ปรับทัศนคติอีก ถึงคิวปึ้ง รบ.บี้อุปทูตมะกัน บิ๊กตู่อัดไม่เข้าใจ โรดแม็ป"คสช."
2015-01-29 11:42:22
Advertisement
คลิก!!!

โพลชี้ถอดถอน เกมการเมืองชัด กกต.เดือด"คยร." ลั่นพร้อมลาออก

บัวแก้วสวมบทนักชาตินิยม เรียกอุปทูตสหรัฐเข้าพบแสดงความไม่พอใจกรณี แดเนียล รัสเซลกล่าวสุนทรพจน์วิจารณ์ถอดถอนยิ่งลักษณ์-เรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการ ศึก รมช."ดอน ปรมัตถ์วินัย"อ้างเป็นการพูดที่สร้างบาดแผลให้คนไทย แจงอีกกฎอัยการศึกไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนไทย ขณะที่"บิ๊กตู่"ตัดพ้อ มะกันไม่เข้าใจระบบการเมืองไทย พร้อม สั่งเรียก"ดร.ปึ้ง-สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล" รายงานตัว-ปรับทัศนคติ ขู่ลั่นถ้าไม่ฟังกันจะห้ามเดินทางออกต่างประเทศ พร้อมตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินด้วย อ้างไม่เรียก ยิ่งลักษณ์รายงานตัว เพราะยังให้เกียรติ คยร.สรุปหลักเกณฑ์สรรหากรรมการในองค์กรอิสระ ยังคงให้ป.ป.ช.มี 9 คน อยู่ในวาระ 9 ปี

บัวแก้วเรียกอุปทูตมะกันเข้าพบ

เมื่อ เวลา 08.00 น. วันที่ 28 ม.ค. ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมช.ต่างประเทศ เชิญนายแพทริก เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศ ไทย เข้าพบหารือประมาณ 30 นาที หลังจากนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรมว.ต่างประเทศสหรัฐ ปาฐกถาแสดงความคิดเห็นการเมืองไทย ที่สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 ม.ค.

จากนั้นเวลา 10.00 น. นายดอนแถลงว่า ได้เชิญอุปทูตสหรัฐ มารับทราบร่วมกันเกี่ยวกับการหารือระหว่างผู้ช่วยรมว.ต่างประเทศสหรัฐ กับพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปด้วยดี และมีบางเรื่องที่เราห่วงกังวล ซึ่งต้องพูดคุยกัน โดยความกังวลนี้ระคนกับความผิดหวัง อีกทั้งเป็นเสียงสะท้อนว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยเกิดบาดแผลขึ้นในใจ เป็นบาดแผลในใจจากการเยือน จึงอยากให้รับทราบเรื่องเหล่านี้ คราวหน้าจะได้หาทางเยียวยาไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นอีก สาเหตุความกังวลของคนไทยที่ชัดเจนที่สุดคือ นายแดเนียลพูดเรื่องการเมืองไทยในช่วงท้ายของการปาฐกถาที่จุฬาฯ แทนที่จะพูดให้กำลังใจนิสิต หรือให้กำลังใจไทยพัฒนาประเทศ หรือแสดงท่าทีที่สร้างสรรค์ต่อไทย

มารับทราบข้อกังวลรัฐบาลไทย

นาย ดอนกล่าวว่า นายรัสเซลพูดเริ่มต้น ได้ดี จนมาท้ายๆ แทนที่จะส่งข้อความช่วยให้เยาวชนและนักศึกษารู้สึกตื่นตัว แต่เลือกที่จะพูดเรื่องการเมือง ซึ่งเราถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อถามว่าถือว่าสหรัฐแทรกแซงกิจการภายในประเทศหรือไม่ นายดอนกล่าวว่า ถ้าเป็นไทยจะเลือกที่จะพูดไม่พูดในลักษณะนี้ แต่จะพูดเพื่อส่งเสริม ประเทศไหนที่มีปัญหาเราจะไม่พูด ไม่เฉพาะแค่สหรัฐ เรามีโอกาสเลือกได้ว่าจะพูดหรือไม่ ถ้าเป็นประเทศไทยจะไม่พูดแบบนั้น ทั้งนี้ เราไม่ได้เมินเฉยต่อท่าทีของสหรัฐ เราได้รับทราบท่าทีของนานาประเทศมาตั้งแต่เดือนพ.ค.57 และกำลังก้าวย่างในเส้นทางที่วางไว้อย่างมีศักดิ์ศรี เพื่อประโยชน์ของชาติ เพื่อเข้าสู่ความเป็นประชา ธิปไตยที่มีพื้นฐานชัดเจนโดยจะปฏิรูปทุกรูปแบบ เพื่อประโยชน์ของประชาชน

เมื่อถามว่าเป็นการเชิญอุปทูตสหรัฐ มาประท้วงหรือไม่ นายดอนกล่าวว่าไม่ได้ประท้วง แค่เรียกมาหารือ เพื่อรับทราบข้อห่วงกังวลของไทย ซึ่งเป็นไปตามประเพณีการทูต ส่วนสหรัฐก็จะดำเนินการตามกระบวนการภายในต่อไป เราไม่ได้แข็งกร้าว แต่มีเหตุผล ประเทศไทยมีวุฒิภาวะไม่ได้เป็นประเทศ เพิ่งเกิดใหม่ ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก มีรัฐประหารหลายครั้งซึ่งเป็นช่วงที่บ้านเมืองวุ่นวาย

อ้างไม่มีใครได้รับผลอัยการศึก

นาย ดอนกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้พูดคุยถึงความร่วมมือในอนาคตสาขาต่างๆ ที่เราจะมุ่งมั่นสร้างความร่วมมือกับประเทศไทยต่อไป ในฐานะมิตรประเทศอันยาวนาน 182 ปี ที่จะต้องก้าวเดินไปด้วยกัน ทั้งนี้ได้ฝากไปว่าทิศทางในอนาคต ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. จะเดินทางไปร่วมประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในเดือนก.ย. ที่สหรัฐอเมริกา ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง

เมื่อถามว่ากระทรวง การต่างประเทศชี้แจงสหรัฐที่ให้ยกเลิกกฎอัยการศึกอย่างไร นายดอน กล่าวว่าเรื่องนี้พูดกันมาหลายครั้ง รวมทั้งการหารือระหว่างรองนายกฯ กับ ผู้ช่วยรมว.การต่างประเทศสหรัฐ ก็ยกขึ้นมาหารือว่า ที่จริงไม่มีใครรู้สึกว่ามีกฎอัยการศึกอยู่ มีแต่ตัวหนังสือ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีผลกระทบเลย นอกจากผู้ที่มีเจตนาไม่ดีหรือสร้างปัญหาความมั่นคง ซึ่งถือว่าจำนวน น้อยมาก

