ไซนัสอักเสบ (Sinusitis) โรคที่บั่นทอน คุณภาพชีวิต
2015-01-24 14:27:42
Advertisement
Pyramid Game

ซนัสอักเสบ (Sinusitis) โรคที่บั่นทอน คุณภาพชีวิต


โรคหวัด โรคภูมิแพ้ หรือไซนัสอักเสบ เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจมีอาการหลายอย่างคล้ายกัน เช่น มีน้ำมูก คัดจมูก จาม ปวดแก้ม บางครั้งเป็นกันระยะสั้น บางครั้งเป็นกันตลอดปี ซึ่งบางคนอาจแยกไม่ถูกว่าอาการที่ตัวเองเป็นนั้นคือโรคอะไรกันแน่ เมื่อแยกไม่ถูกก็อาจนำไปสู่การรักษาตัวเองที่ผิดวิธี อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ยิ่งเป็นยิ่งสับสนทำให้คุณภาพชีวิตประจำวันต่ำลงได้ บางคนถึงกับกลัวสังคมรังเกียจ ในต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกามีคนเป็นโรคนี้ราว ๓๑ ล้านคน (กันยายน ๒๕๔๖) และมีประชาชนไปพบแพทย์ในเรื่องไซนัสอักเสบเรื้อรังราว ๑๘-๒๒ ล้านคน ในแต่ละปี บ้านเราก็มีจำนวนไม่น้อย สถิติขึ้นตามจำนวนของโรคภูมิแพ้ซึ่งในกรุงโรคแพ้อากาศสูงถึง ๔๐ เปอร์เซ็นต์ (พ.ศ.๒๕๓๘) เฉลี่ยผู้มารับการรักษาโรคไซนัสในคลินิกหู คอ จมูก ๔-๕ คนใน ๑๐ คนต่อวัน ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการรักษา ต้องหยุดทำงาน เสียอารมณ์ ทำให้สูญเสียทางเศรษฐกิจไม่น้อยต่อปี ดังนั้น เราต้องมาทำความรู้จักกับโรคไซนัสอักเสบกันหน่อย ความจริงแล้วชื่อไซนัสอักเสบ (Sinusitis) ไม่ถูกต้องซะทีเดียว จริงๆ ควรเป็นเยื่อบุจมูกและโพรงอากาศรอบๆ จมูกอักเสบ คือ Rhinosinusitis อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นไปตามความเคยชินเรายังคงเรียกว่าไซนัสอักเสบ (Sinusitis) เฉยๆ ไปก่อน

ไซนัสคืออะไร

ไซนัส (Sinus) เป็นโพรงอากาศในกระดูกใบหน้าอยู่บริเวณรอบๆ จมูก ในโพรงอากาศ หรือไซนัสนี้ จะมีเยื่อบุซึ่งเป็นชนิดเดียวกับเยื่อบุช่องจมูกและติดต่อกันโดยผ่านรูเปิด เล็กๆ (รูปที่ ๑, ๒) มี ๔ คู่ ได้แก่

๑. ไซนัสบริเวณโหนกแก้ม ๒ ข้าง (Maxillary sinus)

๒. ไซนัสระหว่างลูกตาบริเวณ หัวตา ๒ ข้าง (ethmoid sinus)

๓. ไซนัสบริเวณหน้าผากใกล้กับหัวคิ้ว ๒ ข้าง (frontal sinus)

๔. ไซนัสที่อยู่ในกะโหลกศีรษะ ใกล้ฐานสมอง (sphenoid sinus)


