ให้น้ำมันนำทาง
2012-06-19 05:44:06
Advertisement
คลิก!!!

นวด



Essential Oil Delight ...ให้น้ำมันนำทาง (Health and Cuisine)

ถึงเวลานี้แล้วคำว่า น้ำมันหอมระเหย (Essential Oil) และ อโรมาเทอราปี (Aromatherapy) ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับเราอีกต่อไป นั่นเป็นเพราะประโยชน์อันมหาศาลของน้ำมันหอมระเหย ที่ทำให้เกิดความนิยมไปถ้วนทั่ว โดยเฉพาะในวงการน้ำหอมและความงาม

ด้วยกลิ่นหอมตราตรึงอันเป็นลักษณะเด่นของน้ำมันหอมระเหย มีสรรพคุณช่วยผ่อนคลายความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ ช่วยปรับอารมณ์ให้สมดุล ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อผิวพรรณและความงาม อีกทั้งยังให้ผลในการบำบัดโรคและอาการต่าง ๆ มากมายหลากหลาย ทั้งที่เกิดจากจิตใจและอารมณ์ หรือเกิดจากความเสื่อมของร่างกาย... ต่าง ๆ เหล่านี้จึงเป็นที่มาของคำว่า Aromatherapy หรือ การบำบัดด้วยกลิ่นหอม นั่นเอง

ทว่าน้ำมันหอมระเหยไม่ได้ถูกใช้ในตรรกของ "กลิ่นบำบัด" เท่านั้น ตัวน้ำมันเองยังให้ผลในเชิงบำบัดด้านอื่นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับผิวพรรณ เช่น คุณสมบัติในการล้างพิษจากเซลล์ผิว ช่วยให้ผิวอ่อนเยาว์ เปล่งปลั่ง สดชื่น ช่วยฆ่าเชื้อโรค แก้ผดผื่น แก้สิว เป็นต้น ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการใช้น้ำมันหอมระเหย จึงควรเป็นวิธีที่ให้เราได้สัมผัสทั้งทางจมูก และผิวสัมผัส

ต่างกลิ่น ต่างคุณค่า

น้ำมันหอมระเหยนั้นได้จากการสกัดเอาของเหลวที่มีอยู่ในพืชพรรณธรรมชาติ โดยเฉพาะดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมออกมา มีลักษณะคล้ายน้ำมัน ถือเป็นสิ่งที่ได้จากธรรมชาติล้วน ๆ ไม่เจือปนกับสารเคมีหรือสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น ว่ากันว่ากว่าจะมาเป็นน้ำมันหอมกุหลาบหนักเพียง 2.2 ปอนด์ ต้องใช้ดอกกุหลาบถึง 11,000 ปอนด์ เลยทีเดียว การได้มาอย่างยากเย็นนี้ จึงทำให้น้ำมันหอมระเหยมีราคาแพงมาก แต่เมื่อเทียบกับคุณค่าที่มีมากกว่าราคาค่างวดแล้ว นับว่าเกินคุ้มค่ะ มาดูกัน

แต่ละกลิ่นมีคุณสมบัติน่าใช้อย่างไรบ้าง

มะลิ (jasmine) : ช่วยผ่อนคลาย บรรเทาอาการอ่อนล้า

คาโมไมล์ (chamomile) : ให้ความสดชื่น ผ่อนคลาย แก้ปวดหัว แก้ซึมเศร้า

เมิรห์ (myrrh) : ช่วยปรับอารมณ์ ลดเสมหะ น้ำมูก [ไม่ควรใช้กับหญิงตั้งครรภ์]
มาร์จอแรม/สวีท มาร์จอแรม (marjoram/sweet marjoram) : ให้ความรู้สึกอบอุ่น ผ่อนคลาย แก้ฟกช้ำ ตะคริว
[ไม่ควรใช้กับหญิงตั้งครรภ์]

ขิง (ginger) : ผ่อนคลาย อบอุ่น แก้เครียด ปวดเมื่อย หวัด

เจอราเนียม (geranium) : ผ่อนคลาย ปรับสมดุล แก้เครียด ผิวหนังติดเชื้อ

ลาเวนเดอร์ (lavender) : สดชื่น ผ่อนคลาย หลับสบาย แก้ปวดเมื่อย เครียด

เป็ปเปอร์มินต์ (peppermint) : เย็นสดชื่น แก้เมารถ ปวดหัว หวัด [ไม่ควรใช้กับผิวแพ้ง่าย], [ไม่ควรใช้ก่อนเข้านอน]