"ถ้าอยากให้เราเลิก อยากให้ยุติ หากมีปัญหาใครจะรับผิดชอบ ท่านรับผิดชอบได้หรือไม่ อยากจะให้เลิกแล้วเราตามใจ ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นวุ่นวาย ผู้เรียกร้องหรือใครจะรับผิดชอบได้แค่ไหน ประเทศไทยมีแผนปฏิรูปที่วางแผนไว้แล้ว และกำลังดำเนินตามขั้นตอนอยู่" นายดอน กล่าวและว่า ส่วนท่าทีของอุปทูตสหรัฐ ก็กล่าวขอบคุณและรับทราบ ถือเป็นเรื่องปกติ และไม่มีคำถามเพิ่มเติม เพียงแต่รับทราบท่าทีของไทยและจะกลับไปพิจารณาต่อไป

โต้ถอด"ยิ่งลักษณ์"-ปมการเมือง

เมื่อ ถามถึงนายแดเนียล แสดงความเห็นถึงการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เพราะเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง นายดอนกล่าวว่า ตนให้ข้อเท็จจริงไปว่า ถ้าติดตามเรื่องของไทย จะเห็นว่ามีกระบวน การตั้งแต่ต้น เป็นเรื่องกฎหมายล้วนๆไม่ใช่เรื่องการเมือง เป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด จนเป็นผลให้เกิดความเสียหาย ดังนั้น ถ้าพูดว่าการเมืองเป็นตัวกำหนด ก็แสดงว่า เจ้าหน้าที่จัดเตรียมข้อมูลให้กับเขาไม่ได้เข้าใจประเทศไทยหรือเหตุการณ์ใน บ้านเราในช่วงปีที่ผ่านมาได้ชัดเจนเพียงพอ จึงต้องให้เขารับรู้ว่าเรื่องนี้มีความลึกซึ้งมากกว่านั้น อีกทั้งการรัฐประหารในไทยไม่เหมือนกันประเทศอื่นๆ ในโลก

"คน ไทยชอบสิ่งที่มาจากสหรัฐอยู่แล้ว สิ่งที่รัฐบาลสหรัฐพูดอย่างเป็นทางการ ถ้าไปเชื่อทุกเรื่องก็จะมีผลให้เกิดปัญหา หลายเรื่องที่พูดเรื่องการเมือง ก็ถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งผู้พูดมีทางเลือกจะรู้ว่าพูดแบบไหน เพราะเยาวชนเราตั้งตารอฟัง แต่เมื่อมันไม่เป็นเช่นนั้นก็ถือว่าน่าผิดหวัง ขณะที่บางคนถือว่าเป็นบาดแผลในใจเลยทีเดียว เพราะลูกหลานไปได้ยินเรื่องราวที่ไม่ควรจะได้ยิน" นายดอนกล่าว

ด้าน โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า ยืนยันในการพบปะหารือระหว่างอุปทูต สหรัฐกับนายดอน เพื่อหารือถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่มียาวนาน 182 ปี และรวมถึงกรณีการมาเยือนไทยของนายแดเนียล รัสเซล เมื่อเร็วๆ นี้ด้วย

"บิ๊กตู่"เสียใจ-โวยมะกันไม่เข้าใจ

เวลา 12.00 น. ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.กล่าวกรณีทางการสหรัฐยังคงโจมตีประเทศไทยว่า ตนบอกผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปแล้วว่าเราเองก็เสียใจที่การพูดจาของผู้แทน สหรัฐเป็นไปในทางที่ไม่เข้าใจการทำงานของเรา ก็รู้สึกเสียใจ เพราะสหรัฐเป็นมิตรประเทศกับเรามายาวนานร้อยกว่าปี ถือว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่สุด และที่ผ่านมาเราก็ไม่เคยไปตอบโต้อะไรเขาเลย ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศก็ต้องชี้แจ้งให้สหรัฐเข้าใจว่าการแก้ไขปัญหาของไทยมี ขั้นตอน สำหรับปัญหาเรื่องคดีความหรือเรื่องการถอดถอนที่มีการดำเนินการของสภา นิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้นก็เป็นวิธีการตามปกติ ไม่ได้ไล่ล่าตระกูลใคร

นายกฯกล่าวว่า การดำเนินการเรื่องการถอดถอนไม่ใช่การไล่ล่าตระกูลนั้นตระกูลนี้ ถ้ามีประเด็นความผิดทุกตระกูลต้องโดนทั้งหมด ปัญหาอยู่ที่ว่าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วหรือไม่ วันนี้ตนก็สั่งการไปให้เอาคดีความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหลายๆ คดีที่มีความสำคัญเอาเข้ามา เช่น คดีทุจริตในทุกๆ เรื่อง ทั้งสหกรณ์และเรื่องต่างๆ วันนี้พยายามทำทุกอย่างให้เคลียร์ให้ได้ ให้เกิดความเข้าใจว่าเรานำทุกเรื่องเข้าสู่กระบวนการ วันนี้ก็เหมือนกับกระบวนการปกติ สนช.ทำหน้าที่เหมือนกับสภา

ท้าให้คนที่ยังหลบหนีมอบตัว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ถ้ามั่นใจในการทำงานของรัฐสภาแล้วจะไม่มั่นใจสนช.หรือ ทำไมวันนี้เป็นสนช.แล้วบอกว่าเป็นการรัฐประหาร ขอร้องให้เอาเหตุและผลมา หักล้างกัน วันนี้เราพยายามนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ความผิดทางอาญาก็เอาหลักฐานไปสู้กันในชั้นศาล ตนไม่สามารถไปก้าวล่วงการตัดสินดังกล่าวได้ ไม่เช่นนั้นกระบวนการยุติธรรมจะล้มเหลว เพียงแต่วันนี้เราอำนวยความสะดวกการเข้าสู่กระบวน การยุติธรรม แต่บังเอิญว่าวันนี้คนทำผิดมันโยงใยกันไปมา เลยดูเหมือนเป็นการดำเนินการเพียงข้างเดียว แต่ยืนยันว่าไม่ใช่ อย่ามองเช่นนั้น ไม่เช่นนั้นทำปฏิวัติมาก็เสียของเปล่า

