข้าไปอ่าน คลิกเข้าไปดู ซึ่งอันที่จริงแล้วกระแสการพาดหัวข่าวทำนองนี้ เริ่มขึ้นมาก่อนในต่างประเทศ แล้วแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทย ทั้งในเว็บข่าวและเว็บต่างๆ ของไทยเรา
 
 
มองการพาดหัวข่าวแบบหลอกให้คลิกเข้ามาชมอย่างไร?
 
ในช่วงต้นมันก็ยังโอเคคือมีการเปิดเข้าไปดูในเรื่องหรือประเด็นที่สนใจแต่ทีนี้ปรากฏว่ามันเริ่มแพร่ระบาดมากขึ้นเพราะว่าการพาดหัวในลักษณะนี้ได้ความนิยมมากกระแสแบบนี้เลยทำให้"เว็บข่าวมาตรฐานของไทยหลายแห่ง"เริ่มมีการปรับการพาดหัวข่าวเป็นลักษณะนี้มากขึ้นซึ่งทำให้ผู้ชมผู้อ่านก็จะเอียนเพราะว่ามันจะอึ้ง จะทึ่งอะไรกันทั้งวันขนาดนั้น แล้วอีกอย่างคือการอ่านเพียงพาดหัวข่าวก็ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ จนทำให้ต้องคลิกเข้าไปเพื่ออ่านรายละเอียด แล้วบางทีพอกดเข้าไปอ่ายรายละเอียด ปรากฏว่ามันไม่ได้ตื่นเต้นเท่ากับที่พาดหัวข่าวมา หลายๆ คนจึงรู้สึกแอนตี้
 
เฟซบุ๊กแฟนเพจ "จบข่าว" สะท้อนอะไร?
 
มองว่าเกิดขึ้น เพราะต้องการประชดสื่อออนไลน์ประเภท "พาดหัวข่าวแบบหลอกให้คลิก" แล้วมันก็เป็นความสะใจของการเฉลยเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งมันก็เป็นอาการสะใจ ประชดประชันอย่างหนึ่งที่ต้องการแสดงออกมา
 
กระแสนี้จะกระทบถึงเว็บไซต์ข่าวออนไลน์มากน้อยแค่ไหน?
 
ไม่น่าจะกระทบมากเพราะถ้าเนื้อข่าวมีสาระหรือเป็นเนื้อหาที่เขาสนใจเขาก็จะตามไปอ่านไปดูอยู่ดีแต่อย่างน้อยที่สุดกระแสนี้มันแสดงให้เห็นว่าผู้คนเริ่มไม่พอใจและหงุดหงิดใจกับการพาดหัวข่าวแบบหลอกให้คลิกเข้าชมของหลายสำนักข่าวหลายแห่งในไทย
 
การสรุปใจความสั้นๆของ เพจ "จบข่าว" ทำให้คนอ่านหนังสือน้อยลงไหม?
 
ผมว่ามันเป็นคนละประเด็นกัน คือการอ่านหนังสือน้อยลง เราเป็นกันอยู่แล้ว แล้วการเฉลยเนื้อข่าวตั้งแต่ต้นจนจบ มันก็ไม่ได้ส่งผลทำให้คนอยากจะอ่านหนังสือมากขึ้นเท่าไหร่นัก เพราะข่าวที่เพจนำเล่นโดยการเฉลยเนื้อหาตั้งแต่ต้นจนจบส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เป็นข่าวที่มีสาระ หรือทำให้ประเทืองปัญญามากมายนัก ผมเลยมองว่ามันเป็นคนละประเด็นกัน
 
 
มองการพาดหัวข่าวต่อไปในอนาคตอย่างไร?
 
คือพอถึงจุดหนึ่ง ผู้บริโภคจะอิ่มตัว ซึ่งเพจ "จบข่าว" เป็นภาพสะท้อนของความไม่พึงพอใจในระดับนึงที่เห็นได้ชัดเจน แล้วถ้าต่อไปสำนักข่าวหลายแห่งยังคงการพาดหัวข่าวในลักษณะหลอกให้เข้าไปชม ก็จะทำให้ผู้อ่านหมดความตื่นเต้นหรืออยากรู้อยากเห็นต่อตัวเนื้อข่าวลงอย่างมาก คือมันจะต่างจากยุคต้นๆ ที่พอเห็นอะไรแปลกๆก็น่าสนใจไปหมด เพราะฉะนั้นแล้วทางที่ดีคือ ควรจะลดปริมาณการพาดหัวแบบหลอกเข้าชมให้น้อยลง และเพิ่มปริมาณการพาดหัวแบบเก็บประเด็นสำคัญให้มากขึ้น เพื่อทำให้ผู้ชมไม่เบื่อไปเสียก่อน
 
 
ขอขอบคุณที่มา  มติชนออนไลน์
 
 
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X