ไตเติ้ลละครญี่ปุ่นมีอะไรมากกว่าที่คิด!
2015-03-04 11:25:14
Advertisement
Pyramid Game

องค์ประกอบสำคัญของละครอีกอย่างหนึ่งก็คือ “ไตเติ้ลเปิดและปิดละคร” ค่ะ แม้จะเป็นส่วนที่จำเป็นต้องมีในละครทุกๆ เรื่อง แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นส่วนที่คนดูไม่ค่อยอยากจะตั้งตารอดูสักเท่าไร แต่สำหรับละครญี่ปุ่นแล้ว น่าดูตั้งแต่ไตเติ้ลละคร เนื้อเรื่องของละคร ยันไปถึงไตเติ้ลตอนปิดเรื่องเลยค่ะ ว่าแต่ทำไมไตเติ้ลละครญี่ปุ่นถึงน่าดูอะไรขนาดนั้น ลองตามมาอ่านกันเลยค่ะ


1.   ไตเติ้ลเปิดตัวละครไม่ใช่ส่วนแรกของละคร
ปกติเวลาเราดูละครไทย จะมีเพลงไตเติ้ลละครขึ้นก่อนใช่ไหมคะ แต่ถ้าเป็นละครญี่ปุ่นแล้วล่ะก็ ไม่ใช่แบบนั้นเลยค่ะ แล้วเพลงไตเติ้ลเปิดตัวละครนี้จะไปโผล่ในตอนไหนน่ะเหรอคะ ก็จะโผล่ออกมาหลังจากละครฉายไปแล้วสักประมาณ 1-10 นาที แล้วแต่เรื่องค่ะ ก็คือว่า พอถึงเวลาละครมา ละครจะเข้าสู่เนื้อเรื่องเลย พอฉายไปได้สักแปปนึง ก็จะตัดเข้าสู่เพลงไตเติ้ลของละคร แล้วค่อยฉายละครต่อไปค่ะ 


2.   ไม่ได้ตัดจากฉากในละครที่ถ่ายทำไว้แล้ว
ไตเติ้ลละครญี่ปุ่นจะสร้างขึ้นมาใหม่ค่ะ จะไม่มีการนำฉากที่ถ่ายทำไว้ในละครมาตัดต่อแล้วมาเรียงกันให้เป็นไตเติ้ล แต่จะเป็นอีก Story หนึ่งที่สร้างขึ้นมาใหม่ ให้มีความเชื่อมโยงกับละครนั้น เช่น เรื่อง“Priceless” ก็จะเปิดฉากด้วยเหรียญ 100 เยน 1 เรื่อง ที่กลิ้งตกลงบนพื้น แล้ว “ทาคุยะ คิมูระ” ตัวละครเอกของเรื่อง ก็ทำหน้าตื่นตกใจเมื่อเห็นเหรียญนั้นตก แล้วก็ไล่ตามเหรียญ 100 เยน แบบสุดฝีเท้า แล้วค่อยตามมาด้วยนักแสดงคนอื่นๆ ที่วิ่งไล่ตามเหรียญนั้นเช่นกัน 

 




ไตเติ้ลเปิดละครนี้พยายามจะสื่อถึงแก่นหลักของเรื่องค่ะว่า เป็นเรื่องที่สื่อให้เห็นถึงคุณค่าของเงิน ในเรื่องนี้ทาคุยะจะเป็นผู้ชายที่รักความฟู่ฟ่า แต่วันดีคืนดีกลับหมดเนื้อหมดตัว ไม่มีที่อยู่ ไม่มีข้าวกิน แค่เงิน 100 เยน ที่ใครๆ อาจไม่เห็นค่า ก็สามารถต่อชีวิตเขาให้เดินต่อไปได้ค่ะ

 




หรือบางเรื่องก็มาแบบโชว์พิเศษเหมือนกับเพลงตอนจบของละคร “Saikou no Rikon” ไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อหาในละครอะไรเลย แต่ก็เป็นโชว์ที่สื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในตัวละครได้ค่ะ นั่งดูแล้วเพลินมากค่ะ ซึ่งแต่ละตอนก็ไม่ได้เป็นท่าเต้นที่เหมือนกันด้วยนะคะ รู้สึกชอบมากค่ะ ไม่เคยเห็นเอตะกับโกเต้นอะไรแบบนี้เลย (ทำไมชามะนาวโฟกัสแต่ผู้ชายล่ะคะ!?)

แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเรื่องที่เอาฉากที่ถ่ายแล้วมาทำนะคะ บางเรื่องก็มีค่ะ แต่จะเป็นลักษณะที่ว่า ถ้าเป็นไตเติ้ลเปิดเรื่อง จะเอาฉากในตอนนั้นๆ มาทำเป็นไตเติ้ล เหมือนเผยฉากต่อไปที่จะเห็นในตอนนี้แบบน้ำจิ้ม และถ้าเป็นท้ายเรื่องก็จะมีฉากที่ฉายจบไปแล้วอยู่ในไตเติ้ล เหมือนเป็นการประมวลฉากละครที่เคยดูผ่านมาค่ะ


3.    สั้นๆ ไม่ต้องยาวเท่าเพลงประกอบจริง
ไตเติ้ลละครญี่ปุ่นจะสั้นมาก จนน่าใจหายค่ะ ในส่วนของไตเติ้ลเปิดตัวละครจะสั้นกว่าตอนจบสักหน่อย แต่ก็สมกับเป็นไตเติ้ลเปิดเรื่องจริงๆ ที่ฉายเพื่อเรียกน้ำจิ้มเฉยๆ ความยาวของไตเติ้ลเปิดตัวละครญี่ปุ่นจะอยู่ที่ประมาณ 1 นาทีค่ะ อาจจะสั้นหรือยาวกว่านี้เพียงเล็กน้อยค่ะ ซึ่งตามเป็นจริงแล้ว เพลงประกอบละครที่เปิดในไตเติ้ลเรื่องเนี่ย มันยาวกว่านี้ค่ะ ยาวประมาณ 3-5 นาที แต่เขาตัดให้เหลือสั้นนิดเดียว อย่างเรื่อง “Last Friends” ความยาวจริงๆ ของเพลงนี้เกือบ 5 นาที แต่ตัดให้เหลือแค่ 1:30 นาที ให้จบพอดีกับ Story ของไตเติ้ลละคร

ที่ไตเติ้ลละครในตอนเปิดเรื่องมีความสั้นกระชับมาก อาจเป็นเพราะว่าจุดประสงค์หลักของไตเติ้ลละครค่ะ ที่ไม่ได้มีไว้เพื่อแนะนำละคร หรือทีมงานมาก แต่จริงๆ แล้ว มันคือการ “โฆษณา” ผู้สนับสนุนละครมากกว่าค่ะ ปกติแล้วในไตเติ้ลละครจะมีพวกสปอนเซอร์ให้เราได้เห็นกัน เดี๋ยวจะอธิบายเรื่องนี้ต่อในข้อต่อไปค่ะ


4.   มีเสียงคนอ่านสปอนเซอร์ด้วย!
 



สิ่งพิเศษของไตเติ้ลละครญี่ปุ่นอีกอย่างก็คือ จะมีเสียงอ่าน “สปอนเซอร์” หรือโฆษณาของละครค่ะ ถ้าเป็นละครบ้านเรา ก็จะเห็นเป็นแค่โลโก้ของโฆษณาวิ่งผ่านจอ แต่ของญี่ปุ่นไม่ใช่ค่ะ มันจะมีช่วงที่ต้องอ่านรายชื่อสปอนเซอร์ของละครว่ามีเจ้าไหนบ้าง ในช่วงนี้เสียงเพลงประกอบไตเติ้ลก็จะเบาลง และได้ยินเสียงอ่านชื่อโฆษณาชัดเจนมาก แฟนละครญี่ปุ่นคงจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี ทักจะเป็นเสียงผู้หญิงนางนึง (บางเรื่องก็เป็นเสียงผู้ชาย แต่รู้สึกว่าเสียงผู้หญิงของนางคนนี้ (ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นนางคนไหน เดี๋ยวจะไปสืบมาบอกคราวหน้าค่ะ) บ่อยมาก ออกมาอ่านออกเสียงว่า この番組はご覧のスポンサーの提供でお送りします。(Kono Bangumi wa Goran no Suponsaa no Teikyou de Okurishimasu) แปลออกมาได้ประมาณว่า “รายการที่กำลังรับชมนี้ ได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์ดังต่อไปนี้ค่ะ...” 

