เตือนฝังแร่จีน ชี้ไม่แก้มะเร็ง
2015-04-21 10:30:19
Advertisement
คลิก!!!

 

สธ.เตือนอันตรายฝังแร่เมืองจีนรักษาโรคมะเร็ง หลังมีผู้ป่วยชาวไทยนิยมไปฝังเข้าร่างกายชี้นอกจากกัมมันตรังสีจะแพร่คนรอบข้างแล้ว อาจเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดซ้ำ ฝังแร่ทำให้ก้อนเนื้อร้ายลดลงแค่ชั่วคราวเท่านั้น แต่ตัวเซลล์มะเร็งไม่ได้ตายไปด้วย อธิบดีกรมการแพทย์ขอให้ผู้ไปรักษาที่จีนให้รีบแจ้งชื่อด่วน ล่าสุดพบ 35 ราย แต่มีอีกหลายรายยังไม่แจ้ง เผยในไทยก็ใช้วิธีฝังแร่เหมือนกัน แต่เป็นแบบชั่วคราว มีอุปกรณ์ป้องกันได้มาตรฐานสากล



เมื่อวันที่ 20 เม.ย. นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีที่มีคนไทยเดินทางไปฝังแร่ไอโอดีน 125 ที่โรงพยาบาลรักษามะเร็งฟูด้า กว่างโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อรักษาโรคมะเร็ง ว่าขอแนะนำให้ประชาชนที่ไปฝังแร่ให้มาแสดงตัวต่อร.พ.ในพื้นที่ เพื่อหาปริมาณรังสีว่ามีค่าเกินมาตรฐานหรือไม่ และเพื่อรับคำแนะนำต่อถึงแนวทางปฏิบัติต่อไป เพราะสารกัมมันตรังสีที่อยู่ในตัวผู้ไปฝังแร่สามารถแพร่ออกมาได้ โดยอันตรายของแร่ขึ้นอยู่กับปริมาณกัมมันตรังสี เช่น ในระยะแรกจะมีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ ส่วนระยะยาวรังสีจะไปกดไขกระดูก ทำให้ไขกระดูกไม่ทำงาน และในระยะยาวจะส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งในเม็ดเลือดได้



นพ.สุพรรณกล่าวว่าผู้ที่ไปรักษาส่วนใหญ่จะเป็นพวกมะเร็งระยะสุดท้ายที่หวังให้ก้อนเนื้อลดลง อาจลดลงแต่อาจเป็นการลดลงเพียงชั่วคราว แต่ตัวเซลล์มะเร็งไม่ได้ตายไปด้วย ขอย้ำเตือนว่าเมื่อไปรักษามาแล้วต้องแจ้งประวัติที่แท้จริงว่าไปรักษาที่จีนหรือไม่ เนื่องจากบางร.พ.ที่มีหน่วยรังสีบำบัดจะมีเครื่องมือตรวจวัดค่า ขณะนี้มีผู้ป่วยที่ไปฝังแร่และแจ้งชื่อเข้ามานั้นมีคนไข้เข้ามารักษาและแจ้งว่าเคยไปฝังแร่ 35 ราย แต่ยังมีอีกหลายรายที่ไม่ยอมแจ้ง และรังสีอาจส่งผลกระทบต่อคนรอบ ข้างได้



ขณะที่นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผอ.ร.พ. มะเร็งลำปาง กล่าวว่าการรักษามะเร็งด้วยการฝังแร่นั้น ในประเทศไทยจะเป็นแบบไม่ถาวร หรือเรียกว่าใส่แร่แบบชั่วคราว โดยปกติใช้เฉพาะการรักษามะเร็งปากมดลูก จะฝังประมาณ 10-15 นาที เพื่อเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งแล้วจึงเอาออก ระยะเวลาในการฝังแร่อยู่ที่ระยะของโรคมะเร็งด้วย โดยแพทย์จะเป็นผู้คำนวณระยะเวลา สำหรับการใส่แร่แบบชั่วคราวมีการดำเนินการที่ปลอดภัย เนื่องจากใช้เครื่องใส่แร่แบบอัตโนมัติ ระหว่างการใส่แร่ แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่จะอยู่นอกห้อง ไม่ได้รับอันตรายจากการใส่แร่ และเมื่อใส่แร่เสร็จแล้วเครื่องจะถอนแร่ออกมาจากร่างกายแล้วนำไปเก็บในอุปกรณ์ป้องกัน หลังจากใส่แร่เสร็จแล้วผู้ป่วยกลับบ้านได้ทันที ไม่ส่งผลกระทบอันตรายต่อคนรอบข้าง



ผอ.ร.พ.มะเร็งลำปางกล่าวต่อว่า ส่วนการฝังแร่แบบถาวรในประเทศไทย พบว่าทำได้ในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก ด้วยการใช้แร่ไอโอดีน 125 มีโรงเรียนแพทย์บางแห่งดำเนินการ การฝังแร่แบบถาวรที่ต่อมลูกหมากถือว่ามีความปลอดภัย เพราะฝังลึกเข้าไปในร่างกาย และใช้จำนวนที่น้อยมาก จึงไม่ส่งผลกระทบต่อคนรอบข้าง ไม่เหมือนการนำมาฝังที่ปอด หรือตับ ประเทศไทยยังไม่มีการรักษาเช่นนี้ ส่วนร.พ.มะเร็งลำปางยังไม่ใช้วิธีฝังแร่ถาวรที่ต่อมลูกหมาก เนื่องจากแพทย์ต้องมีความเชี่ยวชาญ และต้องพิจารณาจำนวนคนไข้ด้วย