เมื่อ ถามว่าแสดงว่าพร้อมดำเนินการกับทั้งสองฝ่ายใช่หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า ก็ต้องถามว่าวันนี้เรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหรือไม่ "ก็เห็นว่าทั้ง 28 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็เข้ามามอบตัวทั้งหมดแล้ว อีกฝ่ายก็เข้ามามอบตัวบ้างสิ ถ้าคิดว่าตัวเองถูกก็เข้ามามอบตัวเรื่องมันก็จบ หนีกันไปทำไม ถ้าเข้ามาต่อสู้กันในกระบวนการยุติธรรมก็ดำเนินการไปตามขั้นตอนแล้วประกัน ตัวกันออกไป แล้วก็สู้คดีกัน ประเทศเราต้องเป็นแบบนี้"

โยนให้ศาลชี้"ปู"บินนอกได้ไหม

เมื่อ ถามว่าหากวันนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ต้องคดีอาญา คสช.จะยอมปล่อยออกนอกประเทศเหมือนในอดีตหรือไม่ นายกฯกล่าวว่าไม่ใช่เรื่องการยอมปล่อยหรือไม่ยอมปล่อย แต่เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลว่าจะอนุญาตให้ออกนอกประเทศได้หรือ ไม่ วันนี้ตนก็ได้สั่งให้คสช.ไปพิจารณาและศึกษาดูว่าหากมีคดีหรือศาลตัดสินคดี แล้วจะสามารถเดินทางไปต่างประเทศได้หรือไม่ เพราะวันนี้การเดินทางเข้าออกนอกประเทศโดย คสช.มีการเสนอขึ้นมาโดย ผ่านการกลั่นกรองว่าจะไปที่ไหนบ้าง ไปกี่วัน มีกี่ประเทศ มีตั๋วเดินทางอย่างชัดเจนตน ก็อนุมัติ แต่ถ้าศาลระบุว่าเมื่อตัดสินเป็น อย่างนี้แล้วห้ามเดินทางออกนอกประเทศก็จะไม่ให้ออก

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ตนสั่งการให้เรียกคนที่ออกมาพูดในลักษณะข่มขู่ว่าเดี๋ยวจะเกิดความ รุนแรงเหมือนกับภาคใต้มาชี้แจง เพราะจะพูดเช่นนี้ไม่ได้ การออกมาขู่รัฐบาลเช่นนี้ถือว่าผิดกฎหมาย ให้เรียกมาเพื่อ พูดคุยกันและถ้ายังพูดอีกต่อไปตนก็จะใช้อำนาจระงับการเดินทางและห้ามออกนอก ประเทศ และจะต้องตรวจสอบบัญชีการใช้จ่ายเงินทองต่างๆ เรื่องนี้มีมาตรการจากเบาไปหาหนัก

เมื่อถามว่าวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังไม่ได้ติดต่อมาเพื่อขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศใช่หรือ ไม่ นายกฯกล่าวว่ายังไม่มีการติดต่อเข้ามา ยังไม่มีการขออนุญาต ถ้ามีการขอมาก็จะส่งเรื่องไปถามศาลว่าจะให้ไปหรือเปล่า ถ้าศาลบอกว่าไปได้ก็ไปได้

ไม่วิจารณ์มะกัน-ยังค้าขายกันอยู่

เมื่อ ถามว่าการที่สหรัฐไม่เข้าใจไทยจะส่งผลกระทบอะไรหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้อนถามว่าจะมีผลกระทบในเรื่องอะไรเพราะขณะนี้ความสัมพันธ์ก็ยังดีอยู่ การค้าขายการลงทุนความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและธุรกิจต่างๆ ก็มีการค้าขายกันอยู่ ผู้แทนทั้งสหรัฐและยุโรปก็ยังมั่นใจการทำงานของรัฐบาลที่แถลงยุทธศาสตร์ไป แล้ว ที่ผ่านมารัฐบาลดูแลและอำนวยความสะดวกให้เขามากกว่าภาวะปกติด้วยซ้ำ เพราะทุกอย่างมีความชัดเจนมากขึ้น สำหรับท่าทีของสหรัฐวันนี้ตนไม่ขอวิจารณ์ และยังมั่นใจว่าสหรัฐยังสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือเรื่องการเมืองและอะไรคือ เรื่องการค้าเศรษฐกิจ

นายกฯ กล่าวว่า การเมืองสหรัฐก็เหมือนการเมืองบ้านเราก็คงไม่สามารถที่จะพูดอย่างอื่นได้ เขาก็คิดถึงประชาธิปไตยแบบตะวันตกว่าควรเป็นแบบนั้น แต่อย่าลืมว่าคน ของเรา วิถีชีวิตของเรา หรือผู้นำทางการเมืองของเราในอดีตไม่เหมือนของเขา นี่คือความ แตกต่าง สหรัฐต้องฟังบริบทเหล่านี้ด้วยว่าแตกต่างกันอย่างไร และที่ผ่านมาเมื่อผู้แทนเขาต้องการฟังอีกทางหนึ่งเราก็ให้อิสระโดยไม่ห้าม แต่เขาต้องมาถามว่าสิ่งที่ฟังมานั้น ใช่หรือไม่จะไปฟังความข้างเดียวไม่ได้ แต่สุดท้ายต้องมองว่ารัฐบาลเดินหน้าประเทศอย่างไร การปราบปรามการทุจริต การดำเนินคดีเราทำทุกเรื่องเพื่อคนไทยทุกคน

เมื่อถามว่าที่ สหรัฐมีท่าทีเช่นนี้จะทำให้กลายเป็นแหล่งหลบหนีของผู้กระทำผิดนายกฯ กล่าวว่า ก็ต้องดูว่าวันนี้มีการหลบหนีเข้าไปหรือยัง สื่อมวลชนก็ต้องช่วยกันอธิบายว่าไม่ใช่ทุกเรื่องจะเป็นคดีทางการเมืองทั้ง หมด ยืนยันว่าตนในฐานะนายกฯ จะไม่ยอมให้ประเทศใดเข้ามาแทรกแซงบ้านเรา ทุกประเทศ มีศักดิ์ศรี ประเทศไทยก็ต้องมีศักดิ์ศรี เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเราให้เกียรติกับทุกๆ ประเทศ ตนไม่เคยไปต่อต้านใคร

สั่งเรียก"ปึ้ง"-อ้างให้เกียรติ"ปู"