ได้ยินเสียงนี้ทุกตอน จนรู้สึกว่า ถ้าดูเรื่องไหนแล้วไม่ได้ยินเสียงนี้แล้วรู้สึกเหมือนมีอะไรขาดหายไปเลยนะ แต่ก็มีเรื่องหนึ่งที่ไม่มีเสียงนี้ค่ะ ซึ่งก็คือเรื่อง “Ashita Mama ga Inai” เพราะเป็นเรื่องที่มีบางฝ่ายออกมาให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตเด็กกำพร้า พวกสปอนเซอร์ก็เลยร่วมภารกิจคว่ำบาตร ด้วยการไม่เป็นสปอนเซอร์ให้กับเรื่องนี้เลยแม้แต่ตอนเดียว แต่ทางช่อง NTV และผู้จัดทำละครเรื่องนี้ เห็นว่า ละครเรื่องนี้มีเจตนาที่จะแก้ปัญหา ไม่ได้สร้างปัญหาอย่างที่ใครเข้าใจ ก็เลยฉายต่อไป ทั้งๆ ที่ไม่มีสปอนเซอร์รายใดเลย


5.   ไม่ต้องแนะนำตัวละครทุกตัว
อย่างที่บอกไปค่ะว่า ไตเติ้ลละครญี่ปุ่นจะสั้นมาก ดังนั้น ถ้าจะให้แนะนำตัวละครทุกตัวผ่านไตเติ้ลละครก็คงจะไม่ได้แน่ๆ ไตเติ้ลละครญี่ปุ่นจะแนะนำเฉพาะตัวละครเอก หรือตัวละครหลักๆ ของเรื่องเท่านั้นค่ะ 

 




บางเรื่องโผล่มาแค่พระ-นางนะคะ อย่างเรื่อง “Liar Game” ภาคแรก โผล่มาแค่นาโอะจังกับอากิยาม่า นอกเหนือจากนั้นเห็นทีจะเป็นโซฟาค่ะ! ส่วนตัวละครคนอื่นๆ จะเป็นรายชื่อวิ่งผ่านจอเฉยๆ หรืออีกกรณีก็จะไปโผล่รายนามอีกทีในตอนไตเติ้ลจบตอนค่ะ 


6.   ไตเติ้ลไม่เหมือนกันทุกตอน
นอกจากละครญี่ปุ่นจะสร้างไตเติ้ลละครขึ้นมาใหม่ ไม่ให้ซ้ำกับตอนใดตอนหนึ่งในเนื้อเรื่องแล้ว บางเรื่องก็ถึงกับขั้นทำไตเติ้ลละครให้เป็นเรื่องเป็นราว เป็นซีรีส์ซ้อนซีรีส์แล้วทีเดียว อย่างเช่น เรื่อง “Legal High”หลายคนอาจไม่ทันได้สังเกตว่าไตเติ้ลละครในแต่ละตอนไม่เหมือนกันค่ะ แถมมีความต่อเนื่องกันเป็นเรื่องเป็นราวด้วย ต้องเอาไตเติ้ลของแต่ละตอนมาดูต่อๆ กันแบบในคลิปนี้ค่ะ แล้วจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกันจริงๆ

 




7.   ลูกเล่นอื่นๆ
ไตเติ้ลเปิดเรื่องรวมถึงปิดเรื่องของละครญี่ปุ่นก็จะมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปค่ะ แล้วแต่ความครีเอทีฟของแต่ละเรื่อง ลูกเล่นที่น่าสนใจ เช่น

-   ฟ้อนต์งามๆ
องค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในไตเติ้ลละครก็คือ “ฟ้อนต์” หรือรูปแบบตัวอักษรค่ะ ถ้าสังเกตในแต่ละเรื่องจะเห็นว่าแต่ละเรื่องก็จะใช้ฟ้อนต์ที่แตกต่างกันออกไป จะไม่ได้ใช้ฟ้อนต์แบบทางการ แต่จะเลือกใช้หรือดีไซน์ฟ้อนต์ให้เข้ากับโทนของเรื่อง เช่น

 

 

จากเรื่อง “Bitter Blood” เป็นละครแนวสืบสวนสอบสวน 
ตัวอักษรก็จะออกแนวตัวใหญ่ๆ ดูแข็งๆ หน่อย พร้อมกับมีรอยยิงที่ตัวอักษรด้วย



 

 

อันนี้จากเรื่อง “Last Friends” ค่ะ 
แนวความรัก ตัวอักษรก็จะสมูทหน่อย เป็นลักษณะของลายเส้นแบบเขียนด้วยลายมือ 
แสดงให้เห็นถึงความเป็นอิสระของความรู้สึก 
มาอธิบายความเป็นตัวตนของตัวละครแต่ละตัว 
อย่างเธอคนนี้รับบทเป็น “มิจิรุ” ตัวแทนของความรักค่ะ




-   การ์ตูน
บางทีไตเติ้ลละครไม่จำเป็นต้องมาในรูปแบบคนแสดงก็ได้ ทำเป็นการ์ตูนก็ได้เช่นกัน อย่างเช่น ไตเติ้ลตอนจบตอนของเรื่อง “Clinic on the sea” ที่ทำออกมาเป็นการ์ตูนได้น่ารักมากๆ เลยค่ะ
 