"อานุภาพหรือความแรงในการแผ่รังสีของแร่ขึ้นอยู่กับขนาด ชนิด และอายุครึ่งชีวิตของแร่ด้วย แต่ละประเภทจะแตกต่างกันไป เช่น โคบอลต์ ซีเซียม ไอโอดีน 125 เป็นต้น สำหรับระยะที่ปลอดภัยจากแร่กัมมันตรังสีที่ใช้ในการรักษามะเร็งนั้นอยู่ที่ประมาณ 2 เมตร ระหว่างการรักษาบุคลากรทางการแพทย์จะป้องกันการสัมผัสรังสีของแร่ด้วยเครื่องกำบัง มีฉากตะกั่ว หรือสวมเสื้อตะกั่วในการป้องกัน" นพ.สมเกียรติกล่าว



ส่วนนพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยา ศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่าขณะนี้รมช.สาธารณสุข มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำหนังสือ 2 ฉบับคือ 1.ให้ร่วมกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ทำหนังสือถึงทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือไอเออีเอ เพื่อให้ทราบถึงปัญหาที่ประเทศไทยกังวล และขอความช่วยเหลือในการตรวจสอบความปลอดภัยจากการรักษาด้วยรังสี และ 2.มอบหมายให้ทำหนังสือถึงร.พ.รักษามะเร็งฟูด้า กว่างโจว เพื่อขอรายชื่อผู้ป่วยไทยที่ไปรักษาที่จีนว่ามีกี่ราย เป็นใคร เนื่องจากทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะประสานให้สถาบันมะเร็งแห่งชาติติดตามรายชื่อดังกล่าว เพื่อนำมาตรวจหาค่าปริมาณรังสี และอันตรายที่อาจเกิดขึ้น โดยหนังสือทั้ง 2 ฉบับ อยู่ระหว่างส่งถึงนพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข เพื่อลงนามและส่งถึงแต่ละแห่ง คาดว่าภายในสัปดาห์นี้น่าจะแล้วเสร็จ



ขณะเดียวกัน นายกิตติศักดิ์ ชินอุดมทรัพย์ รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติกล่าวว่ากัมมันตรังสี ไอโอดีน 125 เป็นแร่ที่มีใช้งานในประเทศไทยเหมือนกัน ใช้สำหรับรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ไทยมีระเบียบปฏิบัติ หรือข้อควบคุมป้องกันในการใช้ที่เป็นสากล ร.พ.ยึดข้อปฏิบัติตรงนี้เป็นเกณฑ์มาตลอด ไม่มีปัญหาอะไร มีการขออนุญาตนำเข้าสารรังสีและขออนุญาตใช้ เมื่อฝังไอโอดีน 125 ในร่างกายผู้ป่วยแล้ว ก่อนออกจากร.พ.ต้องวัดการแผ่รังสีว่าต้องไม่เกินกว่าที่กำหนด เพื่อให้แน่ใจว่าไม่เป็นอันตรายต่อสาธารณชน หรือบุคคลใกล้ชิด ปัญหาคือผู้ป่วยที่รับการรักษาที่ประเทศจีน ไม่แน่ใจว่าปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เป็นสากลหรือไม่ เพราะกรณีที่พบผู้ป่วยล่าสุดมีปริมาณรังสีสูง อาจเกิดจากการรับการฝังแร่แล้วแพทย์ให้กลับบ้านเลย



รองเลขาฯสำนักปรมาณูเพื่อสันติกล่าวต่อว่าไอโอดีน 125 จะถูกบรรจุในโลหะไทเท เนียมอีกทีหนึ่ง ขนาดเล็กเท่าเมล็ดข้าว ที่ผ่านมาไทยใช้ไอโอดีน 125 รักษามะเร็งในต่อมลูกหมากเท่านั้น อวัยวะอื่นยังไม่พบ โดยแพทย์จะสำรวจว่าจะใช้แร่จำนวนเท่าไหร่ จากนั้นนักฟิสิกส์จะเป็นคนวางแผน คำนวณขนาดรัศมีของรังสีเพื่อกำหนดจุดวางก้อนแร่ในการรักษา ไทยใช้กัมมันตรังสี 2 ชนิดรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก คือไอโอดีน 125 และพาลาเดียม 103



"หากปฏิบัติตามมาตรฐานสากล วิธีการรักษาแบบนี้ปลอดภัย.0แน่ แต่ที่จีนไม่ทราบว่าเป็นมาตรฐานสากลหรือไม่ อย่างน้อยคนไข้อาจต้องแจ้งเตือนให้แพทย์ในไทยรู้ว่าไปทำอะไรมา จะได้ตรวจสอบได้เบื้องต้น แต่ส่วนมากตรวจพบโดยบังเอิญ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์และคนทั่วไปได้รับรังสีโดยไม่จำเป็น หากปริมาณรังสีเกิน คนทั่วไปได้รับรังสี แต่จะไม่ถึงกับเสียชีวิต แต่ปกติเราไม่ควรได้รังสีโดยไม่จำเป็น ล่าสุดทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติประสานร.พ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีข้อมูลเพื่อหารือเรื่องนี้แล้ว และจัดทำแผ่นพับประชาสัมพันธ์ข้อมูลการรับมือสำหรับประชาชนทั่วไป ส่งให้ร.พ.หลายแห่งทั่วประเทศ เพราะไม่แน่ใจว่าผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีการฝังแร่ชนิดนี้เดินทางไปที่ใดบ้าง" นายกิตติศักดิ์กล่าว



รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ผู้ป่วยมะเร็งชาวไทย 7 คน ที่ไปฝังแร่ที่ประเทศจีน และเข้ารับการรักษาตัวที่ร.พ.ศิริราช ก่อนเสียชีวิตไปแล้ว 6 ราย

 
 
ขอขอบคุณที่มา  ข่าวสดออนไลน์
 
 
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X