เมื่อ ถามว่านายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีรองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ แสดงความเห็นต่อสถานการณ์การเมืองของไทยจะดำเนินการอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า เดี๋ยวจะให้คสช.เรียกมา ตนพูดไปแล้วไม่ว่าใครออกมาพูดก็จะเรียกมาให้หมดทุกคน วันนี้ขอร้องว่าถ้ามองตนเป็นความหวังที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ ก็ขอร้องว่าอย่าทำลายความหวังของท่านตรงนี้ ถ้าเห็นว่าตนเป็นความหวังเดียว เพราะที่ผ่านมามันไม่มีใครทำ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ปกติตนเป็นคนอารมณ์ดี เป็นคนโรแมนติกอยู่เหมือนกัน ทั้งวันก็ไม่ได้คิดเรื่องอื่น คิดแต่การแก้ปัญหาตั้งแต่เช้ายันเย็นจนกลับบ้าน นั่งดูทีวี ดูข่าว อ่านหนังสือพิมพ์แล้วก็นั่งเขียนว่าพรุ่งนี้จะ ทำอะไร เช้าขึ้นมาก็มีคณะทำงานเข้ามาพบ มีการสั่งงาน เซ็นหนังสือและประชุม ชีวิตทุกวันนี้มีอยู่เท่านี้ จึงขอร้องว่าอย่าทำลายความหวังเดียวของท่าน ถ้าคิดว่าตนเป็นความหวัง ฝากทุกคนด้วยเพราะถ้าเราไม่ทำวันนี้ก็จะ สายเกินไป อย่าให้ใครมากดดันรัฐบาล

เมื่อถามว่าคิดว่าจะฝ่ากลุ่มที่ ดิสเครดิตและต่อต้านรัฐบาลในขณะนี้ได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องฝ่าไปได้แต่ต้องทำได้ด้วยการสร้างความเข้าใจไม่ใช่ด้วยการใช้อำนาจ แม้แต่การเรียกตัวมาก็จะใช้ความเข้าใจพูดกับเขาดีๆ เขาก็เงียบและเข้าใจแต่เขาก็บอกว่าเขาจำเป็นต้องแสดงความเห็นทางการเมือง แต่วันนี้มันไม่ใช่เวลาตรงนั้นก็ขอว่าอย่าไปพูดอะไรที่ทำให้เกิดความเสียหาย กับประเทศ

เมื่อถามว่าเรียกนายสุรพงษ์มาปรับทัศนคติ แล้วจะเรียกน.ส.ยิ่งลักษณ์มาด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวย้อนถามว่า "ใครพูดบ้างล่ะ สำหรับคุณยิ่งลักษณ์ผมให้เกียรติตลอดมา ก็ต้องให้เกียรติกับเราบ้าง ผมให้เกียรติเขามาตลอดในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี"

"ดร.ปึ้ง"ยันพร้อมรายงานตัวคสช.

ที่ บก.ทบ. พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผบ.กกล.รส. กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการให้คสช. เชิญนาย สุรพงษ์ เข้ามาพูดคุยทำความเข้าใจว่า ได้รับทราบคำสั่งของพล.อ.ประยุทธ์แล้ว สำหรับ รายละเอียดจะเชิญมาพูดคุยวันใดนั้น ไม่สามารถเปิดเผยได้ โดยจะมีทีมเจ้าหน้าที่ทหารของกกล.รส. เป็นผู้พูดคุย ส่วนจะถึงขั้นต้องนำเข้าค่ายทหารเพื่อปรับทัศนคติหลายวันหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความร่วมมือ ถ้าให้ความร่วมมือก็ให้กลับบ้านได้ หากไม่ให้ความร่วมมือจะมีขั้นตอนต่อไปคือการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงิน

นาย สุรพงษ์ให้สัมภาษณ์กรณีที่ พล.อ. ประยุทธ์ สั่งการให้ คสช.เชิญตัวมาพูดคุย หลังแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ว่า ยังไม่รู้เรื่อง และยังไม่มีใครประสานอะไรมา

ต่อข้อถามว่าการเรียกตัวไปพูด คุยครั้งนี้ จะส่งสัญญาณเตือนไปถึงบุคคลอื่นๆ หรือไม่ นายสุรพงษ์กล่าวว่า ยังไม่ขอพูดเพราะยัง ไม่รู้ว่าจะเรียกไปพูดเรื่องอะไร หากเป็นเรื่อง ที่ไปแสดงความเห็นกรณีที่ผู้แทนรัฐบาลสหรัฐมาพบและพูดคุยกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็เป็นเรื่องที่ระบุไปตามข้อเท็จจริงเท่านั้น

นายสุรพงษ์ ให้สัมภาษณ์อีกครั้งถึงกรณีนายกฯ จะเชิญไปพูดคุยว่า ได้ทราบจากข่าวบ้างแล้ว แต่ยังไม่เห็นหนังสือเชิญไปพูดคุย และไม่อยากแสดงความเห็นในขณะนี้ แต่หากมีหนังสือเชิญเมื่อไรก็พร้อมไปพบเมื่อนั้น เพราะสิ่งที่ตนพูดเป็นการอธิบายในสิ่งที่นายแดเนียลรู้สึกกับประเทศไทย

สนช.ก็เต้น-แถลงโต้มะกัน

วัน เดียวกัน นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกสนช. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ สนช. กล่าวว่า ในการประชุมกมธ.การต่างประเทศวันนี้ ที่ประชุมได้หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กรณี นายแดเนียล รัสเซล กมธ.เห็นว่า การแสดงความคิดเห็นต่อกรณีการลงมติ ถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ และการบรรยายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง ทางกมธ. การต่างประเทศสนช.จึงขอนัดแถลงข่าวเพื่อแสดงจุดยืนต่อกรณีดังกล่าวในวันที่ 29 ม.ค. เวลา 11.30 น. ที่อาคารรัฐสภา

นายอนุศาสน์ อ้างว่านอกจากนี้ สหภาพรัฐสภาสากลหรือไอพียู ที่ได้รับรองสมาชิกสภาพสนช. เมื่อปีที่ผ่านมา ก็ไม่ได้แสดงท่าทีต่อการลงมติถอดถอนแต่อย่างใด ทั้งยังส่งจดหมายเชิญมาให้ร่วมประชุมกับประเทศสมาชิก ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ในช่วงสิ้นเดือนมี.ค.นี้ด้วย

"เต้น"ชี้โลกงงประชาธิปไตยไทย

วัน เดียวกัน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตรมช.พาณิชย์ และแกนนำนปช. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุกรณีผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แสดงความกังวลเรื่องกฎอัยการศึกในไทย แล้วถูกตั้งคำถามกลับจากทางการไทยว่าถ้าสหรัฐเป็นแบบเราบ้างจะทำอย่างไรว่า เห็นว่าสหรัฐเลือกที่จะเงียบตามมารยาททางการทูต เพราะถ้าตอบ เขาคงบอกว่าไม่มีทางที่ประเทศเขาจะเป็นแบบนี้ บ้านเมืองเขาไม่มีเครือข่ายอนุรักษนิยมที่ หยั่งรากลึกและทรงอิทธิพลแบบเรา ไม่มีขบวนการสมคบคิดที่ซับซ้อน (แต่ล่อนจ้อนหมดแล้ว) ไม่มีรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า เขาถามตามหลักการและเชื่อว่ารัฐบาลไม่เลิกกฎอัยการศึกแน่ แต่เราน่าจะอธิบายแบบที่พูดอยู่ทุกวัน การไปถามคืนแบบนี้เท่ากับย้ำว่าของเราพิเศษ ไม่มีชาติใดเหมือน