มะกรูด (bergamot) : สดชื่น ผ่อนคลาย หลับสบาย แก้ปวดเกร็ง [ไม่ควรใช้ก่อนออกแดด]

ทีทรี (tea tree) : เย็นสดชื่น ต้านเชื้อแบคทีเรีย แก้หวัด เจ็บคอ [ไม่ควรใช้กับผิวแพ้ง่าย]

ตะไคร้ (lemon grass) : สดชื่น ปรับอารมณ์ แก้อาหารไม่ย่อย [ไม่ควรใช้กับผิวแพ้ง่าย]

แซนดัลวูด (sandal wood) : ผ่อนคลาย สงบ สร้างสมาธิ บรรเทาอาการอักเสบ

โหระพา (basil) : สดชื่น แก้เครียด กระวนกระวาย ปวดเมื่อย [ไม่ควรใช้กับผิวแพ้ง่าย]

แฟรงก์อินเซนซ์ (frankincense) : ผ่อนคลาย แก้เครียด เพิ่มความอ่อนเยาว์

เสจ/แคลรี เสจ (sage/clary sage) : ผ่อนคลาย อบอุ่น แก้ปวดเมื่อย มีปัญหารอบเดือน [ไม่ควรใช้กับหญิงตั้งครรภ์]

วิธีใช้น้ำมันหอมระเหย

เราสามารถนำน้ำมันหอมระเหยไปใช้ได้กับทุกเรื่อง ทุกวัน ตั้งแต่ตื่นเช้าจนเข้านอน และตั้งแต่เกิดจนตายจากกันเลยทีเดียว แล้วแต่ใครจะคิดค้นวิธีนำไปใช้ เรามีไอเดียดีๆในการใช้น้ำมันหอมระเหยะมาฝากค่ะ

ผ้าเช็ดหน้าหอม - หยดน้ำมันหอมระเหยกลิ่นที่ชื่นชอบลงบนผ้าเช็ดหน้า แล้วสูดดมโดยตรงจากผ้าเช็ดหน้า สามารถพกติดตัวไปไหนมาไหนได้ แต่ไม่ควรหยดมากจนเกินไป เพียง 1 - 2 หยด เท่านั้นก็พอ

หมอนบำบัด - หากนอนไม่หลับ ก่อนเขานอนให้หยดน้ำมันหอมระเหยที่มีคุณสมบัติช่วยให้ผ่อนคลายลงบนหมอน 2 - 3 หยด กลิ่นหอมจาง ๆ จากหมอนจะช่วยกล่อมให้คุณหลับสบายตลอดคืน

ดับกลิ่นตู้เสื้อผ้า - หยดน้ำมันหอมระเหยลงบนสำลี วางไว้ตามซอกมุมในตู้เสื้อผ้า จะช่วยดับกลิ่นอับของตู้เสื้อผ้า และยังทำให้เสื้อผ้ามีกลิ่นหอมน่าใช้ด้วย

ประคบอโรมา - ผสมน้ำอุ่นหรือน้ำเย็น(แล้วแต่ว่าจะประคบร้อนหรือเย็น) 100 มิลลิลิตร กับน้ำมันหอมระเหยที่มีสรรพคุณคลายความปวดเมื่อย 6 - 8 หยด ใช้ผ้าขนหนูสะอาดชุบแล้วบิดพอหมาด แล้วประคบบริเวณที่ต้องการบำบัด

หยดในอ่างอาบน้ำ - เป็นการบำบัดผ่านทางผิวหนัง และได้สูดดมกลิ่นเข้าระบบทางเดินหายใจด้วย วิธีทำก็ไม่ยาก เพียงหยดน้ำมันหอมระเหยลงในอ่างอาบน้ำ 8 - 15 หยด ต่อน้ำอุ่น 1 อ่างปรกติ ถ้าเป็นคนผิวแห้งให้เติม Sweet Almond Oil สัก 2 ช้อนชา จากนั้นลงไปแช่ตัวในอ่างด้วยอารมณ์ปล่อยวางมากที่สุดหรือจะหลับไปเลยก็ยิ่งดี แต่ไม่ควรเกิน 20 นาที เท่านี้ก็ทำให้รู้สึกสบายและคลายเครียดได้แล้ว

