เมนู "หมูดิบ" เสี่ยงโรคไข้หูดับ พบป่วยแล้ว 41 ตาย 2 ราย
2015-03-29 13:25:13
Advertisement
Pyramid Game

         คร. เตือนกินเนื้อหมูปรุงสุกๆ ดิบๆ เสี่ยงติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ซูอิส ทำหูหนวกหรือเสียชีวิตได้ เผยปีนี้ 3 เดือนแรก ป่วยแล้ว 41 ราย เสียชีวิต 2 ราย พบผู้ป่วยได้บ่อยช่วงเทศกาล ที่มีการเลี้ยงสังสรรค์ ล่าสุดพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนที่จังหวัดน่าน-นครสวรรค์ 

 
         นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้บางพื้นที่มีฝนตก ทำให้ฟาร์มหรือโรงเลี้ยงสัตว์มีความอับชื้น ทำให้สัตว์เลี้ยงป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะในสุกรที่เป็นสัตว์นำเชื้อแบคทีเรีย ชื่อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) ที่ติดมาสู่คนพบได้บ่อย ทำให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิตได้ คือ โรคไข้หูดับ โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในกระแสเลือดของหมูที่กำลังป่วย ติดต่อสู่คนทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา และจากการรับประทานเนื้อหมูที่ปรุงดิบหรือสุกๆ ดิบๆ ซึ่งเชื้อจะเข้าไปทำให้เยื่อหุ้มสมอง เยื่อบุหัวใจ อักเสบ และที่สำคัญคือทำให้ประสาทหูทั้ง 2 ข้างอักเสบและเสื่อมจนหูหนวก พบได้ร้อยละ 54-80 ส่วนอัตราเสียชีวิตพบได้ร้อยละ 5-20
       
        จากการเฝ้าระวังโรคไข้หูดับโดยสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -19 มีนาคม 2558 พบผู้ป่วย 41 ราย เสียชีวิต 2 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมา คือ 35-44 ปี และ 55-64 ปี จังหวัดที่พบป่วยต่อแสนประชากรมากที่สุด ได้แก่ นครสวรรค์ รองลงมา คือ อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ฉะเชิงเทรา และเชียงใหม่ ตามลำดับ ล่าสุดพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนใน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน จำนวน 5 ราย ส่วนในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ พบเสียชีวิตยืนยันเชื้อสเตร็บโตค็อกคัส ซูอิส จำนวน 2 ราย ส่วนสถานการณ์โรคไข้หูดับปี 2557 ทั้งปี พบผู้ป่วย 226 ราย เสียชีวิต 15 ราย ทั้งนี้จากการสอบสวนโรค พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน เมื่อเสร็จสิ้นการทำงานมักมีการสังสรรค์ หรือในงานเทศกาล งานแต่งงาน งานบวชที่มักจะมีการดื่มสุราร่วมกับการรับประทานเนื้อหมูที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้หมูดิบ หมูกระทะที่ปิ้งย่างไม่สุก จิ้มจุ่มที่ต้มไม่สุก เป็นต้น
       
        นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ผู้ที่ได้รับเชื้อสเตรปโตค็อคคัส ซูอิส เข้าไปในร่างกาย จะป่วยหลังติดเชื้อประมาณ3-5 วัน อาการที่พบ คือไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูดับ ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด การป้องกันการติดโรค 1.ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมูสัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ สวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หลังงานเสร็จให้อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด และดูแลฟาร์มเลี้ยงให้สะอาดอยู่เสมอ 2. ประชาชนควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ และ 3.ให้ปรุงเนื้อหมูให้สุกทั่วถึงด้วยความร้อนหรือทำให้สุกจนเนื้อไม่มีสีแดง ไม่รับประทานเนื้อและเลือดหมูสุกๆ ดิบๆ นอกจากนี้กรมควบคุมโรคได้ประสานประสานกรมปศุสัตว์ เพื่อให้คําแนะนําฟาร์มเลี้ยงสุกรให้ปรับปรุงฟาร์มให้มีการสุขาภิบาลที่ดี ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการป่วยหลังสัมผัสหมูที่ป่วย หรือหลังรับประทานอาหารที่ปรุงมาจากเนื้อหมู เลือดดิบๆ หรือปรุงสุกๆ ดิบๆ ให้รีบพบแพทย์ทันที โรคนี้รักษาหายและมียารักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรคโทร 1422
 
 
ขอขอบคุณที่มา  http://www.manager.co.th/
 
 
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X