นาย ณัฐวุฒิระบุว่า ตนเข้าใจบทบาทของมหาอำนาจว่าขับเคลื่อนอะไร ก็ยึดโยงกับผลประโยชน์ของประเทศเขา แต่ประชาธิปไตยเป็นเรื่องสากล สังคมโลกส่วนใหญ่ยึดถือร่วมกันและเราประกาศตัวเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น การอธิบายประชาธิปไตยแบบไทยจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่เขาจะเข้าใจ และที่เป็นอยู่ขณะนี้คงหาคนเข้าใจยากเต็มที เหมือนเราป่วยมาหลายปี มีอาการชักกระตุก บางทีเป็นลมหมดสติ เพื่อนมิตรที่เขามีประสบการณ์เห็นตรงกันว่าเป็นโรคขาดประชาธิปไตย ต้องรักษาด้วยวิธีสากล อาการจะทุเลา แต่เรายืนยันว่าโดนเสน่ห์ยาแฝด ต้องแช่น้ำมนต์แล้วหวดด้วยหวายลงอาคม เพื่อนเป็นห่วงมาถามว่าวิธีนี้จะดีหรือ แต่เราย้อนว่าถ้าเพื่อนโดนเสน่ห์แล้วไม่ใช้หวายลงอาคม เกิดกุมารทองเข้ามาแทรกอีกจะทำยังไง สิ่งที่เพื่อนทำได้ก็คงเดินจากไปเงียบๆ แบบนายแดเนียล

พิชัยยันกฎอัยการศึกมีผลกระทบ

ด้าน นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมว.พลังงาน กล่าวว่า ตามที่นายแดเนียลเตือนรัฐบาลให้ยกเลิกกฎอัยการศึก รวมถึงให้มีเสรีภาพในการแสดงออก แต่รัฐบาลปฏิเสธ ซึ่งน่าห่วงมาก เพราะการเรียกร้องของสหรัฐ เป็นเรื่องปกติที่ประชาคมโลกยอมรับ หากไทยเห็นเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ จะทำให้ประเทศ ไทยมีภาพพจน์ที่แย่ในสายตาประชาคมโลก ไม่ต่างกับเกาหลีเหนือ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ หากสหรัฐ ออกมาตรการกีดกันการค้า จะทำให้เศรษฐกิจไทยที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ยิ่งแย่ไปกว่าเดิม

นายพิชัยกล่าวว่า ส่วนที่รัฐบาลเตรียมเงิน 25,000 ล้านบาท เพื่อดันราคายางให้ถึงกิโลกรัมละ 80 บาท ไม่น่าจะเป็นไปได้ หากราคาน้ำมันยังลดลง อีกทั้งการเตรียมงบกลาง 1.4 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเกษตรกรนั้น แม้จะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่คำถามคือการใช้จ่ายดังกล่าวไม่ต่างกับการจำนำข้าว จะถือเป็นความเสียหายของประเทศหรือไม่ และหากเกิดทุจริต นายกฯ จะรับผิดชอบในลักษณะเดียวกันหรือไม่ ซึ่ง สนช.ที่เลือกมาเองจะกล้าลงคะแนนถอดถอน นายกฯ หรือไม่

ส.ส.อีสานย้ำชัดไม่ทิ้งเพื่อไทย

นาย สมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกระแสข่าวการย้ายพรรคของส.ส.ภาคอีสาน โดยเฉพาะใน จ.อุบลราชธานี ว่า ขณะนี้อดีต ส.ส.ในเขตภาคอีสาน ยังไม่ได้เรียกประชุมกันเลยแม้แต่ครั้งเดียว ทุกคนต่างคนต่างทำงานกันไปตามภารกิจของตนเอง โดยยังไม่มีความเคลื่อน ไหวอะไรเกี่ยวกับการย้ายพรรค ดังนั้นยืนยันว่าไม่มีการย้ายพรรคอย่างแน่นอน ทุกวันนี้ก็ได้ข่าวจากทางสื่อเท่านั้น

ด้านนายไพจิต ศรีวรขาน อดีต ส.ส. นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เชื่อว่ากระแสข่าวอดีต ส.ส.อีสานย้ายออกจากพรรคเพื่อไทย เป็นเพียงข่าวลวงมากกว่า เพราะจากการเลือกตั้งสองครั้งที่ผ่านมา ก็เห็นอยู่แล้วว่าใครที่ย้ายออกจากพรรค สอบตกกันทั้งหมด และยิ่งสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นตอนนี้ ตอกย้ำเรื่องของความอยุติธรรมและความไม่เป็นประชาธิปไตย คนอีสานเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี ดังนั้นตนมั่นใจว่าจะไม่มีอดีต ส.ส. อีสานคนไหนกล้าย้ายออกจากพรรคเพื่อไทย รวมทั้งเชื่อว่าอดีต ส.ส.ในภาคอื่นๆ ก็มีความคิดไปในแนวทางเดียวกัน

"ผมเชื่อว่าประชาชนยังรัก และมั่นใจในนโยบายของพรรคเพื่อไทย หากใครย้ายไป อยู่พรรคอื่นเชื่อว่าประชาชนรับไม่ได้ วันนี้ประชาชนเข้าใจเรื่องการเมืองกันมากขึ้น เพียงแต่ไม่พูด เพราะไม่อยากมีปัญหา ทุกคนรอเวลา เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งเขาจะแสดงออกให้เห็นเอง สิ่งสำคัญคือเราอย่าห่างหายไปจากประชาชน" นายไพจิตกล่าว

"วิษณุ"เผยรธน.ฉบับแรก-ใช้ 14 ปี

เมื่อ เวลา 13.00 น. ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีรังสิต สถาบันพระปกเกล้า จัดงานปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "พระผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตย" เพื่อเทิดพระเกียรติวโรกาส 120 ปี พระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