ไซนัสมีหน้าที่อะไร

เนื่องจากไซนัสเป็นโพรงอากาศ ดังนั้น จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ศีรษะของเราเบาขึ้น เวลาพูดมีเสียงก้องกังวานขึ้น และขณะเดียวกันเยื่อบุของไซนัสและจมูกจะผลิตน้ำมูกเมือกใสๆ ประมาณวันละ ๐.๕-๑ ลิตร เพื่อดักจับฝุ่นละอองและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ในอากาศที่เราหายใจเข้าไป ขณะเดียวกันบนเยื่อบุเหล่านี้จะมีขนเล็ก (cilia) ที่คอยพัดโบกเอาน้ำมูกเหล่านี้ลงไปทางด้านหลังของจมูก สู่ช่องคอและเมื่อพลัดลงคอเราก็จะกลืนลงไป จากนั้นกรดในกระเพาะก็จะทำหน้าที่ฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ให้หมดไป นอกจากนั้น ไซนัสยังทำหน้าที่คล้ายเป็นเครื่องปรับอากาศของปอด นั่นคือ เมื่อเราหายใจเข้าไปอากาศก็จะผ่านบริเวณจมูกที่มีเยื่อบุต่อกับเยื่อบุไซนัสปกติเหล่านี้ ซึ่งจะช่วยถ่ายเทความร้อนและความชื้นจากหลอดเลือดบนผิวเยื่อบุ ทำให้อากาศอุ่นและชื้นขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับร่างกายของคนเรา การไหลของน้ำมูกลงคอนี้เราจะไม่รู้สึกอะไร จนกว่าจำนวนที่ผลิตได้มากเกินไป ซึ่งจะเกิดจากการระคายเคืองจากสารก่อภูมิแพ้ ควันบุหรี่ มลภาวะอากาศเป็นพิษ สารเคมี ควันรถยนต์ หรือมีการติดเชื้อไวรัส เช่น เชื้อหวัด สิ่งเหล่านี้จะทำให้เยื่อบุจมูกและไซนัสผลิตน้ำมูกใสๆ ออกมาเพิ่มมากกว่าปริมาณปกติ เพื่อชะล้างสิ่งที่ระคายเคืองกลายเป็นเสมหะไหลลงคอ (Post nasal drip) และถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacteria) จะทำให้น้ำมูกใสเปลี่ยนสภาพเป็นสีเขียวข้นหรือเหลืองได้

สาเหตุที่ทำให้ไซนัสอักเสบ

ตามปกติไซนัสหรือโพรงอากาศ ทั้งหลายจะมีทางเชื่อมต่อกับโพรงจมูก ซึ่งทางเชื่อมต่อนี้จะเปิดโล่งและน้ำเมือก (น้ำมูกใสๆ) ที่มีการสร้างอยู่ในไซนัสก็สามารถไหลระบายลงสู่โพรงจมูกได้ แต่ถ้าหากทางเชื่อมดังกล่าวเกิดการอุดกั้นขึ้นมาด้วยสาเหตุใดก็ตาม แต่ส่วนใหญ่คนเราเมื่อหายใจไม่สะดวก มีน้ำมูกอยู่ในจมูกก็มักชอบสูดจมูก ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวนี้ ทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในจมูกเข้าไปในโพรงอากาศของไซนัสทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อมีการอักเสบของเยื่อบุจมูกทำให้รูที่ติดต่อระหว่างโพรงอากาศกับจมูกดันขึ้น น้ำมูกที่ผลิตในไซนัสไม่สามารถออกมาได้ ก็ทำให้เรามีอาการปวดบริเวณหน้าผาก หัวคิ้ว ระหว่างตาทั้งสองข้างหรือบริเวณแก้มได้ ทั้งหมดนี้เป็นอาการปวดจากไซนัสอักเสบ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเพียงพอ รูเปิดระหว่างช่องจมูกและไซนัสมีการตีบตันเป็นมานานจนเรื้อรัง การบวม ของเยื่อบุอาจจะเปลี่ยนแปลงเป็นริดสีดวงจมูกและ/หรือมีการอักเสบติดเชื้อเป็นหนองในไซนัสได้

