เตือนภัย”แสงแดด” อันตราย”นาน”กว่าที่คิด
2015-02-28 12:23:00
Advertisement
คลิก!!!

ผลงานวิจัยใหม่ของทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล เมืองนิวเฮเวน รัฐคอนเนคติกัต สหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นว่าเป็นอันตรายต่อคนเรามากกว่าและนานกว่าที่เคยรับทราบกันก่อนหน้านี้

ก่อนหน้านี้อันตรายจากแสงแดดเท่าที่รับรู้กันก็คือ แสงแดดก่อความเสียหายให้กับดีเอ็นเอภายในเซลล์ผิวหนังด้วยการทำให้ดีเอ็นเอบางส่วนขดหงิกงอ เรียกว่า "ไซโคลบิวเทน ไพริมิดีน ไดเมอร์ส" หรือ "ซีพีดี" ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการ "กลายพันธุ์" ของดีเอ็นเอดังกล่าวแล้ว ยังเป็นที่มาของ "มะเร็ง" ผิวหนัง

แต่เข้าใจกันมาว่า "ซีพีดี" ดังกล่าวนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อเซลล์ได้รับแสงแดด หรือแสงอัลตราไวโอเลต (ยูวี) เท่านั้น

ทีมนักวิจัยของเยลแสดงให้เห็นว่า ในความเป็นจริง อันตรายจากแสงแดดเกิดขึ้นต่อเนื่องนานหลายชั่วโมงหลังจากการสัมผัสแสงแดดแล้ว ในการทดลองกับเซลล์ผิวหนังของหนู ผลปรากฏว่าเซลล์ผิวหนังจะยังคงผลิตซีพีดีออกมาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง หลังจากยุติการสัมผัสกับแสงแดดแล้ว นอกจากนั้น ยังพบว่าผลกระทบดังกล่าวจะเกิดขึ้นเฉพาะกับเซลล์ที่มี "เมลานิน" หรือ "เม็ดสี" อยู่ภายในเท่านั้น แต่เซลล์ผิวหนังของคนมีเมลานินอยู่ด้วยทั้งนั้น

จากการสังเกตผลการทดลองพบว่า แสงแดดเข้าไปทำปฏิกิริยากับเอ็นไซม์ 2 ตัวส่งผลให้เอ็นไซม์ดังกล่าวรวมตัวกันอันเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดอีเลคตรอนขึ้นในเมลานิน ที่จะทำหน้าที่เป็นตัวถ่ายพลังงานจากแสงแดดที่ได้รับมาทั้งหมดสู่ดีเอ็นเอ จนเป็นสาเหตุการเกิดซีพีดีในที่สุด ยูวี เป็นตัวเริ่มกระบวนการของเอ็นไซม์ที่จะทำต่อเนื่องอีกหลายชั่วโมงหลังโดนแสงแดด

อย่างไรก็ตาม จากการทดลองพบว่า เอธิล ซอร์เบท สามารถสกัดกระบวนการดังกล่าวได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การผลิตครีมกันแดดเพื่อการนี้ในอนาคต

 

ขอขอบคุณมติชนออนไลน์ ผู้สนับสนุนเนื้อหา
ที่มา  www.sanook.com
 
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X