นาย วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ประวัติของพระผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตย" และ "ประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญฉบับแรก กับอนาคตรัฐธรรมนูญไทย" ตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ ไม่เคยมีฉบับไหนที่อายุยาวนานเท่ากับรัฐธรรมนูญที่พระราชทาน เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2475 ซึ่งเป็นฉบับแรกที่ใช้นานถึง 14 ปี ตนคิดว่าเป็นเรื่องยากที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับไหนมีอายุยาวนานเท่าฉบับดัง กล่าว ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างอยู่ จะเป็นฉบับที่ 21 จึงเห็นว่าต้องไปดูฤกษ์ให้ดี เพื่อให้รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 21 มีอายุยาวกว่า 14 ปีให้ได้

วิษณุยันบิ๊กตู่ไม่ไล่ล่าทางการเมือง

นาย วิษณุให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกจากตำแหน่ง ซึ่งถูกมองว่าเป็นการไล่ล่าทางการเมืองว่า ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีความตั้งใจไล่ล่าทางการเมือง เพราะพล.อ.ประยุทธ์ได้พูดไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า หากจะจัดการปัญหาทางการเมืองคงมีการดำเนินการตั้งแต่เมื่อครั้งเริ่มยึด อำนาจใหม่ๆ และตนในฐานะที่ปรึกษาคสช.เคยได้ยินคนเสนอแนวทางลักษณะนี้มาแล้ว แต่เนื่องจากคสช.ไม่มีความประสงค์ที่จะทำ แต่ต้องการให้ทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการ วันนี้หากความไม่เข้าใจยังมีอยู่คงต้องมีการพูดคุยอธิบาย แต่ฝ่ายที่เข้าใจผิด ที่คิดว่ามีการไล่ล่าทางการเมืองต้องไปหาข้อมูลเอาเอง และในที่สุดจะสามารถเข้าใจได้เอง

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้มี ความเคลื่อนไหวอะไรที่จะกระทบต่อความมั่นคงหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่ทราบแต่ในอนาคตไม่แน่ เพราะคิดว่าเวลานี้ทุกคนต่างยังไม่แน่ใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ต่างอยู่ในขั้นตอนของการหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อถึงฤดูกาลที่ทุกอย่างเปิด เช่น เมื่อมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเข้าสู่การหาเสียงเลือกตั้ง ประเด็นเก่าๆ เหล่านี้จะสามารถกลับมาได้ และหวังว่าในขณะนี้จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งนายกฯระบุว่าสิ่งที่จะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาลไม่ใช่ประเด็นการถอด ถอน แต่เป็นประเด็นอื่นมากกว่า ซึ่งตนไม่สามารถเปิดเผยได้

เปรียบคสช.หนีเสือปะจระเข้

ต่อ ข้อถามว่าดูเหมือนกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์จะมีความเคลื่อนไหว นายวิษณุกล่าวว่า มีการรายงานด้านการข่าวอยู่ แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าจะบานปลายออกไปถึงไหน เชื่อว่ากรณีที่เกิดขึ้นจะไม่กระทบต่อแนวทางการสร้างความปรองดองของรัฐบาล เพราะถือเป็นคนละเรื่อง แต่ในอนาคตอาจมีการบิดเบือนหรือปลุกระดม ก็อาจจะนำไปสู่การไม่ปรองดองได้ ดังนั้น เราต้องมีสติในการทำความเข้าใจว่าอะไรคือเหตุผลทั้งหมด เป็นเรื่องของกลไกปกติ หรือการกลั่นแกล้ง ประชาชนต้องใช้วิจารณญาณ และสติปัญญาในการพิจารณา

"ผมเคยพูดแล้วว่าเรื่องนี้เหมือน กับการหนีเสือปะจระเข้ ถ้าฝ่ายที่คิดว่ามีอำนาจ แต่ไม่ทำอะไรจะเจอสถานการณ์คล้ายๆ ลักษณะนี้ และอาจโดนกดดันจากอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องความขัดแย้งที่ค้างคามา เช่น ถ้าไม่มีการถอดถอนอีกฝ่ายก็จะมองว่าทำไมไม่ทำอะไร แต่ถ้าถอดถอนอย่างที่ทำอยู่ก็จะเกิดความไม่พอใจจากอีกฝ่ายหนึ่ง" นายวิษณุกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ผู้ช่วยรมต.ต่าง ประเทศ สหรัฐ เรียกร้องให้ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของไทย หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า คิดว่าไม่มีอะไร และรมต.ต่างประเทศ สหรัฐ ก็ระบุว่าสหรัฐไม่ได้มีการแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด แต่เรื่องนี้อยู่ที่ฝ่ายเราได้ไปพูดอะไรมากกว่า เพราะข่าวจากหนังสือพิมพ์ระบุว่าฝ่ายเราไปพูดคุยกับสหรัฐ ซึ่งตนติดใจเรื่องนี้มากที่บอกว่ารัฐบาลกำลังเล่นละคร อย่างการร่างรัฐธรรมนูญเป็นต้น

แย้มมีนิรโทษฯ-แต่ต้องถูกเวลา

เมื่อ ถามว่าคณะทำงานศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอให้มีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผล กระทบทางการเมือง นายวิษณุกล่าวว่า รัฐบาล ยินดีรับไว้พิจารณาในจังหวะเวลาอันสมควร และต้องดูเรื่องความเหมาะสม ผลกระทบ ซึ่งการจะแก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งต้องคำนึงถึงความยั่งยืนไม่ใช่การแก้ ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะเรื่องดังกล่าวหากดูแลไม่ดีจะก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ซึ่งคิดว่ามีความรุนแรงกว่ามาก

นายวิษณุกล่าวว่า การปรองดองคือจุดหมายปลายทาง แต่มีหลายวิธีซึ่งการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง การอภัยโทษก็เป็นวิธีหนึ่ง นิรโทษกรรมก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง และการแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำหรือคนรากหญ้าก็ถือเป็นวิธี หนึ่ง แต่การแก้ไขปัญหาไม่ได้จบที่การนิรโทษกรรมเพียงอย่างเดียว เพราะเชื่อ ว่าต่อให้ไม่มีการนิรโทษกรรมเลยก็สามารถปรองดองได้ แต่หากถึงจุดที่ต้องมีการ นิรโทษกรรม รัฐบาลก็จะทำหากเป็นเวลาที่เหมาะสม

"การ นิรโทษกรรมคือต้องออกกฎหมายและทุกฝ่ายต้องมีความเข้าใจ อีกทั้งต้องมีคำตอบที่เหมาะสม เช่น การนิรโทษกรรม 66/23 ในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม และสังคมต้องการจึงออกมาโดยไม่มีปฏิกิริยาใดๆ แต่หากออกมาแล้วคนต่อต้านเราก็ต้องกลับไปใหม่นั่นแปลว่าคุณมาผิดจังหวะ" นายวิษณุกล่าว