-   กราฟิก
 



แนวแบบภาพกราฟฟิกก็มีค่ะ อย่างเช่นเรื่องนี้เลย “Kagi no Kakatta Heya” เป็นการนำภาพกราฟิกของห้องปิดตาย และสัญลักษณ์ของกุญแจมาเล่นกับตัวละคร ก็ดูเข้ากับเนื้อเรื่องดีค่ะ ที่เน้นเรื่องกลไกของห้องปิดตาย อาศัยเรื่องของเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วย


-   มุมภาพสวยๆ 
 



ไตเติ้ลละครบางเรื่องก็จะมาในแนวมุมภาพสวยๆ ไร้ตัวนักแสดงค่ะ แต่จะใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ที่สื่อถึงแก่นของละคร อย่างภาพนี้มาจากเรื่อง “Ghost Writer” ค่ะ ละครอาชีพของนักเขียนเงา ไตเติ้ลของละครเรื่องนี้ก็จะมีพวกภาพปากกา หมึกปากกา กระดาษ ชั้นหนังสือ และอย่างที่เห็นในภาพคือ มือคน 2 คนที่กุมมือกันไว้ ซึ่งมือบนจะเป็นคนที่คอยลากปากกาค่ะ ซึ่งสื่อถึงอาชีพ Ghost Writer เป็นอย่างดี อาชีพที่จ้างให้ใครสักคนมาเขียนงานแทน โดยที่คนภายนอกไม่เห็นตัวตน


8. เพลงประกอบน่าฟัง
อีกสิ่งหนึ่งที่จะทำให้ไตเติ้ลละครมีความน่าสนใจ จนอยากจะนั่งแช่รอชมนั้น ก็คือ “เพลงประกอบละคร”ค่ะ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว เพลงประกอบละครญี่ปุ่นจะคัดสรรมาอย่างดี ศิลปินที่ร้องมักจะเป็นศิลปินระดับที่มีฝีมือ ชื่อเสียงโด่งดัง เพลงต้องมีความเป็นเอกลักษณ์ ความไพเราะของเพลง ก็เป็นส่วนที่ช่วยลดความน่าเบื่อหน่อยของไตเติ้ลละครได้ค่ะ และหน้าที่สำคัญของเพลงประกอบละครอีกอย่างก็คือ เป็นตัวแทนของละครค่ะ ประมาณว่า พอได้ยินดนตรีประมาณนี้ นึกออกทันทีเลยว่ามันคือละครเรื่องอะไร กรณีนี้ที่เห็นได้ชัดคงเป็นเพลง “Prisoner of Love” ของ Utada Hikaru ค่ะ น้อยคนนักที่พอได้ยินเพลงนี้แล้วจะนึกถึงภาพใน PV ของ Utada แต่คนส่วนใหญ่จะนึกเห็นภาพฉากในละครของ “Last Friends”แทนค่ะ

โดยส่วนตัวแล้วมีความคิดเห็นต่อไตเติ้ลเพลงประกอบละครทั้งตอนเปิดเรื่องและตอนปิดเรื่องว่า ญี่ปุ่นค่อนข้างให้ความสำคัญกับจุดเล็กๆ น้อยๆ ค่ะ สำหรับคนดูแล้วสิ่งนี้คือส่วนที่ถือว่าอยู่นอกสายตาเลยก็ว่าได้ บางทีเราเห็นว่าเป็นแค่ไตเติ้ลละครเราก็เปลี่ยนช่องแล้ว แต่ญี่ปุ่นพยายามจะใส่อะไรบางอย่างให้คนดูเลือกที่จะดูไตเติ้ลนั้นต่อ 

ไตเติ้ลไม่ได้มีหน้าที่แค่เป็นสิ่งที่นำพาเข้าสู่ละคร หรือส่งท้ายเรื่อง แต่ในไตเติ้ลมีสิ่งที่สำคัญกว่าอยู่ในนั้นก็คือ “รายชื่อคนทำงาน และผู้อยู่เบื้องหลังละคร” (รวมถึงโฆษณาผู้สนับสนุนละครให้เกิดขึ้นได้) คนพวกนี้เป็นคนสำคัญที่ทำให้ละครแต่ละเรื่องเกิดขึ้นมาได้ ดังนั้น ถ้าเราสามารถทำให้ส่วนนี้มีความน่าสนใจ ก็จะดีไม่น้อยเลยค่ะ 

 

เรื่องโดย : ChaMaNow www.marumura.com

ขอขอบคุณที่มา  http://www.marumura.com/
 
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X