คอทองแดงซดเหล้าจัด เสี่ยงตาย
2015-04-07 14:06:11
Advertisement
Pyramid Game

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะในช่วงนี้ สภาพอากาศร้อนอบอ้าว ประชาชนบางกลุ่มอาจเจ็บป่วยจากอากาศร้อนได้ ที่น่าห่วงและมีอันตรายสูงคือฮีทสโตรก (Heat stroke)หรือโรคลมแดด ซึ่งเป็นภาวะวิกฤต ร่างกายไม่สามารถปรับตัว หรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายจากผลของสภาพอากาศที่ร้อนจัดซึ่งบางพื้นที่อาจสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส หากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ต่อเนื่อง จะทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิน 40 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ หน้ามืด เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคลมแดดได้สูงกว่าคนทั่วไปมี 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น ออกกำลังกาย 2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบและผู้สูงอายุ มีประมาณ 13 ล้านคน เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว 3.ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง มีประมาณ 4 ล้านคน ซึ่งมีปัญหาการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดเดิมอยู่แล้ว 4.คนอ้วน 5.ผู้ที่อดนอนโดยร่างกายของคนอ้วนและผู้ที่อดนอน จะตอบสนองต่อความร้อนที่ได้รับช้ากว่าปกติ โดยเฉพาะในคนอ้วนจะมีไขมันใต้ผิวหนังมาก ไขมันจะเป็นฉนวนกันความร้อน ร่างกายจะสามารถเก็บความร้อนได้ดี และระบายความร้อนออกได้น้อยกว่าคนทั่วไป จึงเกิดปัญหาได้ง่าย

และ6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่ม ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยที่อยู่บริเวณใต้ผิวหนังขยายตัวได้มากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ขณะเดียวกันในสภาพอากาศที่ร้อนจัด แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว และออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจทำงานต้องหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย อาจทำให้ช็อค และเสียชีวิตได้ กำชับให้ทุกจังหวัดเร่งให้คำแนะนำความรู้ในการดูแลและป้องกันโรคลมแดด

ทั้งนี้ สำนักระบาดวิทยา รายงานในช่วงปี 2546-2556 ไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดด 196 ราย โดยเป็นผู้สูงอายุมากที่สุดพบร้อยละ 16 รองลงมาคือผู้มีอาชีพรับจ้าง ผู้ที่มีโรคประจำตัว และดื่มสุรา โดยเฉพาะปี 2556 มีผู้เสียชีวิตในเดือนมีนาคม-เมษายน จำนวน 20 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชายและอายุมากกว่า 60 ปี โดยเสียชีวิตในบ้านมากที่สุด รองลงมาคือที่ทำงานและในรถยนต์

 

ขอขอบคุณมติชนออนไลน์ ผู้สนับสนุนเนื้อหา

 
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X