คยร.สรุปสรรหากก.องค์กรอิสระ

เมื่อ เวลา 15.00 น. ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ที่ประชุมได้พิจารณาหมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ 5 องค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญเดิม 5 ด้าน คือ 1.ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จะต้องยื่นแบบบัญชีแสดงทรัพย์สินและต้องเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ จากเดิมไม่ต้องเปิดเผย 2.ระบบการสรรหาใหม่ที่ใช้กับคณะกรรมการการ เลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และผู้ว่าการ สตง. ที่ตัดสัดส่วนของประธานศาลฎีกา ทิ้งไป โดยให้มีคณะกรรมการสรรหา 12 คน มาจาก 5 ด้าน ดังนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน เลือกโดยที่ประชุมศาลฎีกา 2 คน และเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครอง สูงสุด 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน เลือกโดยพรรค การเมืองและกลุ่มการเมืองฝ่ายรัฐบาล 1 คน และเลือกโดยพรรคและกลุ่มการเมืองฝ่ายค้าน 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 1 คน เลือกโดยคณะรัฐมนตรี ผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน เลือกโดยอธิการบดีในสถาบันอุดมศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน เลือกโดยสมัชชาคุณธรรม แห่งชาติ

คงปปช.มี 9 คนเช่นเดิม-อยู่ยาว 9ปี

นาย คำนูณกล่าวว่า 3.มติในการสรรหาต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 จากคณะกรรมการสรรหา 12 คน 4.ผู้เข้ารับการสรรหาต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในกรรมการตรวจสอบการใช้อำนาจ รัฐอื่นมาแล้ว 5.ให้ประเมินผลการดำเนินงานเป็นประจำทุกปี โดยคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างฯ ยังพิจารณาตอนที่ 3 ป.ป.ช. ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบในมาตรา (3/2/5-3) 1 กำหนดให้คณะกรรมการป.ป.ช.มี 9 คน มีวาระดำรงตำแหน่ง 9 ปีเหมือนเดิม เนื่องจากเห็นว่าองค์กรป.ป.ช.มีหน้าที่ดำเนินงานกึ่งตุลาการ จำเป็นต้องมีความต่อเนื่องในการทำงาน นายคำนูณกล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังพิจารณาในตอนที่ 4 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตอนที่ 5 ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งกมธ.ยกร่างฯ เห็นร่วมกันว่า ให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อศึกษา ข้อดีข้อเสียในการควบรวมทั้ง 2 หน่วยงานเข้าด้วยกัน แล้วเสนอต่อกมธ.ยกร่างฯ เนื่อง จากกมธ.ส่วนใหญ่เห็นว่า การควบรวม 2 หน่วยงานเข้าด้วยกันจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และลดความซ้ำซ้อนในการทำงานของทั้ง 2 องค์กร

เล็งยกร่างรธน.ใหม่จบก่อน3เม.ย.

ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีความกังวลเรื่องบัญญัติในรัฐธรรมนูญจะมีจำนวนมาตรามากเกินไป โดยที่ประชุมต้องการไม่ให้เกิน 250 มาตรา นอกจากนี้ยังกังวลในส่วนพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ โดยให้เร่งพิจารณาพ.ร.บ.ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอ สนช.พิจารณา เบื้องต้นมีประมาณ 25 ฉบับ อาทิ พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะรัฐมนตรี, พ.ร.บ. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และส.ว. พ.ร.บ.ว่าด้วยกกต. พ.ร.บ.ว่าด้วยสมัชชาพลเมือง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อมูลข่าวสารทางราชการ

นอกจากนี้ ยังปรับตารางเวลาทำงานใหม่ กำหนดให้การยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก่อนวันที่ 3 เม.ย. นี้ และวันที่ 6-10 เม.ย. จะทบทวนร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราทั้งฉบับ จากนั้นวันที่ 17 เม.ย. จะส่งร่างรัฐธรรม นูญให้สปช. พิจารณา เบื้องต้นคาดว่านายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. จะบรรจุวาระพิจารณาวันที่ 20-26 เม.ย. หากสามารถขอร้องให้สนช. งดประชุมวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ในสัปดาห์ดังกล่าวได้ แต่หาก สนช. ไม่สามารถงดประชุมได้ สปช.อาจใช้ช่วง วันที่ 27-28 เม.ย. โดยวันที่ 26 เม.ย. จะถือเป็นการเริ่มนับวันเสนอคำแปรญัตติขอแก้ไขของสปช.

กสม.รายงานอัดรบ.ยิ่งลักษณ์

รายงาน ข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมครม.เมื่อวันอังคารที่ 27 ม.ค.นั้น ครม.ได้มีมติรับทราบรายงานการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและ รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2556 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยของปี 2556 มีทั้งหมด 7 ประเด็นใหญ่

ทั้งนี้ ในส่วนที่น่าสนใจคือด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กสม. รายงานว่า ในส่วนของการใช้เสรีภาพในการชุมนุมทางการเมืองปี 2556 มีประเด็นถกเถียงอยู่ที่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะแก้ไขทั้งฉบับหรือ แก้ไขเฉพาะบางมาตรา รวมทั้งการที่พรรคฝ่ายรัฐบาล เร่งรัดการเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดอง พ.ศ. ... เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยยังไม่มีกระบวนการนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จุดแตกหักคือพรรคการเมืองและส.ส.ในรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์พยายามเสนอร่าง กฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดจากการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง และลบล้างความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงมีผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลโดยประชาชนและกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ต่อต้านรัฐบาลได้เริ่มชุมนุมมาตั้งแต่เดือนก.ค.2556

ระบุขาดความระมัดระวังจัดการม็อบ

กสม.รายงาน อีกว่า การใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ได้วางขอบเขตและหลักการของการแทรกแซงโดยรัฐต่อการใช้เสรีภาพของบุคคลว่าการ ใช้เสรีภาพในการชุมนุมครั้งใด ผู้ชุมนุมได้ใช้สิทธิและเสรีภาพของตน โดยมีผลเป็นการไปละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้วรัฐก็สามารถเข้าแทรกแซงด้วยการจำกัด การใช้เสรีภาพดังกล่าวได้ โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

"แต่ จากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในรอบปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการจัดการกับผู้ชุมนุมโดยขาดความระมัดระวัง จนทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไป อันเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและเป็นเรื่องที่ รัฐบาลไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ อีกทั้งรัฐบาลมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมาย อื่นกำหนดไว้ รัฐบาลจึงต้องดำเนินการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาตามสมควรแก่ผู้ได้รับความ สูญเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าวให้ครบถ้วนและทั่วถึงอย่างแท้จริง"