คนที่มีอาการจากภูมิแพ้ที่มีอาการจาม คัดแน่นจมูก และคันจมูกเป็นประจำ มักจะทำให้ทางเชื่อมระหว่างไซนัสกับโพรงจมูกมีอาการบวมและเกิดการอุดตัน นำไปสู่การเป็นสาเหตุอันหนึ่งที่จะเป็นโรคไซนัสอักเสบได้ จึงพูดได้ว่าทั้งโรคภูมิแพ้และไซนัสอักเสบเป็นโรคที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากเนื้องอกในรูจมูกหรือผนังกั้นกลางของจมูกคด หรือมีการเปลี่ยนแปลงความดันบรรยากาศภายนอกร่างกาย ทำให้มีการอุดกั้นของทางเชื่อมระหว่างไซนัสกับโพรงจมูกได้ และการที่มีอารมณ์แปรปรวน มีความเครียดสูง ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลงก็จะทำให้เกิดโรคไซนัส อักเสบได้ดังวงจรที่แสดงไว้ ดังนี้

สุดท้าย ก็คือ เชื้อรา ปัจจุบันพบว่า คนเราสามารถแพ้เชื้อและเป็นโรคของไซนัสอย่างหนึ่งได้ (allergic fungal rhinosinusitis) และก็มีวิธีรักษาเชื้อราในจมูก ไม่ทำอันตรายต่อเราได้ ถ้าเราเป็นคนที่มีภูมิคุ้มกันปกติ คือ ไม่เป็นเบาหวาน ปลูกถ่ายอวัยวะหรือโรคเอดส์

ไซนัสอักเสบ : อาการเป็นอย่างไร

อาการเฉพาะของโรคไซนัสอักเสบที่สังเกตได้ คือ จะมีอาการปวดหน่วงๆ ตามจุดไซนัส เช่น หน้าผาก หัวตา โหนกแก้ม หรือรอบๆ กระบอกตา ถ้าเอานิ้วกดหรือ เคาะแรงๆ ตรงไซนัสที่อักเสบก็จะเจ็บ อาการปวดมักเป็นมากในตอนเช้าหรือบ่าย และเวลาก้มศีรษะ หรือเปลี่ยนท่า ผู้ป่วยจะมีน้ำมูกเป็นหนองข้นสีเหลืองหรือสีเขียว บางคน น้ำมูกจะไหลลงคอ หรือเวลาสูดจมูกแรงๆ จะมีหนองไหลลงหลังคอ อาจมีการคัดแน่นจมูกหรือหายใจมีกลิ่นเหม็นคาวร่วมด้วย ถ้ามีอาการดังกล่าวชัดเจนก็มักจะบอกได้เลยว่าเป็นไซนัสอักเสบ หรือบางคนอาจจะไปหาหมอฟันด้วยอาการปวดฟัน แต่ที่จริงแล้วเป็นไซนัสอักเสบ ตัวอย่างเช่น ไซนัสที่บริเวณแก้มจะทำให้ปวดแก้มแล้วร้าวมาที่ฟันได้ เพราะว่าส่วนล่างสุดของไซนัส ที่แก้มจะอยู่ติดกับรากฟัน ไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลัน มีอาการประมาณ ๔ สัปดาห์ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง มีอาการเกิน ๑๒ สัปดาห์ ซึ่งถ้าเป็นเรื้อรัง ก็จะสร้างปัญหาต่อผู้ป่วยทั้งด้านอารมณ์ เศรษฐกิจ และการงาน ดังกล่าวข้างต้นแล้ว

อันตรายจากไซนัสอักเสบมีอะไรบ้าง?

โดยทั่วไปแล้วไซนัสอักเสบสามารถรักษาด้วยการกินยาก็เพียงพอแล้ว แต่การติดเชื้อในไซนัสอาจจะลุกลามไปยังอวัยวะสำคัญใกล้เคียงได้ คือ ตาและสมอง ซึ่งถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย แต่ภาวะดังกล่าวก็พบได้ไม่บ่อยนัก ในรายที่มีอาการเรื้อรังอาจจะมีความสัมพันธ์กับโรคทางปอด หลอดลมอักเสบ ไอเรื้อรัง หอบหืด และหูชั้นกลางอักเสบได้