เตาเผาน้ำมันหอม - หยดน้ำมันหอมระเหยในน้ำสะอาดบนเตาเผา ด้วยสัดส่วนที่พอเหมาะตามขนาดของเตาเผา(ประมาณ 2 - 4 หยด ต่อน้ำ 10 มิลลิลิตร) ความร้อนจากเทียนจะช่วยสร้างไอระเหยให้แพร่กระจายไปทั่วห้อง ช่วยปรับบรรยากาศและอารมณ์ได้ในแบบที่ต้องการตามสรรพคุณของน้ำมันหอม

น้ำหอมปรับอากาศ - หยดน้ำมันหอมระเหย 8 - 10 หยด ในน้ำกลั่นบริสุทธิ์ 100 มิลลิลิตร เขย่าให้เข้ากันแล้วนำไปบรรจุในขวดสเปรย์ ใช้ฉีดสร้างบรรยากาศแทนสเปรย์ปรับอากาศได้อย่างดีเยี่ยม หรือหยดลงบนสำลีแล้วนำไปวางบริเวณช่องลม ช่องเครื่องปรับอากาศในบ้านหรือในรถ ก็จะช่วยสร้างบรรยากาศดี ๆ ได้เช่นกัน

ผสมในเครื่องสำอาง - เครื่องสำอางประทินผิว ไม่ว่าจะเป็นโลชั่น ครีม เจล หรือมอยเจอร์ไรเซอร์ต่าง ๆ สามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นเครื่องสำอางแบบอโรมาเทอราปีได้ โดยการหยดน้ำมันหอมระเหยลงไปในอัตราส่วนเครื่องสำอาง 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำมันหอม 2 หยด ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายต่อผิว แต่ต้องเลือกกลิ่นที่ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองด้วย เช่น กุหลาบ ลาเวนเดอร์ เจอราเนียม แซนดัลวูด คาโมไมล์ เนโรลิ เป็นต้น

ปรุงน้ำมันนวดด้วยตัวเอง

การนวดน้ำมันเป็นวิธีที่นิยมกันมากในสปา อาจกล่าวได้ว่าเป็นวิธีใช้น้ำมันหอมระเหยให้เกิดประสิทธิภาพในการบำบัดสูงสุด เพราะนอกจากจะได้รับกลิ่นทางจมูกแล้ว ยังช่วยให้ผิวได้รับการบำบัดโดยตรงจากน้ำมันหอมระเหย ขณะเดียวกันก็ได้รับความผ่อนคลายจากการนวดไปด้วย

หลักการปรุงน้ำมันสำหรับนวดนั้น จะใช้น้ำมันพื้นฐานปริมาณ 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำมันหอมระเหย 8 - 9 หยด ซึ่งเป็นกลิ่นเดียวกันหรือหลาย ๆ กลิ่นก็ได้(แต่ต้องเป็นกลิ่นที่ไปในโทนกัน) ผสมให้เข้ากันแล้วนำมานวด ยิ่งถ้านวดได้ถูกต้องตามหลักการด้วยแล้ว จะเกิดประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจอย่างมาก

วิธีเลือกซื้อและเก็บรักษา

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเลือกซื้อน้ำมันหอมระเหยให้ได้แบบที่ดีจริง ๆ เนื่องจากปัจจุบันมีน้ำมันหอมระเหยปลอมปนออกมาวางขายอยู่ทั่วไปตามท้องตลาด วิธีการคร่าว ๆ ได้แก่ เลือกดูจากยี่ห้อหรือร้านที่ไว้ใจได้ ราคาไม่ถูกเกินไป ฉลากระบุแหล่งที่มา ชื่อพันธุ์ไม้หรือดอกไม้ บรรจุในขวดสีทึบและได้มาตรฐาน ฯลฯ เหล่านี้พอจะช่วยคุณตัดสินใจได้บ้าง

วิธีเก็บรักษา ควรปิดฝาให้แน่นสนิททุกครั้งหลังใช้ บรรจุในขวดสีทึบ เก็บในห้องที่อุณหภูมิไม่ร้อนจนเกินไป ประมาณ 25 องศาเซลเซียส แสงแดดไม่ส่องถึง และควรเก็บให้พ้นมือเด็กค่ะ

ข้อมูลจากกระปุกดอดคอม

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X