"สังคมอินเทอร์เน็ต” น่ากลัวจริงหรือ?
2015-04-09 12:53:08
Advertisement
Pyramid Game

สังคม (ชุมชนออนไลน์ โซเชียลเน็ตเวิร์ค) เป็นสังคมยุคใหม่ที่เปิดประตูให้ทุกคนเข้ามาอยู่อาศัย เป็นเวลามากกว่า 10 ปีแล้ว เป็นสังคมที่เติบโตอย่างรวดเร็วและมีอิทธิผลต่อชีวิตประจำวันของทุกคนอย่างยิ่ง เราได้พบเรื่องราวดีๆ มากมายในสังคมนี้ เช่นเดียวกับเรื่องแย่ๆ ที่ทำให้ต้องส่ายหน้า จนหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า “สังคมอินเทอร์เน็ตนั้นน่ากลัว” ซึ่งจริงๆ แล้ว สังคมอินเทอร์เน็ตน่ากลัวจริงหรือ?

การสื่อสารที่รวดเร็ว ช่วยทำให้โลกทุกวันนี้มีจังหวะการก้าวเดินที่เร่งรีบ ทุกอย่างรวดเร็วไปหมดทั้งข่าวสาร บันเทิง และความมั่นคงของชาติ… เรื่องราวทั้งดีและไม่ดีถูกแชร์ต่อด้วยความรวดเร็วที่มาพร้อมกับความฉาบฉวย ประเด็นที่ทุกคนกล่าวถึงวันนี้ กลับลบหายไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเพียงผ่านเวลาแค่ข้ามคืน เรื่องต่างๆ ที่วิพากษ์วิจารณ์กันกลับเป็นคนละเรื่องเมื่อความจริงได้เปิดเผย การแสดงความคิดเห็นของแต่ละคน ถูกประกาศออกไปในวงกว้างเกินกว่าจะควบคุม บางความเห็นก็รุนแรงและเสี่ยงต่อความเข้าใจผิด นำมาซึ่งประเด็นดราม่ามากมายที่มีให้เสพได้ไม่เว้นแต่ละวัน

กระแสความรวดเร็วของสังคมอินเทอร์เน็ต ทำให้หลายคนเริ่มมองว่า สังคมอินเทอร์เน็ต เต็มไปด้วยความรุนแรงของเนื้อหา บางคนเริ่มรู้สึกกลัวที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสังคมนี้

แน่นอน “สุนัขกัดคน” ไม่น่าสนใจเท่า “คนกัดสุนัข” ฉันใดก็ฉันนั้น นั่นจึงทำให้เราพบว่า การแชร์และการแสดงความเห็นต่อเรื่องราว เต็มไปด้วยความดุเด็ดเผ็ดร้อนของคำและสำนวน ที่ไม่อาจปฏิเสธว่า มันก็มีความน่ากลัวเจือปนอยู่จริงๆ

อย่างไรก็ตาม เราก็ยังเห็นเรื่องราวดีๆ อีกมากมายใน ที่สังคมอินเทอร์เน็ตนี้ช่วยบอกต่อ ช่วยแชร์กันมากมาย เป็นตัวอย่างที่ดีและสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆ คน

ในอดีตลู่ทางในการแสดงออกมีน้อย การจะรู้ถึงกระแสสังคมว่าสังคมคิดเห็นอย่างไรยังจำกัดและไม่มีอะไรชี้วัด แต่การก่อกำเนิดของ อินเทอร์เน็ต และเครื่องมือ Social Media ต่างๆ ทำให้แต่ละคนมีพื้นที่ในการแสดงออกเท่าเทียมกัน จนกลายเป็น “สังคมอินเทอร์เน็ต” อย่างทุกวันนี้ เราจึงรู้ได้ทันทีว่า สังคมทุกวันนี้ติดตามอะไร ชอบหรือเกลียดอะไร และให้ความสนใจกับอะไร อันจะเป็นดัชนีชี้วัดสังคมนั้นๆ

มันส่งเสริมให้คนแตกแยกกันไหม? หากเราตั้งความคิดบนพื้นที่ว่า “คนแต่ละคนมีความเป็นปัจเจก” เราก็จะยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่างของกันและกัน และหากเรายอมรับว่า “ไม่มีใครที่รู้สิ่งใดหรือเข้าใจสิ่งใดได้อย่างถ่องแท้” ความเห็นที่แตกต่างจึงไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เพราะมันนำมาซึ่งการต่อยอดทางความรู้ อีกทั้งการ “เคารพซึ่งกันและกัน” ความแตกแยกก็จะเบาบางลง

สังคมอินเทอร์เน็ตเป็นสังคมเสรี? เสรีในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำอะไรก็ได้ เสรีในที่นี้คือการเปิดความทางความคิด เปิดกว้างในการแสดงความเห็น แต่หลายคนหลงลืมในการ “เปิดใจ” ให้เสรี

ว่ากันอย่างตรงไปตรงมา “สังคมอินเทอร์เน็ต ก็คือภาพสะท้อนของสังคมที่เราอยู่ในทุกวันนี้” ในการทำให้สังคมน่าอยู่ทุกคนก็ต้องร่วมมือกัน เช่น เคารพกฎจราจร ไม่แซงคิว ยืนบันไดเลื่อนชิดขวา ให้เกียรติแก่เด็ก สตรี คนชรา ฯลฯ ในสังคมอินเทอร์เน็ต ก็เช่น บอกต่อเรื่องราวดีๆ แสดงความเห็นต่างๆ อย่างให้เกียรติและเคารพผู้อื่น ฯลฯ สังคมอินเทอร์เน็ต ก็จะค่อยๆ ลดความน่ากลัว เรื่องราวดราม่าก็จะลดน้อยลงไปได้เอง

แต่การจะทำเช่นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เวลา สังคมเกิดใหม่อย่าง สังคมอินเทอร์เน็ต ที่เกิดมาไม่นานก็ยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควรในการเติบโตขึ้น เช่นเดียวกับผู้อาศัยในสังคมอินเทอร์เน็ตที่ต้องเรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองกันต่อไป

เพราะท้ายที่สุดสิ่งที่น่ากลัวไม่ใช่ “สังคมอินเทอร์เน็ต” แต่เป็น “ผู้ที่อาศัยอยู่ในสังคมอินเทอร์เน็ต” ต่างหาก..

 

ขอขอบคุณGM LIVE ผู้สนับสนุนเนื้อหา
ขอขอบคุณที่มา  www.sanook.com
 
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X