ใครบ้างที่มีโอกาสจะมีปัญหาเกี่ยวกับไซนัส

ที่จริงแล้วไม่ว่าใครก็สามารถเป็นไซนัสอักเสบได้แม้แต่เด็กแรกเกิดซึ่งมีไซนัสขนาดเล็กๆ แต่บุคคลที่มีโอกาสเป็นไซนัสอักเสบได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ได้แก่

๑. คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ทางจมูก : เมื่อเกิดอาการแพ้จะเหมือนคนเป็นหวัด เยื่อบุจมูกจะบวม รูเปิด ไซนัสจะตีบตันทำให้เกิดการอักเสบในไซนัสได้

๒. คนที่มีความผิดปกติของช่องจมูก : เช่น ผนังกั้นระหว่างช่องจมูกคด ทำให้ช่องจมูกแคบกว่าปกติเกิดอาการแน่นคัดจมูก และขัดขวางการไหลเวียนตามปกติของน้ำมูกที่จะไปทางด้านหลังทำให้มีโอกาสเกิดการอักเสบติดเชื้อง่ายขึ้น

๓. คนที่สูบบุหรี่และคนที่อยู่ในเขตมลภาวะเป็นพิษ : จะมีผลทำให้ภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อลดลง มีโอกาสเป็นไซนัสอักเสบมากขึ้น

๔. มีคนกล่าวถึงการว่ายน้ำสระที่ใส่น้ำยาคลอรีน หรือฆ่าเชื้อด้วยโอโซนอาจทำให้มีโอกาสเป็นไซนัสอักเสบเกิดขึ้น เพราะว่ามีการระคายเคืองของเยื่อบุเกิดขึ้น

การดูแลตัวเอง

มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเมื่อเป็นไซนัสอักเสบแล้ว สามารถหายเองได้ เช่น ไซนัสอักเสบที่เกิดจากไวรัส (อาการที่เป็นไม่เกิน ๗ วัน) ด้วยการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี นั่นคือ ต้องพักผ่อนให้พอ ดื่มน้ำมากๆ อยู่ในสถานที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี มีความชื้นพอเพียง ออกกำลังกายตามความเหมาะสม กินอาหารที่มีประโยชน์ และกินยาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด และยาลดน้ำมูก (decongestants) ในกรณีที่แน่ใจว่าตัวเองเป็นไซนัสอักเสบที่เกิดจากแบคทีเรีย (อาการหวัดเกินกว่า ๗ วัน) และไม่เคยแพ้ยาอะไรมาก่อน อาจดูแลตัวเองในเบื้องต้นได้ด้วยการกินยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) หรือ โคไตรม็อกซาโซล (co-trimoxazole) ขนาดที่ใช้ตามน้ำหนักของผู้ป่วย ยาวนานประมาณ ๑๐ วัน ยาลดน้ำมูก ยาแก้ปวด ไม่ควรใช้ยาแก้แพ้ในระยะนี้ เพราะจะทำให้น้ำมูกข้นเหนียวขึ้น แต่ถ้าเป็นภูมิแพ้มาก่อนให้กินยาแก้แพ้ 2nd+3rd generation ได้ อาจใช้วิธีสูดไอน้ำเพื่อทำให้จมูกชื้นขึ้นและอาจล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ

การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ

เป็นการล้างเอาคราบน้ำมูกที่อาจอุดตันรูเปิดของไซนัส ชำระล้างเอาสิ่งสกปรกและเชื้อโรคออกจากจมูกทำให้โพรงจมูกสะอาด น้ำมูกไม่ข้นเหนียว บรรเทาอาการคัดจมูก และเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่จมูก สามารถทำได้เป็นประจำทุกวัน วันละ ๒ เวลา เช้า เย็น ในช่วงเวลาแปรงฟันและสามารถล้างเพิ่มระหว่างวันได้ ถ้ามีน้ำมูกมากหรือคัดจมูก

ขั้นตอน

๑. ดูดน้ำเกลือ (0.9% normal saline solution) ประมาณ ๕ ซีซี เข้าในกระบอกฉีดยา (ที่ไม่มีเข็ม) หรือขวดยาพ่นจมูก