แนะออกมาตรการคุ้มครองสื่อ

ส่วน การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน กสม.รายงานว่า การแสดงความเห็นของบุคคลและการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเป็นเสรีภาพของบุคคล และสื่อมวลชนตามกฎหมายที่สามารถกระทำได้ ถ้าไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 45-48 ดังนั้น การที่สื่อมวลชนถูกคุกคามจนทำให้ สื่อมวลชนต้องเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐจะต้องมีมาตรการในการปกป้องคุ้มครองการทำหน้าที่ของ สื่อมวลชนให้ได้รับความปลอดภัย รวมทั้งเร่งติดตามจับกุมคนร้ายมาลงโทษตามกฎหมาย โดยเร็ว ขณะที่สื่อมวลชนก็ต้องทำหน้าที่เสนอข่าวสารและแสดงความคิดเห็นโดยยึดมั่น ในกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ไม่นำเสนอข่าวด้วยความลำเอียงหรือมีอคติและไม่ รอบด้าน จนทำให้เกิดความแตกแยกขัดแย้งในสังคมไทย

ผู้สื่อ ข่าวรายงานว่าสำหรับช่วงปี 2556 นั้นเป็นช่วงรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่มีการชุมนุมของกลุ่ม "ม็อบเสธ.อ้าย" หรือ กลุ่ม "องค์การพิทักษ์สยาม (อพส.)" ในช่วงกลางปี 2556 และเมื่อถึงเดือนส.ค. ก็เปลี่ยนชื่อเป็นกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) และเดือน ต.ค. แตกกลุ่มเป็นเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และต่อด้วยเดือนพ.ย. มีกลุ่มต่อต้านของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำหลัก จากนั้นจึงยกระดับเป็นกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ให้เป็นประชา ธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)

กกต.ขู่ลาออกถ้าไม่ได้จัดเลือกตั้ง

เมื่อ เวลา 16.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการ กกต. กล่าวถึงกรณีที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีมติให้กกต.มีอำนาจหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้งโดยจะแต่งตั้งให้คณะกรรมการ ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ประกอบด้วย ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาจัดการเลือกตั้งแทนกกต. ว่า เราต้องดูว่ากจต.มาจากการแต่งตั้งโดยปลัด 6 กระทรวง ผบ.ตร. 1 คน ส่งตัวแทนเข้ามา แต่คนที่แต่งตั้งปลัดคือรัฐมนตรี เราทราบอยู่แล้วว่าเป็นการเพิ่มอำนาจหรือลดอำนาจของกกต. ไม่ทราบว่ากกต.ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องอย่างไร แต่การปฏิรูปเราต้องปฏิรูปให้ดีขึ้น

นายศุภชัยกล่าวว่า หากกกต.ไม่ได้จัดการเลือกตั้งภาระจะไปอยู่ที่ กจต. คงไม่คาดการณ์ล่วงหน้าว่าหากกจต.จัดการเลือกตั้งแล้วจะดีหรือไม่ดี และเราจะไม่วิจารณ์ว่าหากกจต.จัดการเลือกตั้งแล้วจะถูกการเมืองแทรกแซงหรือ ไม่ เพราะหากวิจารณ์ไปแล้วจะกระทบต่อหน่วยงานอื่น และหากปรับอำนาจตามมติของกมธ.ยกร่างฯแล้ว เราไม่สามารถทำงานได้ ก็ลาออก เพราะไม่อยากเปลืองภาษีของประชาชน เราไม่ยึดติดอยู่แล้ว อะไรทำแล้วส่งผลให้ได้คนดี สะอาด โปร่งใส เข้ามา บริหารประเทศ ถึงแม้เราเหนื่อยเราก็ต้องยอมหากประเทศชาติดีขึ้น

นายศุภ ชัยกล่าวอีกว่า ส่วนกระแสข่าวที่ระบุว่าหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) ของกกต. เป็นหลักสูตรที่มีความเคลือบแคลงใจ ว่าจะเป็น การสร้างคอนเน็กชั่นทางการเมือง เนื่องจากมีนักการเมืองเข้ามาอบรมในหลักสูตรดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ตนก็อยากจะถามกลับไปว่าหลักสูตรอื่นๆ ของสถาบันพระปกเกล้า ก็เป็นการสร้างคอนเน็กชั่น เหมือนกันหรือไม่ เพราะว่ามีทั้งนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง และนักธุรกิจเข้ามาอบรมในหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้าเช่นกัน

ม็อบหนุนบิ๊กตู่บุกสถานทูตมะกัน

เมื่อ เวลา 11.30 น. วันเดียวกัน ที่สถานทูตสหรัฐอเมริกา ถ.วิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน นายยุทธภัณฑ์ พันธ์สิงสอน เลขา ธิการเครือข่ายปกป้องผลประโยชน์และศักดิ์ศรีของคนไทย พร้อมคณะเดินทางเข้ายื่นหนังสือผ่านเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำ ประเทศไทย ให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เพื่อขอให้สหรัฐอเมริกาหยุดแทรกแซงกิจการภายในราชอาณาจักรไทยทั้งทางตรงและ ทางอ้อม และขอให้ เคารพอธิปไตยของราชอาณาจักรไทย โดยมี เจ้าหน้าที่ตำรวจบก.น.5 และสน.ลุมพินี คอยดูแลความปลอดภัย

นาย ยุทธภัณฑ์อ้างว่า วัตถุประสงค์ของการเดินทางมาในวันเดียวกันนี้ เพื่อต้องการเรียกร้องกับสถานทูตสหรัฐอเมริกา 2 ข้อ คือ 1.เรียกร้องให้อเมริกาเลิกยุ่งเกี่ยวและแทรกแซงกิจการภายในราชอาณาจักรไทย 2.สหรัฐอเมริกาควรเคารพอธิปไตยใน ราชอาณาจักรไทย สำหรับเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นในหน่วยราชการ และทุจริตจำนำข้าวนั้น ไม่ใช่เรื่องการเมืองแต่เป็นเรื่อง ของความมั่นคง เราจึงขอสนับสนุนการ ทำหน้าที่ของพล.อ.ประยุทธ์เพื่อปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นให้หมดไป ซึ่งตอนนี้พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในระหว่างดำเนินการเป็นที่น่าพอใจ

ที่มา ข่าวสดออนไลน์
onlyfans leaked xxx onlyfans leaked videos xnxx 2022 filme porno filme porno
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X