๒. ก้มหน้าลงเล็กน้อย หายใจเข้าเต็มที่แล้วกลั้นลมหายใจไว้ อ้าปากเล็กน้อย

๓. สอดปลายกระบอกฉีดยา หรือหลอดพ่นยาเข้าในโพรงจมูกข้างใดข้างหนึ่ง

๔. ฉีดหรือพ่นน้ำเกลือเข้าในรูจมูกช้าๆ จนหมด (ขณะนี้ยังกลั้นลมหายใจไว้)

๕. หายใจออก พร้อมสั่งน้ำมูก หากมีน้ำมูกหรือน้ำเกลือไหลลงคอ ให้กลั้วคอบ้วนทิ้ง ถ้ายังไม่โล่งก็ทำซ้ำอีกได้

๖. ทำซ้ำข้อ ๑-๕ กับรูจมูกอีกข้าง

๗. เก็บอุปกรณ์ไปทำความสะอาดและผึ่งให้แห้ง น้ำเกลือที่เทออกมาจากขวดแล้วเหลือให้ทิ้งไป

สำหรับในเด็ก ผู้ปกครองจะตั้งคำถามว่าจะสำลักไหม ปกติเด็กที่ยังไม่เคยล้างให้เริ่มปริมาณน้อยๆก่อน เช่น ๑ ซีซี แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นก็จะไม่สำลัก ไม่แนะนำให้เอาน้ำต้มมาผสมเกลือเพื่อจะเป็นน้ำเกลือ เพราะว่าเราไม่สามารถวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ความเข้มข้นของเกลือได้ ถ้ามากไปจะทำให้เกิดระคายเคืองของเยื่อบุได้ สำหรับผู้ที่ชอบว่ายน้ำ ดำน้ำ หรือต้องขึ้นเครื่องบินขณะที่ป่วยอยู่ ควรงดภารกิจดังกล่าวชั่วคราวจนกว่า อาการคัดจมูก ปวดแก้ม น้ำมูกมากหมดไป

ไซนัสอักเสบรักษาอย่างไร

ในระยะเริ่มต้น ไซนัสอักเสบสามารถรักษาทางยาได้ ที่สำคัญต้องควบคุมหรือแก้ไขสาเหตุบางอย่าง (Predisposing factor) เพื่อป้องกันการเกิดโรคซ้ำ (Recurrence) ได้แก่
- ควบคุมและรักษาโรคภูมิแพ้ทางจมูก (ปรึกษาแพทย์)
- ผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติของช่องจมูก เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด

สำหรับไซนัสอักเสบเรื้อรัง การรักษาทางยาอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ บางครั้งจำเป็นต้องทำการผ่าตัดไซนัสร่วมด้วย ได้แก่
- การเจาะล้างไซนัส : ในรายที่มีน้ำมูก หรือหนองคั่งอยู่ในไซนัส
- การผ่าตัดขยายรูเปิดของไซนัส
- การผ่าตัดริดสีดวงจมูก

ในปัจจุบันการตรวจและรักษาโรคไซนัสอักเสบมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะความผิดปกติของช่องจมูกที่เป็นทางติดต่อกับรูเปิดร่วมของไซนัสต่างๆ (Osteomeatal Complex) สามารถตรวจได้ด้วยกล้องเทเลสโคปที่ต่อเข้ากับโทรทัศน์วงจรปิด (Endoscopic Nasal and Sinus Examination) (ดูจากรูปที่ ๓ และ ๔) ทำให้เราผ่าตัดแก้ไขส่วนรูเปิดร่วมไซนัสที่ผิดปกติเหล่านี้ได้ตรงจุด และยังคงเก็บรักษาโครงสร้างหลักที่สำคัญของช่องจมูกไว้ได้ดังเดิม (Functional Endoscopic Sinus Surgery)

ไม่อยากเป็นไซนัสอักเสบต้องรู้วิธีป้องกัน

ความจริงในโพรงจมูกของคนเรามีเชื้อโรคอยู่แล้วตามธรรมชาติ เพราะเราหายใจเข้า-ออกอยู่ตลอดเวลา และเชื้อเหล่านี้ก็จะไปติดอยู่ตามเยื่อบุต่างๆ ซึ่งในภาวะที่ร่างกายแข็งแรง หรืออวัยวะของคนคนนั้นเป็นปกติไม่มีจุดอ่อน (แพ้สิ่งต่างๆ) ไซนัสจะสามารถขับเชื้อโรคทั้งหลายออกมาได้ เพราะฉะนั้นวิธีป้องกันที่จะไม่ให้เป็นไซนัสอักเสบ หลักสำคัญอยู่ที่การทำร่างกายให้แข็งแรง เช่น

  • ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค
  • พักผ่อนให้พอ อย่าอดนอน หรือนอนดึกบ่อยๆ เพราะถ้าร่างกายอ่อนแอเมื่อไรโอกาสที่จะติดเชื้อต่างๆ ก็เกิดขึ้นได้ง่าย
  • พยายามดูแลตัวเองอย่าให้เป็นหวัด เพราะผลจากการเป็นหวัดร้อยละ ๒-๕ สามารถเป็นไซนัสอักเสบได้
  • กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบหมวดหมู่
  • งดการดื่มเหล้า และสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ

หากดูแลสุขภาพและปฏิบัติตัวเองได้ครบถ้วนตามที่กล่าวข้างต้น ทุกคนก็จะห่างไกลจากโรคไซนัสอักเสบแน่นอน

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับโรคไซนัสอักเสบ

๑. ไซนัสอักเสบเป็นโรคที่พบได้ทุกฤดูกาลตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศชื้น และเป็นได้ทุกเพศ ทุกวัย

๒. ไซนัสอักเสบอาจจะเป็นเพียงซีกเดียว หรือจุดใดจุดหนึ่งก็ได้

๓. ไซนัสอักเสบเป็นโรคเฉพาะตัว ส่วนบุคคล จึงไม่ติดต่อแม้จะกินอาหารร่วมกันหรืออยู่ใกล้ชิดกัน

๔. คำว่า "เฉียบพลัน" หมายความว่า เมื่อร่างกายติดเชื้อแล้วจะเกิดอาการของโรคนั้นทันที

๕. การติดเชื้อไวรัส น้ำมูก หรือเสมหะจะไม่เป็นหนอง แต่ถ้าเป็นเชื้อแบคทีเรียจะทำให้น้ำมูกข้นและเป็นหนอง

๖. การแยกอาการระหว่างโรคหวัดกับไซนัสอักเสบ ถ้าเป็นหวัดผู้ป่วยควรจะหายภายใน ๕-๗ วัน แต่ถ้าถึงวันที่ ๕-๖ แล้วยังไม่หาย และกลับเป็นมากขึ้น เช่น ไอมากขึ้น ปวดหัว ปวดแก้ม เสมหะลงคอมากขึ้นหรือบ้วนออกมาเสมหะเป็นสีเขียวข้น แสดงว่าอาจเป็นไซนัสอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์

๗. ถ้าเป็นหวัดคัดจมูก ให้สั่งน้ำมูกทีละข้าง อย่าสูดเข้าไป เพราะด้านหลังของจมูกจะติดกับช่องระหว่างหูชั้นกลางกับหลังจมูกจะทำให้หูอื้อ และเป็นการทำให้เชื้อโรค เข้าไปสู่ไซนัสได้ง่ายขึ้น

๘. บางตำรา(แพทย์) จะห้ามไม่ให้ผู้ป่วยไซนัสอักเสบว่ายน้ำในสระ เพราะสระว่ายน้ำส่วนใหญ่จะใส่คลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำ แต่ปัจจุบันสระว่ายน้ำบางแห่งมีสระน้ำเกลือ จึงไม่น่าเป็นอันตรายสำหรับผู้ป่วยไซนัส เพราะจะทำให้ผู้ชอบว่ายน้ำมีทางเลือกในการออกกำลังกาย แต่ไม่แนะนำในผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบระยะเฉียบพลัน

การล้างจมูก

การล้างจมูกเป็นวิธีหนึ่งที่หมอทางด้าน หู คอ จมูก ใช้รักษาผู้ป่วยไซนัสอักเสบ ประโยชน์ของการล้างจมูก คือ สามารถชะล้างสิ่งสกปรกต่างๆ ที่ค้างอยู่ในจมูกออกได้ และทำให้เยื่อบุโพรงจมูกหดตัวเองหรือยุบบวมลง แล้วหากมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในโพรงไซนัสต่างๆ ร่างกายก็จะขับออกมาได้ ส่วนวิธีการที่ผู้ป่วยจะทำเองที่บ้านนั้น อาจจะลำบากนิดหน่อยสำหรับคนที่ไม่เคยทำ แต่สามารถทำเองได้ เมื่อก่อนเขาจะใช้เกลือผสมน้ำร้อน ก็คือต้มเป็นน้ำเกลือนั่นแหละ แต่มีปัญหานิดหน่อยว่าเราจะวัดเปอร์เซ็นต์ความเข้มข้นของน้ำเกลือไม่ได้ ซึ่งมีความสำคัญต่อเยื่อบุโพรงจมูก คือ ถ้าเกลือมากไปจะทำให้เยื่อบุจมูกแห้ง เดี๋ยวนี้คนใส่คอนแทคเลนส์มาก ไปหาซื้อน้ำเกลือ สำเร็จรูปที่เขาใช้ทำความสะอาดเลนส์นั่นแหละมาล้างจมูก วิธีใช้ก็เหมือนการพ่นยาเข้าจมูก โดยกลั้นหายใจแล้วสูดน้ำเข้าไป โดยเริ่มต้นจากการใช้น้ำน้อยๆ ก่อน อาจสำลักบ้างก็ไม่เป็นไร ถ้าลงคอก็บ้วนทิ้ง ทำบ่อยๆ ก็จะชำนาญไปเอง ทำได้วันละหลายครั้ง จะทำนานแค่ไหนก็ได้ หรือจนกว่าจะรู้สึกสบายขึ้น

การรักษาไซนัสอักเสบเฉียบพลัน

  • ให้กินน้ำเพียงพอ อย่าให้จมูกแห้ง
  • ยาแก้ปวด
  • ยาลดน้ำมูก
  • ให้ยาแก้อักเสบ อะม็อกซีซิลลิน (amoxicillin) (ตามน้ำหนัก) หรือโคไตรม็อกซาโซล (co-trimoxazole) ๑๐ วัน ถ้าแพ้เพนิซิลลิน (penicillin) หรือซัลฟา (sulfa) ก็ให้มาโครลิด (macrolides) หรือ 2nd gen. เซฟาโลสปอริน (cephalosporin)
  • ถ้าไม่ได้ผลให้กินยาต่อไปถึง ๑๔ วัน
  • ถ้าไม่ได้ผลให้เปลี่ยนยาเป็นอะม็อกซีซิลลิน/คลาวูลาเนต (Clavulanate) 2nd gen. เซฟาโลสปอริน, มาโครลิด ตัวที่มีการควบคุมเชื้อโรคที่กว้างกว่าหรือให้ควิโนโลน (quinolones)

การรักษาไซนัสอักเสบเรื้อรัง

  • ให้ทานน้ำเพียงพอ
  • ยาแก้ปวด
  • ยาลดน้ำมูก
  • 2nd gen. แอนติฮิสตามีน (antihistamine) ถ้าคิดว่ามีโรคภูมิแพ้ด้วย
  • ให้คอร์ติโคสตีรอยด์ (cortico-steroid)

ที่มา http://www.doctor.or.th/

onlyfans leaked xxx onlyfans leaked videos xnxx 2022 filme porno filme porno
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X